คอลัมนิสต์

อิทธิฤทธิ์ "รถไฟจีน-ลาว" ขนผักขายไทย ขบวนสินค้ามาเป็นกองทัพ

อิทธิฤทธิ์ "รถไฟจีน-ลาว" ขนผักขายไทย ขบวนสินค้ามาเป็นกองทัพ

15 ธ.ค. 2564

ผักยูนนานท่วมตลาด "รถไฟจีน-ลาว" แผลงฤทธิ์ ขนสินค้านานาชนิดมาจากหลายมณฑล ใช้ลาวเป็นทางผ่าน กระจายสินค้าเข้าไทย และอาเซียน คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

เปิดความจริงบนเส้นทาง “รถไฟจีน-ลาว” มีขบวนรถสินค้าสากลจากหลายมณฑลในจีนต่างมุ่งหน้าสู่ สปป.ลาว ไม่ใช่ขบวนขนผักยูนนานเท่านั้น

 

กลุ่มทุนจีนใช้บริการ “รถไฟจีน-ลาว” ส่งออกสินค้าโดยทางรถไฟผ่านลาว ไปยังไทย, เวียดนาม และอีกหลายประเทศ ประหยัดทั้งค่าขนส่งและระยะเวลา

 

ขบวนรถขนส่งขนผัก 33 ตู้ แค่หนังตัวอย่าง “รถไฟจีน-ลาว” สินค้านานาชนิดกำลังทยอยข้ามโขงมาสู่ตลาดเมืองไทย

 

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ความยาว 1,035 กม. จากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มีพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 ทางรถไฟสายนี้ มีทั้งรถขบวนโดยสาร และขบวนขนส่งสินค้า

ระยะแรกนี้ รถไฟขบวนโดยสาร ยังไม่เชื่อมต่อกัน เนื่องจากจีนปิดประเทศ รถไฟฟูซิ่งของจีนจึงวิ่งบริการจากคุนหมิงมาถึงบ่อหาน เช่นเดียวกัน รถไฟขบวนล้านช้างของลาวก็วิ่งจากนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงบ่อเต็น

 

ขณะที่รถไฟขบวนขนส่งสินค้า สามารถวิ่งข้ามพรมแดนจีน-ลาวได้ ฉะนั้น ผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว ปรากฏว่า รถไฟขนส่งสินค้าสากลจากมณฑลกวางโจว ,มณฑลเสฉวน, มณฑลฟูเจี้ยน และมณฑลเจ้อเจียง ต่างวิ่งผ่านนครคุนหมิง มาตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาว โดยมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์

 

สินค้าจีนที่ถูกลำเลียงมาบนเส้นทาง “รถไฟจีน-ลาว” ถูกเก็บไว้ในคลังสินค้าที่ สปป.ลาว และเตรียมกระจายสินค้าเหล่านี้ไปยังประเทศต่างๆในอาเซียน รวมถึงไทยด้วย


‘รถไฟขนผัก’

ข่าวใหญ่ในไทยชั่วโมงนี้ “รถไฟจีน-ลาว” แผลงฤทธิ์ผักผลไม้ท่วมตลาดไทย แต่ในข้อเท็จจริง ยังมีแค่ผักยูนนาน ที่มากับรถไฟขบวนสินค้า 33 ตู้คอนเทนเนอร์

ฝ่ายไทยเองหวังจะใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านลาวเข้าไปยังจีน แต่พอเปิดใช้จริงๆ กลายเป็นว่า จีนได้ใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าผ่านลาวมายังไทยก่อน

รถไฟขนผัก เที่ยวปฐมฤกษ์จากคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์

รายงานจากศุลกากรหนองคายพบว่า ช่วงวันที่ 7-8 ธ.ค.2564 มีการนำสินค้าผักจากจีนเข้ามาแล้ว 33 ตู้ (บรรจุตู้ละ 20 ตัน) โดยผักเหล่านี้ถูกส่งไปยังตลาดไท ที่มีคนจีนเป็นเจ้าของพื้นที่เช่าเพื่อกระจายสินค้าในตลาดมากกว่า 20 ราย

 

ย้อนไปดูข่าวสารในจีนจากเพจรู้จีนตามอรัญญา ซึ่งแอดมินเพจเป็นนักข่าวจีนที่พูดภาษาไทยได้คล่อง โดยเธอได้แปลข่าวเรื่องรถไฟขนผักยูนนานมายัง สปป.ลาว

 

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2564 รถไฟขนส่งห่วงโซ่ความเย็นระหว่างประเทศขบวนแรก เริ่มเดินรถตามเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวอย่างเป็นทางการ โดยออกจากด่านสินค้าระหว่างประเทศเถิงจวิ้น ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ถึงนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อ 5 ธ.ค.2564

 

รถไฟขนส่งขบวนนี้ได้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ห่วงโซ่ความเย็นจำนวน 33 ตู้ด้วยกัน ซึ่งภายในล้วนแต่เป็นพืชผักขึ้นชื่อในท้องถิ่นของยูนนาน

 

วันที่ 7 ธ.ค.2564 ในโซเชียลไทยได้แชร์ภาพเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชหนองคาย กำลังตรวจผักจีนที่นำข้ามมาจากฝั่งลาว โดยรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์นับสิบคัน

 

รถไฟขบวนบรรทุกสินค้าใช้ความเร็ว 120 ก.ม.ต่อชั่วโมง ระยะทางจากคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์ใช้เวลา 24 ชั่วโมง เทียบกับการขนส่งมาทางเรือจากคุนหมิง ล่องตามแม่น้ำโขงมาขึ้นที่ด่านเชียงแสน จะต้องใช้เวลา 2-3 วัน

 

ดังนั้น การขนส่งทางรถไฟย่นระยะเวลาการเดินทาง แถมค่าใช้จ่ายถูกกว่าขนส่งทางเรือ จึงไม่แปลกที่ผักจากยูนนานจึงทะลักเข้ามาไทยมากมาย

 

‘ทัพม้าเหล็กขนส่งสินค้า’

นับแต่มีพิธีเปิดเส้นทาง “รถไฟจีน-ลาว” อย่างเป็นทางการ ได้มีรถไฟขบวนขนส่งสินค้าเที่ยวแรก จากนครหลวงจันทน์ ไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน โดยบรรทุกยางพาราทั้งขบวน

 

แต่ที่มีความคึกคักยิ่งคือ รถไฟขบวนขนส่งสินค้าสากล จากมณฑลต่างๆในประเทศจีน กำลังมุ่งหน้ามายังประเทศลาว

 

3 ธ.ค.2564 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสากล ออกจากเขตอ่าวใหญ่ นครเสินเจิ้น และนครกวางโจว มุ่งหน้าสู่นครคุนหมิง หลังจากนั้น จะใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน มายังนครหลวงเวียงจันทน์

ผักจากยูนนาน ที่ด่านตรวจพืชหนองคาย ก่อนส่งเข้าตลาดไท

4 ธ.ค.2564 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าสากล ออกจากนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เดินทางสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ใช้เวลา 72 ชั่วโมง ขบวนรถไฟดังกล่าวมี 35 ตู้ และบรรทุกสินค้า 350 ตัน อาทิอะไหล่รถยนต์ ,ผ้า, ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ ฯลฯ

 

นี่คือหนังตัวอย่างของขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ซึ่งปลายทางของสินค้าเหล่านี้คือ ไทยและประเทศในอาเซียน สปป.ลาวเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น