ทำความรู้จัก "ศาลทหาร" องค์กรนี้...มีไว้ทำไม
คดีน้องจูน ที่ถูกนายทหารอดีตสามีทำร้ายบาดเจ็บสาหัสและ "ศาลทหาร"ตัดสินจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญานายทหารคนดังกล่าวมีเสียงวิจารณ์ตามมามากมายเป็นไปตามมุมมองของแต่ละคน อย่างไรก็ตามหากกล่าวถึง ศาลทหาร ยังมีหลายคนไม่มักคุ้น จึงควรมาทำความรู้จักองค์กรนี้กัน
กลับมาเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้งท่ามกลางเสียงวิจารณ์กับคดีน้องจูน นางสาวสุกฤตา สุภานิล ถูก ร.ต. ภาณุพงศ์ เจริญศรี หรือ หมวดแบงค์ อายุ 24 ปี นายทหารสังกัดศูนย์การทหารราบ ค่ายธนรัชต์ ปราณบุรี อดีตสามี ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บอาการสาหัสกะโหลกศีรษะส่วนหน้าแตกยุบ เบ้าตาด้านซ้ายแตก สมองบวม จนต้องเจาะคอเพื่อช่วยชีวิต ต้องเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้งโดยที่น้องจูนสลบไปนาน 3 เดือน ปัจจุบันกลายเป็นคนพิการและเสียโฉม ซึ่งเหตุเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค 64 ศาลมณฑลทหารบกที่ 15 ได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งหมวดแบงค์ ถูกอัยการทหารฟ้อง 3 ข้อหา ข้อหาพยายามฆ่า ข้อหาอาวุธปืน และข้อหาชิงทรัพย์
โดย"ศาลทหาร" พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะฆ่า แต่เป็นการทำร้ายร่างกายเนื่องจากบันดาลโทสะ จึงพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 12,500 บาท ส่วนอีก 2 ข้อหา คือ ข้อหาอาวุธปืน และข้อหาชิงทรัพย์ นำสืบไม่ได้ ยกประโยชน์ให้จำเลย และคดีนี้ถือว่าสิ้นสุดแล้ว เนื่องจากมีเพียงศาลเดียวเพราะว่าในขณะเกิดเหตุมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก
หากกล่าวถึง"ศาลทหาร" แล้ว หลายคนยังอาจไม่คุ้นหูหรือรู้จักเหมือนกับ ศาลยุติธรรมทั่วไป เราลองมาทำความรู้จัก "ศาลทหาร" ว่าตั้งขึ้นเพื่ออะไรและมีบทบาท หน้าที่ อย่างไรบ้าง
ความเป็นมา "ศาลทหาร"
จากเอกสารวิชาการ เรื่องหลักนิติธรรมกับตุลาการและวิธีพิจารณาคดีใน"ศาลทหาร"จัดทำโดยพลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ เป็นรายงานส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 4 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า "ศาลทหาร" ได้มีขึ้นเป็นของคู่กันมาตั้งแต่มีการทหารไว้ป้องกันประเทศ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบบ "ศาลทหารไทย" ปรากฏตามกฎหมายลักษณะขบฎศึกจุลศักราช ๗๙๖ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีศาลกลาโหม ชำระความที่เกี่ยวกับทหารและยังชำระความพลเรือนด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสมุหพระกลาโหมนั้นมิได้มีเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะการบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลที่ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมีทั้งศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และศาลในหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วยศาลกลาโหมจึงมีลักษณะเป็นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน ดังนั้นแนวคิดการจัดตั้ง "ศาลทหาร" แรกเริ่มเดิมทีก็เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
เมื่อปี พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงในเรื่องการศาลทั้งหมด โดยให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น และรวบรวมศาลซึ่งกระจัดกระจายสังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เข้ามาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนหมดสิ้นทุกศาล ยกเว้นแต่เพียง"ศาลทหาร" เพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม(จนถึงปัจจุบัน) ศาลในประเทศไทยจึงแบ่งได้เป็นศาลกระทรวงยุติธรรมกับ"ศาลทหาร"นับแต่นั้นมา (ต่อมาในส่วนของศาลยุติธรรมได้แยกออกจากกระทรวงยุติธรรม )
ตั้ง "ศาลทหาร" เพื่อให้ทหารมีความประพฤติอยู่ในวินัยทหาร
