อ่านหมากการเมือง หลังเสร็จศึกเลือกตั้งอบต.
ตรวจแถวพรรคการเมือง หลังเสร็จศึกเลือกตั้งอบต. คณะก้าวหน้า คือตัวอย่างแรกของร่างทรงก้าวไกล ส่งผู้สมัคร 196 อบต. คว้ามาได้ 38 ที่นั่ง ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จการเมืองสนามเล็ก เมื่อมองพรรคการเมืองขนาดใหญ่อาจมีผลแตกต่างกัน ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน เมฆาในวายุ
จบภารกิจหย่อนบัตรเลือกตั้งนายกและสมาชิกอบต.ทั่วไทย 5,300แห่ง (นายก อบต.ทั้งหมด 5,300 คน และ สมาชิกสภา อบต. 56,641 คน )ไปแล้ว ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการปรากฏแล้ว ใครเป็นใคร ใกล้ชิดขั้วการเมืองใดบ้างนั้น คนการเมืองย่อมรู้ดีและน่าจะเป็นลายแทงเบื้องต้นเกี่ยวกับฐานคะแนน
แต่ที่แน่ๆคณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอบต. 196 อบต. ใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ คว้าเก้าอี้มาได้ 38 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 19.4 เปอร์เซนต์ ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในการสนามเลือกตั้งท้องถิ่น
สำหรับ 85 พรรคการเมืองที่ยังอยู่ในทะเบียนระบบของกกต.เกี่ยวกับการวางแผนเลือกตั้งส.ส.งวดหน้า
รู้ๆกันอยู่ว่า อบต.คือเซลล์การเมืองที่แทรกในหมู่บ้าน ตำบลทั่วไทย หากนักการเมือง-พรรค-กลุ่มการเมืองใดๆเชื่อมสัมพันธ์กับผู้บริหารอบต.ที่ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ไว้ได้อย่างแนบแน่น การหาแต้มในหมู่บ้านตำบลนั้นๆก็สะดวกไประดับหนึ่งสำหรับสนามผู้แทนราษฎร
ขณะเดียวกัน พรรคต่างๆที่กกต.รับรองว่ายังเคลื่อนไหวทำกิจกรรมพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น แน่นอนว่า น่าจะมีบางพรรคที่ส่อแววจอดป้ายหน้าหากไม่ขยับจังหวะตามกติกาที่วางไว้ แต่เชื่อเลยว่าปีหน้าฟ้าใหม่นั้น หลากพรรคขยับจังหวะกันแบบรัวๆ
อ่านเพิ่มเติมคลิก >> เช็คที่นี่ "ผลเลือกตั้งอบต." นายกฯอบต.และสมาชิก 5พันกว่าแห่งทั่วประเทศ
ภาพ"มิตรแท้-มิตรเทียม"จะเริ่มฉายแววในแวดวงการเมืองว่าเบื้องต้นแกนนำพรรคใดแตะมือหลวมๆกับขั้วใดบ้าง และปักหมุดว่า คู่แข่งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ คือ ใครและพรรคใด
โดยเป้าหลักที่น่าจะโดนถล่มคือ"พรรคพลังประชารัฐ" นำโดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยแกนนำหลักที่ร่วมสังฆกรรมล้อมพปชร.เพื่อปิดประตูตีแมวคือ"พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล" โดยมีแนวร่วมคือพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคน้องใหม่ที่จ้องตัดแต้มพรรคของลุงป้อมใน 400 เขตเลือกตั้ง ที่สะเทือนไปยัง 100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พปชร.อย่างเลี่ยงไม่ได้
แม้การจับมือทุบพปชร.ของเพื่อไทยและก้าวไกลนั้น แต่สองพรรคนี้ก็ยังซ่อนดาบในรอยยิ้มที่จะต้องชิงแต้มกันเอง พรรคเพื่อไทยนั้นน่าจะสะดวกกว่าพรรคอื่นกับกติกาคราวนี้ แต่ต้องเตะตัดขาพรรคก้าวไกลที่เป็นคู่แข่งลำดับต้นสำหรับขั้วการเมืองเดียวกัน งานนี้รอดูว่าพรรคก้าวไกลจะส้มหล่นเหมือนโอกาสที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับจากการหย่อนบัตรคราวที่แล้วหรือไม่(ยุบพรรคไทยรักษาชาติและพื้นที่นั้นๆพรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครส.ส.)
"ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า" เลขาธิการพรรคพปชร.ฟุ้งล่าสุดว่า บ่หยั่น พร้อมแล้วกับ 350 เขตเดิม รอเพียง 50 เขตใหม่เท่านั้น แต่หากมองไปยังขุนพลของ"ลุงป้อม"ยามนี้ หากเพ่งดีๆจะพบว่า ส.ส.บางชีวิตของพปชร.ส่อเค้าเดินหน้าลำบาก
อาทิ "เอกราช ช่างเหลา" ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และแกนนำอีสานเหนือ ที่สื่อท้องถิ่นรายงาน
ล่าสุด(https://www.esanbiz.com/content/61a1db087aefbceece39dbdf ) ว่า ผลพวงจากคดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นหลายร้อยล้านบาทที่เอกราชไปเกี่ยวพันนั้นเริ่มบังเกิดผลแล้ว
"ร้อยเอกธรรมนัส"ก็ยังลูกผีลูกคนหากยังสังกัดพปชร.เพราะหัวหน้าพรรคย้ำแล้วว่า แคนดิเดตสร.1ของพปชร.คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งหลากสื่อยังรายงานตรงกันว่า นายพลนอกราชการ-ผู้กองนอกราชการยังอยู่ในภาวะ"ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" แม้ภาพวันนี้"ลุงป้อม"ย้ำชัดว่า พปชร.หนุน"ลุงตู่" และ3ป.อยู่กันแบบชั่วฟ้าดินสลายก็ตาม
วันที่ 8 ธ.ค.ลุ้นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตัดสินสถานภาพ ส.ส. 5 อดีตแกนนำกปปส. หลังถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือ"พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์"อดีตรมว.ดีอีเอสและแกนนำพปชร. "ธนิกานต์ พรพงศาโรจน์" ส.ส.กทม.ที่โดนสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่จากกรณีเสียบบัตรแทนกัน "สิระ เจนจาคะ" ส.ส.กทม.ที่รอลุ้นผลในวันที่ 22 ธ.ค. ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตา"คุณสมบัติ ส.ส."ในคดีเคยต้องคำพิพากษาฉ้อโกง รอลุ้นว่า "ปารีณา ไกรคุปต์"ส.ส.ราชบุรี ในคดีถือครองที่ดินโดยมิชอบนั้นผลจะออกมาแบบใด "วิรัช รัตนเศรษฐ" แกนนำพรรคและครอบครัว ที่ต้องไปสู้คดีโกงงบสนามฟุตซอล
รวมทั้งข่าวปั่นช่วงนี้ว่า เร็วๆนี้มุ้งนั้นมุ้งนี้ในพปชร.เตรียมตีกรรเชียงชิ่ง"ลุงป้อม"เพื่อกลับไปค่ายเดิมเมื่อวันวาน
เมื่อมองไปยังรายชื่อส.ส.ข้างต้น-มุ้งต่างๆในพปชร.เพื่อเทียบเคียงกับราคาคุยดังกล่าวของผู้กองคนดังโวไว้นั้นจะเข้าเป้าหรือไม่...
วิญญูชนนำไปวิเคราะห์กันเอาเอง
สถานการณ์ด้านอื่นๆนั้น หากมองไปยังพรรคร่วมรัฐบาล -พรรคร่วมฝ่ายค้านในยามนี้ แน่นอนว่าส.ส.หลายชีวิตปันใจกันเห็นๆ และรอสักระยะจะมองเห็นว่า"ใครจะเปลี่ยนสีเสื้อ-ย้ายพรรคบ้าง" เพราะข้อกำหนดในการย้ายพรรคของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ "หากมีเหตุยุบสภาต้องสังกัดพรรค 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อมีการยุบสภา รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า ต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ระยะเวลาดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้ ส.ส. ย้ายจากพรรคการเมืองหนึ่งไปอีกพรรคการเมืองหนึ่งได้"
ทำนายไว้ล่วงหน้าเลยว่า ช่วงปลายไตรมาสที่สอง-ต้นไตรมาสที่สามของปีหน้า จะพบกระแสข่าว"การย้ายค่ายแบบเซอร์ไพรส์การเมืองที่จะบังเกิดหลายคราว" และภาพจะชัดเจนหลังศึกซักฟอกครั้งสุดท้ายยุติ (การเมืองไทยเป็นเช่นนี้เสมอจากบันทึกการเมืองเมื่อวันวาน)เพราะคนการเมืองมองออกว่า ควรแทงหวยกับเจ้ามือรายใด เพื่อโอกาสที่จะได้รับรางวัลนั้นๆ (พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้มี 18พรรค 271 ชีวิต
ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านมี 211 ส.ส. จาก 7 พรรค และหนึ่งเสียงของ"มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ " อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ) โดยเฉพาะ"งูเห่าการเมืองเวอร์ชั่นล่าสุด"นั้นพบว่า ส.ส.บางคนฝังตัวอยู่ในพรรคก้าวไกลแต่หัวใจอยู่ค่ายสีน้ำเงิน บางคนมีชื่ออยู่พรรคฝ่ายค้านแต่มติการไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจเสนาบดีคราวที่แล้วมันก็อ่านรหัสออกว่า "ผู้แทนราษฎรเหล่านี้วันหน้าจะแตะมือกันอย่างไรทางการเมือง"
และเป็นไปได้ยิ่งว่าเร็ววันนี้จะพบพรรคใหม่ๆจากคนการเมืองในวันวานที่แยกตัวจากต้นสังกัดมาเลือกเส้นทางลุยของตัวเอง เพราะเวลาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เหลืออยู่ราว 1 ปีเศษ(เลือกตั้ง24มี.ค.2562-ครบวาระสี่ปี 23มี.ค.2566 (อายุรัฐบาลตามกติกาคือ 4 ปี)) และยิ่งกระแสการทำนายทายทักว่าลุงตู่อาจอยู่ไม่ครบวาระลอยมาเสมอๆเพราะเส้นทางในและนอกพรรคที่หนุน"ลุงตู่นั้นพบว่าสารพันปัญหาสะสมไว้คล้ายMine Land (กับระเบิด)หากลุงตู่พลาดก้าวใด รับรองว่าเละตุ้มเป๊ะ
แม้กระบอกเสียงรัฐบาล"ธนกร วังบุญคงชนะ"และแรมโบ้อีสาน"เสกสกล อัตถาวงศ์"จะออกตัวแทนลุงตู่มาเป็นระยะว่า สี่ปีนี้ไทยแลนด์มีประมุขฝ่ายบริหารชื่อ"พลเอกประยุทธ์"แต่ลุงตู่ก็ออกตัวแนวแทงกั๊กว่า ไม่รู้ว่าจะอยู่ครบเทอมไหม อะไรจะเกิดก็ว่าไปตามกติกาและการเมือง
แต่ใครที่จะลงแข่งขันสนามส.ส.งวดหน้า เวลาที่เหลืออยู่ จะเรียกว่ามากก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะหนึ่งปีเศษนั้น การที่จะทำให้สังคมรู้จักทั่วประเทศ 400 เขตเลือกตั้งนั้น เอาเข้าจริงแล้ว มันใช่ย่อยเสียเมื่อไหร่...
พรรคและว่าที่พรรคการเมืองยามนี้ที่มองเห็นภาพชัดๆ คือ "วินท์ สุธีรชัย" อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาตั้งกลุ่มรวมไทยยูไนเต็ดที่พร้อมจะเปลี่ยนภสภาพเป็นพรรครวมไทยยูไนเต็ด เพื่อมา สร้างการเมืองในแนวทางตัวเอง
"คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" บิ๊กเนมแห่งพรรคไทยสร้างไทยทยอยทาบคนบ้านเดียวกันและต่างขั้วมาร่วมงาน
"กรณ์ จาติกวณิช" หัวหน้าพรรคกล้า ทาบทามและเปิดตัวคนการเมืองที่สอบตกงวดที่แล้วและอกหักกับสังกัดเดิมมาร่วมขบวนปั้นพรรค
ตอนนี้คนการเมืองที่ยังรีรอ เช่น "จาตุรนต์ ฉายแสง"ที่แตะมือ"เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์" รวมทั้งคนเสื้อแดงและอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ แยกตัวมาสร้าง"พรรคเส้นทางใหม่"ที่รับรู้มาหลายเพลาแล้วนั้น "เสี่ยอ๋อย"ก็ยังไม่ขยับให้แน่ชัดว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะบัตรเลือกตั้งสองใบ มันเอื้อกับพรรคใหญ่บางพรรค และยิ่งฐานคะแนนจะต้องแชร์กับต้นสังกัดเดิมแล้วนั้น โอกาสของเสี่ยอ๋อยก็น้อยลงเรื่อยๆ แม้คนเดือนตุลาที่เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ยังเปิดประตูรับเสี่ยอ๋อยกลับสังกัดเดิม/"นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" อดีตส.ส.พัทลุง 8 สมัย จากค่ายสีฟ้าจ่อย้ายสังกัดและมีแววแตะมือสร้างพรรคใหม่กับ"กลุ่มสี่กุมาร"ที่ไขก๊อกจากพรรคพลังประชารัฐ
เพียงเท่านี้ก็ฝุ่นตลบและส่อแววการแข่งขันเเบบแพ้ไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ และรอชมฉากทัศน์ใหม่การเมืองในห้วงหลังปีใหม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคนการเมืองว่า จะเปลี่ยนสีเสื้อ-ย้ายพรรค-แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างไร
ปีหน้าการเมืองไทยคงสนุกนึก.......