“เบอร์เดียว” เพื่อไทย แลนด์สไลด์หรือฝันกลางวัน
เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า นอกจากใช้บัตร 2 ใบ ยังมีการชงประเด็นใช้ “เบอร์เดียว” ทั่วประเทศสำหรับผู้สมัครพรรคเดียวกันด้วยโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ออกอาการมากกว่าพรรคอื่น โดยมองว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ชนะแบบแลนด์สไลด์ตามที่พรรคฯตั้งเป้าไว้… ทำไมเป็นเช่นนั้น
เลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยชูธง ชนะแลนด์สไลด์ ตามที่มีการเปิดแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ออกมาสร้างกระแส
เพราะว่าถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ชนะพรรคพลังประชารัฐที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันชนิดถล่มทลาย เสร็จ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่ๆ เนื่องจากมีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จำนวน 250 คนที่มาจาก คสช. อยู่ในมือ ( ส.ว.ชุดนี้มีอายุ 5 ปี ครบกำหนดหลังอายุรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่มีเพียง 4 ปี ) ที่พร้อมโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
แน่นอนว่าในการที่พรรคเพื่อไทย จะไปสู่เป้าหมาย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ต้องมีปัจจัยหลายอย่างเอื้ออำนวย อย่างเช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า กลับมาใช้บัตรเลือกตั้งแบบสองใบที่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นและการเลือกตั้งครั้งหน้า อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ทุ่มเต็มที่ เห็นได้จากการส่งลูกสาวคนเล็ก อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาคุมพรรคเพื่อไทยโดยตรง ในตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม
แต่ปัจจัยที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย ก็คือ การที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันให้ใช้ ”เบอร์เดียว” ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า
“เบอร์เดียว“ หมายถึงในการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งประเภทบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์)และส.ส.เขต ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งพรรค(ซึ่งในทางปฏิบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งในลำดับที่1บัญชีรายชื่อหรือหัวหน้าพรรคจับสลากหมายเลขผู้สมัครฯกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้หมายเลขใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ใช้หมายเลขนั้นกันทั้งพรรค )
ชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย บอกว่า กฎหมายลูก คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เบอร์ที่ใช้ในการเลือกตั้งให้ใช้ "เบอร์เดียว" ทั้งประเทศ โดยใช้เบอร์จากการสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นตัวตั้ง
เช่นเดียวกับนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกถึงแนวทาง"บัตรเบอร์เดียว"ว่า..ในส่วนพรรคเพื่อไทย เราเสนอร่างกฎหมายนี้อยู่แล้ว และก็สอดคล้องกับ กกต.ด้วย เพราะ กกต.เสนอว่าให้มีบัตรเลือกตั้งที่เป็นเลข "เบอร์เดียว" ทั้งในส่วนของพรรคและผู้สมัคร ส.ส. เพื่อความสะดวกของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหลัก และสะดวกแก่พรรคการเมืองในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ป้องกันความสับสนและป้องกันบัตรเสีย เพราะถ้าบัตรแยกกันจะเกิดความสูญเสียเยอะมาก ก็กำลังรณรงค์เรื่องนี้กันอยู่
ทำไม พรรคเพื่อไทย ต้องการให้ใช้ “เบอร์เดียว” ในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า นักหนา
หากเรามองย้อนไปถึงผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในอดีต ก็จะได้คำตอบ
ที่มาภาพ THAKSIN official
-การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2544 ที่มีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกในระบบใหม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แบ่ง ส.ส.ออกเป็น 2 ประเภท คือ ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน รวม 500 คนและใช้หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.“เบอร์เดียว” สำหรับพรรคการเมืองเดียวกัน
ผลการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย ที่จับสลากได้หมายเลข 7 ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายได้ถึง 248 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต จำนวน 200 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 48 ที่นั่ง คิดเป็น 49.6 % ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ขาดเพียง 3 ที่นั่ง พรรคไทยรักไทย พรรคเดียวก็จะได้ที่นั่ง ส.ส. เกินครึ่งของจำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร
และชนะขาดพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำพรรครัฐบาลอยู่เดิมก่อนการเลือกตั้งที่ได้รับเลือกตั้งเพียง 128 ที่นั่งเท่านั้นโดยได้ ส.ส. เขต 97 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 31 คน
นอกจากนั้นเมื่อเทียบผลการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง พบว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ1 ได้จำนวน ส.ส.เพียง 22-32% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดและใกล้เคียงกับพรรคได้คะแนนเลือกตั้งอันดับ 2 มาก
แต่การเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัว คือ 248 ต่อ 128 ที่นั่ง