การจัดตั้ง "ศาลทหาร" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธ ถูกฝึกฝนให้ปฏิบัติการรบ การสงคราม มีความประพฤติที่อยู่ในแบบธรรมเนียมทหารหรือวินัยทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของทหาร ไม่กระทำความผิดอาญาต่อประชาชนทั่วไปหรือทหารด้วยกันเอง
" ศาลทหาร" ต้องลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด
เอกสารวิชาการ ยังระบุว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของ "ศาลทหาร" จะต้องดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเฉียบขาด เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ทั้งในยามบ้านเมืองปกติและไม่ปกติทั้งนี้ "ศาลทหาร" มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจ "ศาลทหาร" ในขณะกระทำผิด นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีอย่างอื่นได้อีกตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติเพิ่มเติม
ยกตัวอย่างกรณี คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ให้บรรดาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107ถึงมาตรา 112 ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึง มาตรา 118 อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของ "ศาลทหาร"
"ตุลาการศาลทหาร"
"ตุลาการศาลทหาร" เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีใน "ศาลทหาร"กระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
"ตุลาการศาลทหาร" มี 2 ประเภท
1. ตุลาการพระธรรมนูญ
เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายชั้นปริญญาตรีขึ้นไปและใช้ความรู้ทางกฎหมายเป็นประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นตุลาการศาลทหารมาแล้วซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องมีชั้นยศตั้งแต่พันโทขึ้นไป
2.ตุลาการทหาร เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่าง ๆ ในพื้นที่ของศาลทหารนั้น มาเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดี ได้แก่ นายทหารชั้นสัญญาบัตรซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่สำเร็จวิชากฎหมาย แต่เข้าร่วมเป็นองค์คณะตุลาการ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทหารได้ทราบถึงมูลเหตุแห่งการกระทำผิด มีส่วนพิจารณาลงโทษ ผู้กระทำผิดตามความเหมาะสม และหาทางป้องกันมิให้มีการกระทำผิดเช่นนั้นเกิดขึ้นในหน่วยทหารที่ตนเองรับผิดชอบ มีผลดีต่อการปกครองบังคับบัญชาทหาร
เพราะหากปล่อยให้ทหารกระทำผิด ทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธย่อมมีสภาพไม่แตกต่างจากกองโจร
พระราชดำรัสของในหลวง ร.10 พระราชทานแก่คณะตุลาการศาลทหาร เน้นย้ำทำหน้าที่เพื่อความยุติธรรม
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะตุลาการศาลทหารสูงสุด ตุลาการศาลทหารกลาง ตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต
“การอำนวยการหรือปฏิบัติการทางด้านความยุติธรรม และทางด้านกฎหมายนั้น ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความสุข ความสงบ และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติและประชาชน หน้าที่ของศาลทหาร ตุลาการศาลทหาร ก็มีระบุไว้แล้วในกฎหมาย แต่ทหารนั้นเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนและมีการจัดตั้งเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่แล้ว
ทางทฤษฎี มนุษย์เราก็สามารถจะทำความผิดได้ หรือมีความผิด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอาญาทหารหรือวินัยทหารก็ต้องมีการรักษา มีการให้ความยุติธรรมและมีการแก้ไขในการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของผู้กระทำความผิด
เพราะฉะนั้น การอำนวยการยุติธรรมขั้นตอนที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ในด้านกฎหมาย ตลอดจนมีความเข้าใจในชีวิต ในสังคม หรือในอุดมการณ์ของชาติเพราะว่ากฎหมายนั้น ใช้ให้ถูกก็ดี ใช้ให้ไม่ถูกก็เสียมาก เพราะฉะนั้นท่านเป็นผู้มีความรู้มีความสามารถมีวุฒิภาวะแล้วก็ย่อมพิจารณาออกว่า อะไรควร อะไรไม่ควร และนำกฎหมายไปใช้ให้ถูกต้องเพื่อระงับทุกข์ แก้ไขในเรื่องที่ไม่ถูก หรือมีบทพิพากษาให้เกิดความยุติธรรมได้”
