ผ่าขุมกำลัง "กะเหรี่ยง KNU" 7 กองพล พร้อมรบทหารเมียนมา
ศึกเลเก่ก่อ มินอ่องหล่ายทุ่มกำลังรบ "กะเหรี่ยง KNU" มีคำสั่ง 7 กองพลยิงได้ทันที หากทหารเมียนมารุกล้ำเขตควบคุม ส่องลึกขุมกำลัง KNU อยู่ตรงไหนบ้าง ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
แนวรบตะวันตก “กะเหรี่ยง KNU” 7 กองพลน้อยมีคำสั่งยิงได้ทันที หากทหารเมียนมารุกล้ำเข้ามาในเขตควบคุมของ KNU/KNLA
จากศึกเลเก่ก่อ “กะเหรี่ยง KNU” เตรียมพร้อมรบตลอดแนวพรมแดนเมียนมา-ไทย เฉพาะเขตที่มั่นกองพลน้อยที่ 5 เป้าหมายต่อไปของทหารเมียนมา
สงครามหน้าแล้งส่อเค้ารุนแรง “กะเหรี่ยง KNU” อาจพับแผนสันติภาพ ถ้าเผด็จการมินอ่องหล่ายเปิดเกมรุกใหญ่ทางทหาร
วันที่ 20 ธ.ค.2564 สำนักข่าว Salween Press รายงานว่า ได้มีการประชุมฉุกเฉินระหว่างระหว่างผู้นำของสหภาพแห่งชาติ
กะเหรี่ยง(KNU) กับนายทหารระดับสูงแห่งกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) กรณีทหารเมียนมายกกำลังบุกรุก เมืองใหม่เลเก่ก่อ เขตควบคุมของกองพลน้อยที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.เป็นต้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าว กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) จึงมีข้อตกลงกันว่าหากทหารเมียนมารุกล้ำพื้นที่ของ KNU ทุกกองพลมีความชอบธรรมที่จะปกป้องประชาชนของตนเอง จากที่ก่อนหน้านี้ บางกองพลบอกว่ายิงได้ แต่บางกองพลบอกว่ายังจะไม่ยิง
ขณะนี้ ทหารเมียนมา และทหารกะเหรี่ยง BGF ได้เสริมกำลังเข้ามาที่ จ.เมียวดี โดยฝ่ายกะเหรี่ยง KNU กังวลว่า จะมีการใช้ปฏิบัติการทางอากาศในเขตเมืองใหม่เลเก่ก่อ เหมือนการสู้รบที่ จ.ผาปูน เมื่อหลายเดือนก่อน
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของทหารเมียนมา ในพื้นที่ของกองพลน้อยที่ 5 จ.ผาปูน หรือ จ.มูตรอ หลังเกิดเหตุการณ์ทหารกะเหรี่ยง KNU/KNLA ซุ่มโจมตีทหารกะเหรี่ยง BGF เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564
‘สันติภาพหรือสงคราม’
ประเด็นบางกองพลยิง หรือบางกองพลไม่ยิงของทหาร “กะเหรี่ยง KNU” เป็นการต่อสู้สองความคิดสองแนวทางในหมู่ชาวกะเหรี่ยง ภายใต้การนำของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
เนื่องจาก KNU เป็น 1 ใน 10 กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเต็งเส่ง และหลังรัฐประหาร ผู้นำ KNU แถลงว่า ขอยุติกระบวนการเจรจาสันติภาพไว้ชั่วคราว
ภายในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนำโดย KNLA กองพลน้อยที่ 7 จ.ผาอัน มี พล.อ.มูตูเซพอ เป็นฝ่ายริเริ่มการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเต็งเส่ง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง
KNLA กองพลน้อยที่ 1,2,3,4,6 ล้วนเห็นด้วยกับแนวทางของ พล.อ.มูตูเซพอ เพราะรบกับทหารเมียนมามานานแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงกลับย่ำแย่ลง
อีกกลุ่มหนึ่งคือ KNLA กองพลน้อยที่ 5 จ.ผาปูน หรือ จ.มูตรอ นำโดยนอว์ซิปโปรา เส่ง รองประธาน KNU และ พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการ KNLA ซึ่งไม่ไว้ใจในการร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา เรียกร้องให้เมียนมาเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยร่วมมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม กองพลน้อยที่ 5 ได้ร่วมลงนามหยุดยิง ช่วงที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาลในปี 2559 เพราะประเมินว่า อองซานซูจี จะผลักดันให้แผนสันติภาพมีความคืบหน้า
‘กะเหรี่ยงหลายก๊ก’
พูดถึงกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไม่ได้มีแค่ “กะเหรี่ยง KNU” เท่านั้น หากแต่มีการแยกตัวออกไปตั้งกองกำลังของตัวเอง ประกอบด้วย 5 ก๊ก คือ 1.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA) 2.กะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) 3.สภา
สันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (KNLA-PC) 4.กองกำลังพิทักษ์แห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) 5.กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) อดีตทหารกะเหรี่ยงพุทธ ที่เข้าสังกัดกองทัพเมียนมา
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA) เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีกองกำลังติดอาวุธที่เข้มแข็งที่สุด ซึ่งแบ่งการปกครองพื้นเป็น 7 กองพลน้อย
1.KNLA กองพลน้อยที่ 1 จ.ดูตะทู หรือ จ.สะเทิม ควบคุมพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงบางส่วน และซ้อนกับรัฐมอญตอนบน
2.KNLA กองพลน้อยที่ 2 จ.ตองอู ควบคุมพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงตอนบน และภาคพะโคด้านตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน
3.KNLA กองพลน้อยที่ 3 จ.เกลอะ-ลวีทู ควบคุมพื้นที่ภาคพะโคด้านตะวันออกบางส่วน
4.KNLA กองพลน้อยที่ 4 จ.มะริด-ทวาย ควบคุมพื้นที่ภาคตะนาวศรี ตรงข้าม จ.ประจวบคีรีขันธ์
5.KNLA กองพลน้อยที่ 5 จ.มูตรอ หรือ จ.ผาปูน ควบคุมรัฐกะเหรี่ยงตอนเหนือ ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน
6.KNLA กองพลน้อยที่ 6 จ.ดูปลายา ควบคุมพื้นที่ จ.กอกะเร็ก ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง และตอนใต้ของรัฐมอญ ตรงข้าม จ.ตาก และ จ.กาญจนบุรี
7.KNLA กองพลน้อยที่ 7 จ.ผาอัน ควบคุมพื้นที่ตอนกลางของรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม จ.กาญจนบุรี
นี่คือภาพรวมของ “กะเหรี่ยง KNU” ที่มีทั้งองค์การเมือง และกองกำลังติดอาวุธ โดยช่วงหน้าแล้งนี้ น่าจะเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของกองทัพ KNU/KNLA อีกครั้ง