"ดร.เอ้"กับเสื้อสีฟ้า ลั่นระฆังเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ฝ่าด่านหินกู้ศรัทธา
เลือกตั้งเมืองหลวงที่ผ่านมา แกนนำพรรคสีฟ้าคงทราบดี และน่าจะหาวิธีบริหารจัดการใหม่ให้แต้มเพิ่มขึ้น อย่าลืมว่า สนามนี้ ปชป.ส่งผู้สมัครพ่อเมืองหลวงเก้าครั้งที่แล้วสมหวังสี่ครั้งหลังสุด ติดตามความน่าจะเป็น "ดร.เอ้" ศึกชิงผู้ว่าฯกทม.ในเจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ
แน่ชัดขั้นต้นแล้วว่า"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม."จะเกิดขึ้นกลางปีหน้า หรือไม่เกิน มิ.ย.2565 เพราะนี่คือคำยืนยันของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยการหย่อนบัตรชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ครั้งสุดท้ายคือ 3 มีนาคม 2556 ("ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 บนตัวเลข 1,256,349 คะแนน โดยชนะคู่แข่งจากพรรคเพื่อไทย "พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ" อันดับที่สอง ได้ 1,077,899 คะแนน สถิติของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดร้อยละ 63.38 นับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง เพราะมีคนมาใช้สิทธิมากสุดสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.)
ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้พบว่า "ผู้ว่าฯกทม. แต่งตั้ง 9 ครั้ง เลือกตั้ง (รวมครั้งที่จะถึงนี้)10 ครั้ง" วาระทำงานสี่ปี บริหารพื้นที่ราว 1.6 พันตารางกิโลเมตร ประชากรราว 6 ล้านคน (ยังไม่รวมประชากรแฝง- แรงงานต่างด้าว –ผู้ที่อาจจะไม่มีทะเบียนราษฎร์ในกทม. แต่อาศัยในห้าสิบเขตจริง โดยตัวเลขประมาณการน่าจะแตะ 10 ล้านคน)
สนามนี้ต้องมองผลการเลือกตั้งส.ส. 24 มี.ค. 2562 ประกอบด้วย เพราะพื้นที่กทม.ปรากฏสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ 72% ( 3,247,813 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,498,058 คน) โดยกลุ่ม "เฟิร์สต์ไทม์โหวตเตอร์" (อายุ 18- 25 ปี มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่) มาใช้สิทธิ 602,898 คน นับเป็นอีกกลุ่มคะแนนสำคัญต่อผลคะแนนผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.
และเมื่อพิจารณาคะแนน "ป๊อปปูลาร์โหวต" กทม.จากพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พบว่า พรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกลในตอนนี้) ได้ 804,272 คะแนน พรรคพลังประชารัฐ คว้า 791,893 คะแนน พรรคเพื่อไทย สะสมที่ 604,699 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ ตุนไว้ 474,820 คะแนน เมื่อนำตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 3,247,813 คน หารสามสิบเขตที่มีส.ส. จะพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิเฉลี่ย 108,260 คน และเมื่อนำคะแนน ป๊อบปูลาร์โหวต 4 พรรค มาหารค่าเฉลี่ยต่อเขต พบว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเฉลี่ยต่อเขต 27,486 คะแนน (จากส่งผู้สมัคร 22 เขต) พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเฉลี่ยต่อเขต 26,809 คะแนน พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเฉลี่ยต่อเขต 26,396 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเฉลี่ยต่อเขต 15,827 คะแนน
ตัวเลขเหล่านี้แกนนำพรรคสีฟ้าคงทราบดี และน่าจะหาวิธีบริหารจัดการใหม่ให้แต้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นสนามนี้จึงเป็นศึกกู้ศรัทธาพรรคสีฟ้าเพื่อหวังผลในสนามใหญ่ และสนามนี้ปชป.ส่งผู้สมัครพ่อเมืองหลวงเก้าครั้งที่แล้ว สมหวังสี่ครั้งหลังสุด