ปัจจัยที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เขตที่เล็กลง ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น ทุกพรรคการเมืองใช้เพียง “เบอร์เดียว” ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ ทำให้ง่ายต่อการจดจำของประชาชนผู้มาเลือกตั้ง
ยิ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ก็จะหาเสียงโดยชูตัวหน้าพรรคหรือผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 ของพรรคการเมืองนั้นเนื่องจากเป็นคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนมีการพูดกันว่า ส่งเสาไฟฟ้า(ผู้สมัครโนเนม) ลงสมัคร ส.ส.เขต ก็ยังได้รับเลือกตั้งเลย
หลังการเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดย ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
-การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2548
ที่มาภาพเฟซบุ๊ก Ing Shinawatra
ต่อมาในเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ปี 2548 ซึ่งใช้ “เบอร์เดียว” ในการเลือกตั้งเช่นกัน พรรคไทยรักไทยได้หมายเลข 9 และได้ชัยชนะชนิดแลนด์สไลด์อย่างที่พรรคการเมืองใดไม่เคยได้รับมาก่อน โดยพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง และรัฐบาลไทยรักไทยในสมัยที่ 2 เป็นรัฐบาลชุดแรกในประวัติศาสตร์ ที่มาจากพรรคการเมืองเดียวซึ่งได้รับเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
-การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554
การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 มีขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฯ 2550แก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ซึ่งกำหนดให้มี ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 375 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน โดยจัดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และใช้ “เบอร์เดียว” เช่นกัน
ผลเลือกตั้งออกมาพรรคเพื่อไทย ที่ได้หมายเลข 1 ได้ที่นั่ง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งคือ ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขต รวมกัน 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองที่มีพรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1ของพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งทั้ง 3 ครั้ง ในปี 2544 ปี 2548 และปี 2554 พรรคไทยรักไทยและต่อมากลายเป็นพรรคเพื่อไทยในภายหลัง ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้งที่ใช้ “เบอร์เดียว” ในการหาเสียง
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า จะใช้ “เบอร์เดียว” ทั้งประเทศ อีกหรือไม่ก็อยู่ที่กฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะออกมา
ซึ่งขณะนี้ทั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างเตรียมร่างกฎหมายลูกทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา
อาทิ- ร่างกฎหมายลูกที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (มีผู้ร่างคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง)ซึ่งจะเป็น ร่างหลัก ในการพิจารณาของรัฐสภาโดยร่าง กกต.กำหนดให้ใช้ “เบอร์เดียว”สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเดียวกัน
-ร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ตั้งคณะกรรมการร่วมกันโดยมี “วิเชียร ชวลิต” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน
-ร่างกฎหมายลูกของพรรคเพื่อไทย ( ใช้ “เบอร์เดียว” สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเดียวกัน)
-ร่างกฎหมายลูกของพรรคก้าวไกล
ในขณะที่การประชุมวิปรัฐบาลล่าสุด ยังมีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันและต้องถกในรายละเอียดอีกครั้ง ในประเด็นว่าด้วยการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. โดยพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาต้องการให้แยกหมายเลข ระหว่าง ส.ส.เขต และแบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่พรรคการเมืองอื่น(ซึ่งรวมถึงพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์)เห็นด้วยให้ใช้“เบอร์เดียวกัน”ทั้งผู้สมัครแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ
อย่างไรก็ดีในเรื่องผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้ ”เบอร์เดียวกัน” มีความเห็นต่างกันแน่
โดยพรรคการเมืองใหญ่คงเห็นด้วยที่จะให้ใช้ผู้สมัคร ”เบอร์เดียว” เนื่องจากได้เปรียบจากการนำหัวหน้าพรรคหรือผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่เป็นผู้มีชื่อเสียงมาใช้ในการหาเสียงได้ง่าย อีกทั้งหมายเลขเดียวกันจดจำง่าย กาบัตรลงคะแนนก็ง่ายและหากจับสลากได้เลขสวย ก็ยิ่งช่วยได้อีก
ในขณะที่พรรคการเมืองเล็กและพรรคขนาดกลางไม่ชอบ "เบอร์เดียว" เท่าไหร่ เนื่องจากมีคนที่เป็นจุดขายหรือผู้มีชื่อเสียงมาลงในนามพรรคน้อยกว่าพรรคการเมืองใหญ่ ดังนั้นในประเด็น ”เบอร์เดียว” คงต้องไปสู้กันในชั้นกรรมาธิการและแปรญัตติต่อไป
สำหรับไทม์ไลน์ของกฎหมายลูกน่าจะประกาศใช้ได้อย่างช้าสุดประมาณกรกฎาคมปีหน้า(ปี65 )เพราะว่าเมื่อร่างกฎหมายลูกผ่านรัฐสภาวาระ 3 แล้ว ซึ่งคาดว่าประมาณเมษายนปีหน้าไม่ใช่ว่าเสร็จแล้ว ยังมีขั้นตอน นำร่างไปถามความเห็นองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องคือ กกต.อีก และถ้า กกต.ไม่เห็นด้วยตรงจุดไหน ก็ต้องส่งร่างกลับมายังรัฐสภาพิจารณาอีก เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ก็ยังมีขั้นตอนนำร่างขึ้นทูลเกล้า ฯ
จับตากันต่อไปกับร่างกฎหมายลูกว่าออกมาแบบใด..จะ “เบอร์เดียว” สมหวัง พรรคเพื่อไทย ที่วาดฝันแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดินเหมือนในอดีตที่เคยทำสำเร็จมาแล้วหรือไม่