คอลัมนิสต์

พิษบัตร 2 ใบ "จาตุรนต์" คืนรังเพื่อไทย ปิดฉากเส้นทางใหม่

พิษบัตร 2 ใบ "จาตุรนต์" คืนรังเพื่อไทย ปิดฉากเส้นทางใหม่

08 ธ.ค. 2564

เส้นทางใหม่ไปต่อยาก "จาตุรนต์" หอบพี่น้องตระกูลฉายแสง และเพื่อนพ้อง นปช. กลับเพื่อไทย สาเหตุหลักมาจากกติกาเปลี่ยน จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ แถมท่อน้ำเลี้ยงตัน คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

อิทธิฤทธิ์บัตร 2 ใบ “จาตุรนต์” ถอยทัพ เส้นทางใหม่ไปไม่รอด ขนญาติพี่น้องตระกูลฉายแสงและผองเพื่อน นปช.สายเสี่ยเต้น กลับเพื่อไทย

 

แบกฝันใหญ่ “จาตุรนต์” หมายมั่นสร้างพรรคอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่สะดุดกติกาเปลี่ยน แถมท่อน้ำเลี้ยงไม่พอ ไปต่อยาก

 

บังเอิญเพื่อไทยไร้คู่ขัดแย้ง “จาตุรนต์” เลยปิดดีลกับคนแดนไกลไม่ยาก และชื่อชั้นคนเดือนตุลาตัวจริง ยังขายได้ในตลาดเจนวาย เจนแซด

 

2 สัปดาห์ที่แล้ว เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด คนสนิทของจาตุรนต์ ฉายแสง ได้เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ได้กลับพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว

 

วันที่ 8 ธ.ค.2564 เศกสิทธิ์ได้แชร์ข่าวจาตุรนต์ยุติพรรคเส้นทางใหม่ ยกตระกูลคืนรังเก่าเพื่อไทย ก็มีแฟนคลับสอบถามว่า จะไปต่อกันยังไง อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ตอบว่า “กลับเพื่อไทยกันหมดครับ”

เมื่อ 20 มี.ค.2564 เศกสิทธิ์ เป็นคนแรกที่แจ้งข่าวการจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคเส้นทางใหม่ โดยระบุว่า จะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่

 

ย่างเข้าเดือน ส.ค.2564 จาตุรนต์ ฉายแสง ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า มีการก่อตั้งพรรคการเมือง โดยไม่ระบุชื่อพรรค แต่ก็รับรู้กันทั้งประเทศคือ พรรคเส้นทางใหม่

 

‘ผิดหวังกติกาเปลี่ยน’

 

เดิมที “จาตุรนต์” จะเปิดตัวพรรคเส้นทางใหม่ ภายในเดือน ส.ค.2564 แต่บังเอิญโควิดระบาดหนัก จึงต้องเลื่อนออกไป และมีข่าวว่า ที่ทำการพรรคย่านปากเกร็ด ได้สร้างเสร็จแล้ว

 

ช่วงคิดก่อการพรรคเส้นทางใหม่ จาตุรนต์ และมิตรสหาย เชื่อการสร้างพรรคทางเลือกโดยกติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังพอมีที่ยืนให้คนรักประชาธิปไตย เหมือนพรรคขนาดกลางอย่างเสรีรวมไทย หรือประชาชาติ

ระหว่างรอเปิดตัวพรรคเส้นทางใหม่ สถานการณ์การเมืองเกิดเปลี่ยนกระทันหัน เมื่อรัฐสภาโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนกติกาเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ

 

ใครก็รู้ว่า กติกาบัตร 2 ใบ เอื้อต่อพรรคใหญ่ ฉะนั้นพรรคใหม่ของจาตุรนต์ คงไปต่อยาก หากดันทุรังเดินหน้าพาพรรคป้ายแดงลงสนาม น่าจะประสบชะตากรรมเดียวกับพรรคมหาชนในอดีต

ที่ทำการพรรคเส้นทางใหม่ เหงาร้างไปโดยปริยาย

อีกด้านหนึ่ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้ก่อการคนหนึ่งของพรรคเส้นทางใหม่ ได้พยายามขับเคลื่อนคาร์ม็อบ ปูทางสร้างกระแสพรรคใหม่ แต่ก็ไม่บรรลุเป้าหมาย

 

ในที่สุด จาตุรนต์กับณัฐวุฒิ ก็พามิตรสหายอย่าง ก่อแก้ว พิกุลทอง, นพ.เหวง โตจิราการ, นิคม ไวยรัชพานิช ,วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ,ประภัสร์ จงสงวน, เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์, ฐิติมา ฉายแสง และวุฒิพงษ์ ฉายแสง กลับพรรคเพื่อไทย

 

ดีลคืนรังจบลงอย่างแฮปปี้ เมื่อ เฮีย พ.ประสานคนแดนไกล และเคลียร์พื้นที่ในพรรคเพื่อไทยให้จาตุรนต์ได้ลงตัว

 

‘ฉายแสงยังอยู่’

อนันต์ ฉายแสง บิดาของ “จาตุรนต์” ในวัย 93 ปี มีบุตร-ธิดา 4 คน ล้วนแต่รับมรดกเตี่ยคือเป็นนักการเมืองหมดทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอ๋อย-จาตุรนต์ ฉายแสง,ก้อย-กลยุทธ ฉายแสง ,โก้-วุฒิพงศ์ ฉายแสง และเปิ้ล-ฐิติมา ฉายแสง

 

ตระกูลฉายแสง แห่งฉะเชิงเทรา ยืนยงอยู่ในเวทีการเมืองมานานกว่า 50 ปี จนมาถึงยุคพรรคไทยรักไทย ตระกูลฉายแสง ก็ลงหลักปักฐานอยู่กับตระกูลชินวัตรเรื่อยมาแต่การเลือกตั้ง 2554 ในสนามแปดริ้ว ทั้งวุฒฺิพงศ์-ฐิติมา สอบตกหมด

 

การเลือกตั้งปี 2562 ตระกูลฉายแสงโชคร้าย พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ พลอยทำให้จาตุรนต์ ,วุฒิพงศ์ และฐิติมา ไม่ได้เป็น ส.ส.

 

อานิสงส์ของตระกูลฉายแสง ต้องออกจากสนามเลือกตั้ง จึงส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เป็น ส.ส.แปดริ้ว 2 คน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายเดือน มี.ค.2564 มีการเลือกตั้งเทศบาล กลยุทธ ฉายแสง ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา สมัยที่ 6


ด้วยฐานการเมืองที่แข็งแกร่ง พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า การเลือกตั้งสมัยหน้า ตระกูลฉายแสง ยังเป็นเต็งแชมป์ในเขต 1 และเขต 4