การเปิดตัวดร.เอ้ "สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" อดีตอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชูแคมเปญเปลี่ยนกรุงเทพ #เราทำได้ มาเป็นจุดขาย และหวังฟื้นกระแสพรรคสีฟ้าในเมืองกรุง หลังเลือกตั้งส.ส.ครั้งล่าสุด พรรคสีฟ้าสูญพันธุ์กับสนามเมืองกรุงเป็นครั้งแรก เพราะปชป.สะสมได้ 474,820 คะแนน ใน 30 เขตเลือกตั้งเมืองกรุง ส่งผลให้พรรคสีฟ้ามีกว่า 3.9 ล้านคะแนนจากคะแนนรวมทั่วประเทศกับผลเลือกตั้งส.ส.ครั้งล่าสุด
แกนนำพรรคสีฟ้ากำลังตีปี๊ปโชว์ผลงานที่ไปร่วมงานบนเรือเหล็ก แต่บางอย่างยังไม่ชัดเจน และตอนนี้กำลังเร่งแก้ปัญหาภายในเกี่ยวกับอดีตส.ส.ที่แตกตัวไปพรรคอื่น และพยายามสร้างเลือดใหม่ขึ้นมารับบท เพราะปชป.น่าจะทราบดีแล้วว่าสภาวะวันนี้ของพรรคเป็นอย่างไรในสายตาสังคม
หากเจาะลึกวงในพรรคสีฟ้าจะพบว่า สนามนี้ไม่ง่าย แม้"ดร.เอ้"จะมีโปรไฟล์และแคมเปญที่น่าสนใจ แต่หากมองไปยังผลโพลล์หลายสำนักในหลายเดือนที่ผ่านมา คะแนนนิยมของ"ดร.เอ้"เป็นอย่างไรในสายตาของคนเมืองหลวง แกนนำ"พรรคสีฟ้า"และ"ดร.เอ้"น่าจะทราบดี และการขยับคะแนนนิยมให้ไล่บี้คู่แข่งขันตัวเต็งหนึ่งนั้นก็เหนื่อยไม่ใช่น้อย
เพราะคู่แข่งขันที่ตอนนี้ยืนยันเบื้องต้นพบว่า "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"อดีตรมว.คมนาคมและอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจะลงแข่งขันแบบอิสระ แต่รู้กันทั่วว่าพรรคเพื่อไทยหนุนหลัง รวมทั้ง "รสนา โตสิตระกูล" อดีตส.ว.กทม.ที่ระบุว่าพร้อมประชัน (ติดตามว่าที่ผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ เช่น ทอม เครือโสภณ ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าสนใจสนามนี้ด้วยว่ายังจะแข่งขันหรือไม่) และรอติดตามพรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคกล้า พรรคไทยสร้างไทยเปิดตัวว่า จะส่งใครมาแข่งขัน และเชื่อว่าไม่นานวันจะมีการทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนอื่นๆตามมา
อย่าลืมว่าห้าถึงหกเดือนที่จะมีการเลือกตั้งตามที่"ลุงตู่"ระบุไว้นั้นนับว่า "ไม่ช้าไม่นาน" เพราะการสะสมแต้มด้วยการลงพื้นที่ห้าสิบเขตในเมืองหลวงที่มีชุมชน หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานจำนวนมากนั้น ไม่ใช่งานง่ายและต้องออกสื่อหลากแขนง บวกกับการเปิดตัวทีมรองผู้ว่าฯกทม.แต่ละด้านว่า มีใครบ้างที่อาสามาแตะมือ ตรงนี้ก็เป็นจุดขายอีกประการหนึ่ง
เซียนการเมือง มองไว้ว่า "การเลือกตั้งแบบอิสระในกทม.นั้นยาก หากไม่มีคะแนนนิยมจากพรรคไว้ในมือ อย่างน้อยเขตละหนึ่งหมื่นห้าพันแต้ม อย่าลืมระบบหัวคะแนนของพรรคในแต่ละเขตและแต่ละชุมชนมีผลสูง เพราะจะอาศัยกระแสอย่างเดียวก็ติดลมบนยาก หากอาศัยกระแสเพียวๆ อย่างมากที่สุดก็ติดอันดับท็อปไฟว์ ลองไปไล่เรียงผู้สมัครอิสระในครั้งก่อนๆประกอบกันด้วย คราวนี้ก็เช่นกันสังเกตง่ายๆชัชชาติบอกลงสมัครอิสระ แต่รู้ทั่วเมืองว่าพรรคเพื่อไทยหนุน เพราะ ชัชชาติรู้ว่าใส่เสื้อพรรคเพื่อไทยลงสมัครก็ยากจะชนะ แต่หากไม่มีคะแนนจัดตั้งจากส.ส.และว่าที่ส.ก.พรรคเพื่อไทยหนุนก็ไม่ได้”
นอกจากนี้ อย่าลืมระบบกลไกราชการ เพราะหากฝ่ายใดได้ฝ่ายที่คุมอำนาจรัฐไปช่วยเหลือ ตรงนั้นก็ง่ายต่อการหวังผลไปอีกขั้นหนึ่ง
สมมติว่าเกมนี้"ดร.เอ้"ลงประเดิมสนามการเมืองกับพรรคสีฟ้า หากพลาดหวัง "ดร.เอ้"ก็ยังมีลุ้นลงแข่งขันสนามส.ส.ในวันหน้า เพราะคะแนนที่ตุนไว้ในเขตเมืองหลวง (แม้จะมีคะแนนนิยมจากพรรคสีฟ้าไว้ด้วยก็ตาม) ก็เป็นราคาทางการเมืองที่"ดร.เอ้" พกติดตัวไว้หากจะเดินต่อบนสนามอื่นก็ยังสะดวกใจไม่ว่าจะสวมเสื้อสีฟ้าต่อไปหรือไม่ก็ตาม