จริยธรรมกำกับ "ตุลาการศาลทหาร"
กรมพระธรรมนูญ ได้กำหนดมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของตุลาการทหารเพื่อยึดถือปฏิบัติ มีสาระสำคัญดังนี้
-ตุลาการทหารต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติ ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่พึงฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาคและมีเมตตาธรรม
-ต้องพิจารณาคดีโดยไตร่ตรองสุขุม รอบคอบ และไม่ชักช้า
-ละเว้นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดี ไม่วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่คู่ความหรือบุคคลภายนอก
-ต้องรักษาความลับของสำนวนคดีของทางราชการมิให้รั่วไหล
-ต้องไม่ให้คำมั่นหรือบีบบังคับให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อเสนอใด ๆ หรือให้จำเลยรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ
- การบันทึกคำเบิกความ คำแถลง และรายงานพิจารณา ต้องให้ได้ความชัดแจ้งตรงตามประเด็นข้อพิพาท ถูกต้องตามคำเบิกความและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
- การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีเรื่องใด ต้องละวางจากอคติทั้งปวงเกี่ยวกับคู่ความหรือคดีความเรื่องนั้น ต้องวินิจฉัยไม่ชักช้าและเป็นธรรม
- ตุลาการทหารต้องประพฤติปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งต้องอยู่ในกรอบของศีลธรรม ยึดถือจริยธรรมและประเพณีอันดีงามของตุลาการทหาร
- ตุลาการทหารต้องไม่ยินยอมให้บุคคลใดในครอบครัวหรือบุคคลอื่นใดก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือผู้อื่น และต้องไม่ยินยอมให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ
-ตุลาการทหารและคู่สมรสต้องไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ จากคู่ความหรือจากบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการทหาร และต้องดูแลให้บุคคลในครอบครัวปฏิบัติเช่นเดียวกัน
-ตุลาการทหารพึงละเว้นการคบหาคู่ความ หรือบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับคดีความ
องค์คณะตุลาการศาลทหาร
- ศาลทหารชั้นต้น ได้แก่ ศาลจังหวัดทหารต้องมีตุลาการ 3 นายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตร 2 นาย ตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย หรือศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร ต้องมีตุลาการ 3 นายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตร 2 นาย ตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย
- ศาลทหารกลาง ต้องมีตุลาการ 5นาย เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นนายพล 1หรือ 2 นาย นายทหารชั้นนายพัน นายนาวา หรือนายนาวาอากาศขึ้นไป 1 หรือ 2 นาย ตุลาการพระธรรมนูญ 2 นาย
-ศาลทหารสูงสุด ต้องมีตุลาการ 5 นายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือนายทหารชั้นนายพล 2 นาย ตุลาการพระธรรมนูญ 3 นาย
จะเห็นได้ว่า "ศาลทหาร" ในเวลาบ้านเมืองปกติจะมี 3 ชั้นศาลเหมือนกับศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือน
นอกจากนี้ยังมี "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" จะเป็นในช่วงเวลาของการมีสงครามหรือการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้"ศาลทหาร"มีอำนาจพิพากษาคดีอาญาอื่น ๆ เพิ่มเติมได้และคดีสิ้นสุดภายในชั้นศาลเดียวคือศาลทหารชั้นต้น
โดยสรุป"ศาลทหาร"ซึ่งเป็นองค์กรใช้อำนาจตุลาการ ดำรงอยู่ในกระบวนการยุติธรรมกับสังคมไทยมายาวนาน แม้จะมีแนวคิดการจัดตั้ง "ศาลทหาร" ตามแนวทางเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติอันเป็นประโยชน์ในทางสาธารณะก็ตามแต่ขณะเดียวกันได้นำแนวคิดที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีใน "ศาลทหาร" ด้วย
ด้วยเหตุนี้หาก "ศาลทหาร" ยังยึดถือและนำหลักนิติธรรมมาปรับใช้กับการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อได้อย่างยิ่งว่า "ศาลทหาร" จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยได้ตลอดไป