ศึกเลเก่ก่อ "กะเหรี่ยงKNU" รบพม่าพิทักษ์ที่มั่นฝ่ายต้านมินอ่องหล่าย
ไฟสงครามชายแดนตะวันตก "กะเหรี่ยงKNU" จับมือกะเหรี่ยงKNDO และทหารประชาชนPDF รบทหารพม่า ปกป้องเมืองใหม่เลเก่ก่อ ที่มั่นฝ่ายต้านเผด็จการมินอ่องหล่าย คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ศึกชิงเมืองใหม่เลเก่ก่อ "กะเหรี่ยงKNU" กองพลน้อยที่ 6 เปิดฉากรบทหารเมียนมา ปกป้องประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการมินอ่องหล่าย
แนวรบด้านตะวันตกยังไม่เปลี่ยนแปลง “กะเหรี่ยงKNU” ผนึกกองกำลังกะเหรี่ยงKNDOและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ถล่มทหารเมียนมา เจ็บตายเกลื่อนสมรภูมิเลเก่ก่อ
“กะเหรี่ยงKNU” รบทหารเมียนมา ส่งผลให้สงครามชายแดนรอบใหม่ มีผู้อพยพหนีตายข้ามน้ำเมยมาพึ่งไทยหลายพันคน
ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2564 เป็นต้นมา ทหารกะเหรี่ยงKNU กองพันที่ 27 สังกัดกองพลน้อยที่ 6 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เปิดฉากรบทหารเมียนมา ในพื้นที่เมืองใหม่เลเก่ก่อ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำเมย มาพักอาศัยอยู่ในฝั่งไทย ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก
สาเหตุที่ทำให้ทหาร “กะเหรี่ยงKNU” ต้องรบทหารเมียนมา ก็เนื่องมาจากหน่วยข่าวกรองรัฐบาลทหารของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่องหล่าย สืบทราบว่า ฝ่ายสนับสนุนออง ซานซูจี ได้มาซ่องสุมกำลังอยู่ในเมืองใหม่เลเก่ก่อ จึงพยายามจะเข้ามาจับกุม และจัดตั้งฐานปฏิบัติการทหารในเมืองใหม่นี้ ซึ่งทหารกะเหรี่ยงKNU ที่ดูแลพื้นที่นี้อยู่ ยอมให้ทำเช่นนั้นไม่ได้ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น
ศึกรบชายแดนหนนี้ดูท่าจะไม่จบโดยง่าย เมื่อทหารเมียนมาไม่ต้องการให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจของกลุ่มทุนจีนใน จ.เมียวดี
‘สมรภูมิเลเก่ก่อ’
ไฟสงครามชายแดนมาเร็วกว่ากำหนด “กะเหรี่ยงKNU” จำต้องเปิดศึกทหารเมียนมา ทั้งที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ยังสืบต่อเปิดการเจรจาหยุดยิงกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ก็เพราะทหารเมียนมารุกเข้ามาในเขตอิทธิพล และมีทีท่าจะปักหลักอยู่ยาว
ช่วงต้นเดือน ธ.ค.2564 ทหารเมียนมา สังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 560 กองบัญชาการทหารกองทัพน้อยตะวันออกเฉียงใต้ มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ได้เคลื่อนกำลังเข้ามาตรวจค้นหาสมาชิกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า(NUG) ที่ใช้พื้นที่เมืองใหม่เลเก่ก่อ เป็นฐานปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง
เบื้องต้นทหารเมียนมาประสานกับผู้นำฝ่ายการเมืองขององค์กร KNU เรียบร้อยแล้ว ทหารเมียนมาได้จับกุมสมาชิก NUG ไปจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ยอมถอนกำลังออกจากเมืองใหม่ ทหารกะเหรี่ยงKNU จึงกำลังทหารเข้ากดดันให้ถอยออกไป
สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า เมืองใหม่เลเก่ก่อ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Nippon Foundation ของญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เพื่อเป็นที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัยที่กลับมาจากไทย และผู้พลัดถิ่นภายในตามแนวชายแดน หลังจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพระดับสหภาพกับรัฐบาลพลเรือนของเต็งเส่งเมื่อหลายปีก่อน
เมืองใหม่เลเก่ก่อ มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่กว่า 3,000 คน 786 ครอบครัว ซึ่งควบคุมโดย กองพันที่ 27 สังกัดกองพลน้อยที่ 6 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และเมืองนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของ จ.เมียวดี 15 กม. และอยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 1 กม.
หลัง พล.อ.อาวุโสมิน อ่องหล่าย ก่อรัฐประหาร ได้มีสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของอองซาน ซูจี ได้หลบหนีมาลี้ภัยการเมืองในเขตอิทธิพลของทหารกะเหรี่ยงKNU รวมถึงเมืองใหม่เลเก่ก่อ
รัฐบาลทหารเมียนมากังวลเรื่องความมั่นคง เพราะเมืองใหม่เลเก่ก่ออยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทย-เมียน ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก
‘ที่มั่นฝ่ายซูจี’
คำว่าทหาร “กะเหรี่ยงKNU” หมายถึงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ที่ขึ้นตรงต่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) แบ่งการบริหารพื้นที่เป็น 7 กองพลน้อย
เฉพาะทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ ใน จ.ดูปลายา และ จ.กอกะเร็ก ตรงข้าม อ.แม่สอด, อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก อยู่ในการดูแลของกองพลน้อยที่ 6
ขณะเดียวกัน กองกำลังพิทักษ์กะเหรี่ยงแห่งชาติ(KNDO) ก็มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงตอนใต้ ด้านตรงข้าม อ.พบพระ จ.ตาก ภายใต้การนำของพล.ต.เนอดา โบ เมี้ยะ ผู้บัญชาการกะเหรี่ยงKNDO
ช่วงเดือน เม.ย.2564 มีนักศึกษาและประชาชนหลบหนีภัยเผด็จการมาเข้ารับการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธ ในเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงKNDO และพวกเขาเหล่านี้ ได้เข้าร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(People’s Defense Force-PDF) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ซึ่งมีพรรคเอ็นแอลดีของอองซาน ซูจี เป็นแกนหลัก
ดังนั้น ศึกปกป้องเมืองใหม่เล่เก่ก่อ ทหารกะเหรี่ยงKNDO และทหารPDF จึงร่วมกับทหารกะเหรี่ยงKNU เปิดยุทธการขับไล่ทหารเมียนมา และทหารกะเหรี่ยงBGF (กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธที่ทำหน้าที่ทหารชายแดน) ออกจากพื้นที่
สงครามชายแดนรอบใหม่ ดูท่าจะยืดเยื้อ ทหารเมียนมาจะต้องยึดเลเก่ก่อให้ได้ เพื่อสถาปนาความมั่นคงตามแนวชายแดน และไม่ให้กระทบเขตเศรษฐกิจพิเศษของกลุ่มทุนจีน ที่ จ.เมียวดี