"89ปีรัฐธรรมนูญไทย" ประชาชนยังเรียกร้องมีส่วนร่วมแก้รัฐธรรมนูญ
"89ปีรัฐธรรมนูญไทย" ภาคประชาชนใช้โอกาสวันรัฐธรรมนูญ ขอวุฒิสภาสละสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง
เป็นครั้งที่3 ของภาคประชาชนที่พยายามเข้าไปมีส่วนกำหนดโครงสร้างซึ่งใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศในนามรัฐธรรมนูญ คราวนี้นำโดย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการเลือกตั้ง 10 ธันวาคม 2564 89ปี แห่งระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทย มีรัฐประหาร 13 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญไป 9ฉบับ ล่าสุดเมื่อปี 2557 คสช.ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว นำมาสู่รัฐธรรมนูญที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฉบับสืบทอดอำนาจ ที่สำคัญ คือการให้บทบาท สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ภายใน 5ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
การเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนซึ่งไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสองครั้งที่ผ่านมา ถูกมองว่า เป็นเพราะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มากจนเกินไป เกือบทุกด้านที่กำหนดไว้ถูกรื้อ จนทำให้ถูกรุมต้าน แต่ความพยายามเสนอแก้รัฐธรรมนูญ อีกครั้งหนึ่งนี้ โฟกัสเป้าหมายที่เคยมีมาในความพยายามก่อนหน้า เหลือเพียงประเด็นเดียวคือการยกเลิกบทบาทเลือกนายกรัฐมนตรี ของสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา272เท่านั้น แต่อุปสรรคที่สำคัญก็อยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งถูกลดบทบาท จะยอมสูญเสียอำนาจในส่วนนี้หรือไม่
บทเรียน 2 ครั้งที่ผ่านมา นอกจากจะมีเสียงสมาวุฒิสภาสนับสนุนการแก้ไข ไม่ถึง1ใน3 ยังลดลงมาจนเหลือสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุนการแก้ไขในส่วนนี้ เพียง 3รายเท่านั้น ดูเค้าลางแล้ว นี่อาจเป็นได้เพียงวงรอบของการรื้อรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทย ซึ่งนับรวมทุกฉบับ มีอายุขัยเฉลี่ยราว 4-5 ปี และครั้งนี้ ยังเป็นการริเริ่มจากประชาชน เบิกฤกษ์ ในวันรัฐธรรมนูญ เปิดลงชื่อทางออนไลน์ มกราคม-มีนาคมปีหน้า ตั้งเป้าหมาย 70,000 รายชื่อ ขอสิทธิ์ตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน เป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมีเสียงจัดตั้ง ตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน