มีนาคม 2565 ลั่นระฆังเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยรามจักร
ถ้ามีการเลือกตั้งก็จะมีเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งจากทุกฝ่ายไหลไปสู่ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งซึ่งมีผู้คำนวณว่าจะเป็นวงเงินไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ติดตามได้จาก เจาะประเด็นร้อน โดยรามจักร
แรกเริ่มเดิมทีบรรดาคนมีอำนาจเกี่ยวข้องกับ กทม. สร้างบรรยากาศแวดล้อมให้รัฐบาลเห็นดีเห็นงามไปกับการยื้อเลือกตั้ง กทม. ซึ่งต้องกับกิเลสของผู้อำนาจในบ้านเมือง ดังนั้น จึงแสดงท่าทีในตอนแรกว่าจะยังไม่มีการเลือกตั้ง กทม. และพัทยา เพราะบ้านเมืองยังไม่สงบ ยังมีความแตกสามัคคี และมีการชุมนุมอยู่
ทว่าเสียงเรียกร้องให้เร่งเลือกตั้ง กทม. กลับกึกก้องกระหึ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศแล้ว ทั้งพรรคต่าง ๆ ก็สร้างกระแสเตรียมการเลือกตั้ง กทม.และเมืองพัทยากันอย่างคึกคัก มีการเปิดตัวผู้สมัครกันเอริกเกริก จึงเป็นแรงกดดันที่หนักหน่วงขึ้น
ทั้งผู้รู้ก็พยายามแจงผลดีผลเสียของการยื้อกับการเร่งการเลือกตั้งอย่างชัดเจนและล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้แสดงท่าทีว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.อย่างช้ากลางปี 2565 ในขณะที่กระทรวงมหาดไทยและ กกต. ได้แสดงท่าทีชัดเจนเช่นเดียวกันว่าพร้อมจัดการเลือกตั้งทุกเมื่อ แม้เรื่องงบประมาณก็เตรียมไว้พร้อมแล้ว
การที่พลเอกประยุทธ์แถลงล่าสุดว่าจะให้มีการเลือกตั้ง กทม.และพัทยาไม่เกินกลางปี 2565 นั้นจะเป็นช่วงเวลาใดกันแน่ ? เมื่อดูจากสถานการณ์ทั้งหลายแล้วพอจะคาดการณ์ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เพราะ
ข้อแรก พลตำรวจเอกอัศวิน ผู้ว่า กทม. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจหลังจากครบกำหนดมา 7 ปีแล้ว เพราะช่วงนั้นยังเข้าแข้งเข้าขากับรัฐบาล แต่หลังจากเกิดปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องวัคซีนและเรื่องงานก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูกรุงเทพฯจึงพาให้ห่างเหินกันไป เป็นเหตุให้พลตำรวจเอกอัศวินประกาศจะลงเลือกตั้งในนามอิสระ
ดังนั้นการยื้อเลือกตั้งต่อไป นอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล กลับจะเป็นประโยชน์ต่อพลตำรวจเอกอัศวินเท่านั้น
ข้อสอง เมื่อ คสช. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ อำนาจในการกำหนดเวลาเลือกตั้งได้โอนมาเป็นของ ครม. ซึ่งหมายความว่าเป็นหน้าที่ของ ครม. ที่ต้องจัดการเลือกตั้งและต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย ถ้าหากไม่ทำหน้าที่และมาถึงบัดนี้เวลาของการไม่ทำหน้าที่ก็ล่วงเลยมานานแล้ว ยิ่งนานเท่าใดความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดทั้งทางการเมืองและทางอาญาก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ล่าสุดคุณศรีสุวรรณยดนักร้องแห่งยุคก็แสดงท่าทีว่าถ้าไม่รีบเลือกตั้งก็จำเป็นต้องดำเนินคดี ในขณะที่พรรคการเมืองและองค์กรประชาชนก็กำลังเตรียมการที่จะฟ้องศาลให้บังคับ ครม. จัดให้มีการเลือกตั้ง รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาและดำเนินการให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน ครม. ด้วย
ข้อสาม นอกจากเวลาที่จะต้องจัดการเลือกตั้งผ่านพ้นมานานแล้ว เหตุผลที่พลเอกประยุทธ์เคยอ้างว่าบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยยังมีการแตกแยกและยังมีการชุมนุมอยู่นั้นฟังไม่ขึ้นเลย เพราะที่ผ่านมาก็มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทั่วประเทศมาแล้ว มีการเลือกตั้งซ่อมกันมาแล้ว มีการเลือกตั้ง อบจ. และ อบต. กันมาแล้ว ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ ดังนั้นข้ออ้างนี้จึงไม่มีเหตุผลที่จะยื้อเลือกตั้งได้เลย
ดังนั้นจึงแทบจะฟันธงได้แล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนกลางปี 2565 และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือหลังเทศกาลปีใหม่ตรุษจีนและก่อนสงกรานต์ ซึ่งคนทั้งหลายมีความพร้อมเพรียงที่จะเลือกตั้ง และช่วงเวลานั้นก็คือเดือนมีนาคม 2565
และถ้ามีการเลือกตั้งก็จะมีเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งจากทุกฝ่ายไหลไปสู่ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งซึ่งมีผู้คำนวณว่าจะเป็นวงเงินไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องกู้เงินมาแจกให้เป็นภาระลูกหลาน ทั้งเป็นการช่วยสภาพคล่องของพื้นที่เลือกตั้งเป็นอย่างดีอีกด้วย
ก็คอยดูกัน