"ปีแห่งการทุจริต"เบ่งบาน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันชี้ปีสีดำ"ตำรวจ-อัยการ"
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในรอบปี 2564 ชี้เป็นปีสีดำของตำรวจ-อัยการ ขณะที่เชื้อร้ายทุจริตกระจายแข่งกับไวรัสโควิด -19
ไม่เพียงแต่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหนักหน่วง แต่สำหรับประเทศไทย ยังมีปัญหาการ ทุจริตคอร์รัปชัน เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายแพร่กระจายกัดกินไปทุกภาคส่วนของประเทศ
โดยเฉพาะรอบปี 2564 เชื้อร้ายของการทุจริตคอร์รัปชันดูจะลุกลามมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
เหตุที่มองได้เช่นนี้ เนื่องจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย ) หรือ ACT ได้มีการเฝ้าติดตามตรวจสอบโดยพบข้อมูลว่า "สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในรอบปี 2564 แย่ลง"
"สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในรอบปีที่ผ่านมาถือว่าย่ำแย่ในสายตาประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ สะท้อนว่าสถานการณ์ตลอด 20 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย มีบางเรื่องดีขึ้น บางเรื่องกลับแย่ลง ประเมินง่ายๆจาก ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ของประเทศไทย หรือ CPI : Corruption Perception Index มีค่าต่ำ "ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เริ่มต้นกล่าวกับ "คมชัดลึกออนไลน์"
สถานการณ์คอร์รัปชันในรอบปีย่ำแย่
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย ) ขยายความว่า รอบปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนมีเรื่องแย่ๆ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆแต่เป็นการโกงอย่างเป็นระบบ โกงทั้งประเทศ สร้างความรำคาญใจให้ประชาชน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโครงการเสาไฟฟ้ากินรี โครงการโซลาร์เซล หรือโครงการก่อสร้างถนนแต่เส้นทางวิ่งลงท้องนา วิ่งลงไปในหนองบึง เรื่องนี้มีการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง ประชาชนเห็นกันชัดเจน นี่คือความเสียหาย
"ดร.มานะ" บอกต่อไปว่า เรายังเห็นการทุจริตเล็กๆน้อยๆแต่เกิดขึ้นมากในวงราชการ เช่น หน่วยงานราชการ อำเภอ สำนักงานเขต อบต. ประชาชนจะติดต่อขออนุญาตต่อเติมบ้าน ประกอบกิจการ ทำร้านค้า โดนเจ้าหน้าที่รีดไถเรียกค่าอำนวยความสะดวก ค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือ แม้แต่การขับรถตามท้องถนนโดนตำรวจกระทำการรีดไถ เรื่องเหล่านี้มีการเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์ทุจริตไม่ได้ดีขึ้นเลย
หึ่งกมธ.ตบทรัพย์ข้าราชการ
"เรื่องใหญ่ในกระบวนการนิติบัญญัติ ที่คนไทยเห็นตลอดเวลามักเกิดขึ้นทุกปี ระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ คือ กรณีข้าราชการโดนรีดไถในสภาไม่ใช่เรื่องลับอีกต่อไป เป็นเรื่องถูกเปิดโปงอย่างโจ๋งครึ่ม และมีการโยกงบประมาณเหล่านี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตน"
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ คดีสนามฟุตซอล ที่ทำให้ผอ.โรงเรียนกว่าร้อยคนต้องติดร่างแหแต่นักการเมืองใหญ่ระดับประเทศ ยังไม่แน่ใจ ว่าจะโดนลงโทษหรือไม่ จะติดคุกติดตารางหรือไม่
ปีสีดำของตำรวจ-อัยการ
ขณะที่เรื่องใหญ่ๆในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าเป็น กรณีบอส อยู่วิทยา คดีผกก.โจ้ เห็นได้ว่ากระบวนการทำงานของตำรวจ-อัยการมีปัญหามากมาย ในปีที่ผ่านมาจึงกลายเป็นปีสีดำของตำรวจ และอัยการ เราได้เห็นการดำเนินคดีล่าช้าในขั้นตอน ป.ป.ช. ขั้นตอนอัยการหลายคดี ตัวอย่างหนีไม่พ้น กรณีสนามฟุตซอล เ
ส่วนการคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจนั้น เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ทันทีที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประชาชนเดือดร้อนอยู่แล้ว แต่รัฐวิสาหกิจเอื้อประโยชน์เยียวยาให้กับเอกชนที่รับสัมปทาน เช่นกรณีของดิวตี้ฟรี ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ได้เห็นการประมูลที่น่าสงสัยในโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว สายสีส้ม สายสีม่วงใต้
"ปัญหาที่ต้องฉุกคิดและต้องเรียกร้องให้มีการทบทวน นั่นคือ การประมูลรถไฟทางคู่" ดร.มานะ ชี้โจทย์ปัญหานี้ไว้ต้องทบทวนโครงการ
ทุกภาคส่วนตื่นตัวร่วมตรวจสอบคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ดี "ดร.มานะ" ยังเห็นความหวังผ่านความพยายามจากทุกภาคส่วนที่กำลังตรวจสอบการทุจริต
"แต่สิ่งดีๆที่ผมเห็นในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็น ป.ป.ช.ทำงานเชิงรุกมากขึ้นซึ่งต้องปรบมือให้ ขณะเดียวกัน ผมได้เห็นป.ป.ช.บอกประชาชนมากขึ้นว่าคดีต่างๆไปถึงไหนไม่ว่าเป็นคดีใหญ่หรือคดีดังๆ"
พร้อมกันนี้ ได้เห็นความตื่นตัวภาคเอกชนมากขึ้น กรณีการเข้ามามีส่วนร่วมทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ยึดหลักการ ไม่โกงก็รวยได้
ทุกวันนี้ เราได้เห็นความตื่นตัวของสื่อมวลชนมีการทำข่าวเชิงเจาะลึกมากขึ้น มีการผลิตรายการเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตแทบทุกช่องทีวี รวมไปถึงสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโซเชียลอีกด้วย
เราได้เห็นความตื่นตัวของประชาชนให้ความสนใจคดีคอร์รัปชัน ด้วยการเปิดโปงข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันภาครัฐมีการเปิดตัวสนับสนุนเทคโนโลยีสื่อสารมากขึ้น มีการเปิดเผยข้อมูลสู่ระบบดิจิทัล ให้เป็นไปตามนโยบาย Digital Government มากขึ้น เพียงแต่ว่าวันนี้ข้อมูลกับเทคโนโลยีภาครัฐยังกระจัดกระจายไม่สามัคคีกัน จึงไม่ได้นำมาใช้ประโยขน์ในการพัฒนาประเทศหรือตรวจสอบสร้างความโปร่งใส มีข้อดีแต่มีข้อจำกัดตรงนี้ "
"พลังคนรุ่นใหม่" จุดเด่นปราบโกงรอบปี
"เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน" ชี้จุดเด่นที่สุดของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา คือ "พลังคนรุ่นใหม่" ที่มีความตื่นตัวออกมาส่งเสียงเรียกร้องพร้อมกับนำเสนอแนวทางไปสู่การปฏิบัติติดตามตรวจสอบการทุจริตมากขึ้น
"ตรงนี้เป็นเรื่องดี ถ้าทางรัฐบาลให้การสนับสนุนด้วยความเข้าใจ ประเทศชาติในวันข้างหน้าจะดีขึ้น " ดร.มานะ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ"พลังคนรุ่นใหม่"ต่อการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในรอบปี
ก้าวต่อไปขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
สำหรับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ดำเนินงานมาครบ 10 ปี โดย "ดร.มานะ" ยืนยันหลักการเดิมจะเป็นองค์กรพลังสังคมที่ขับเคลื่อนสังคมไทย ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นและออกมาช่วยต่อต้านการคอร์รัปชัน
อันดับแรก จับมือพันธมิตรและเครือข่ายมาทำงานร่วมกันมากขึ้นในทุกภาคส่วน ไมว่าเป็นความร่วมมือกับเครือข่ายเดิมที่ได้ทำงานเต็มที่แล้ว อย่างสภาอุตฯ สมาคมหอการค้า สมาคมธนาคารไทย เราได้รับความร่วมมือ มีความตื่นตัวนักธุรกิจจำนวนมาก เช่น ในกลุ่มธนาคาร ที่ทำงานโดยแบงก์ชาติ กลุ่มตลาดทุนที่นำโดยกลต. บริษัทที่จัดการหลักทรัพย์กองทุนรวม นอกจากเครือข่ายแล้ว เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมทำธุรกิจ ง่ายยิ่งขึ้น
อันดับสอง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันพยายามนำบิ๊กดาต้าของภาครัฐ มาผนวกกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างแพลทฟอร์ม อย่าง ACT Ai เปิดใช้การแล้วโดยให้ประชาชนเข้ามาดูข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมดย้อนหลังได้ 5 ปี
ขณะเดียวกันได้มีการสร้างแพลทฟอร์มตัวใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น "ขิงบ้านเรา" อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะถูกนำมาใช้ได้ในปี 2565 ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่องคกรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ ได้รู้เห็นว่าพื้นที่ของเขา เช่น การติดตั้งเสาไฟกินนรีในพื้นที่ตำบลราชาเทวะ ทำให้ผู้คนได้รับรู้ว่า ที่นี่มีงบประมาณอะไรบ้าง กำลังดำเนินโครงการอะไร ประชาชนเห็นข้อมูล ที่มีการวิเคราะห์ให้เข้าใจง่ายๆและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรชอบไม่ชอบ หรืออะไรที่เห็นว่าไม่โปร่งใส ด้วยวิธีนี้ ประชาชนเห็นประชาชนจะตรวจสอบง่าย
นอกจากนี้ "voice of change" ก็เป็นแอพพลิชันที่ทำให้ข้าราชการในหน่วยงาน อาจเป็นกรมที่ดิน กรมทางหลวง กรมชลประทาน ได้เห็นข้อมูลของหน่วยงานเขา และสามารถบอกได้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ อะไรไม่โปร่งใส
"อย่าลืมนะ ถ้าประชาชนในพื้นที่ ข้าราชการในหน่วยงาน เห็นแล้ว ช่วยกันพูดออกมา จะเป็นพลังสำคัญในการป้องกันคอร์รัปชัน" ดร. มานะ กล่าว
เครื่องมือตรวจสอบทุจริตมีเสียงตอบรับในทิศทางที่ดี
ผลจากการสร้างเครื่องมือตรวจสอบการทุจริต อย่างเช่น ACT Ai "ดร.มานะ" บอกว่า ได้รับเสียงตอบรับดีมาก สื่อมวลชน ประชาชน นักวิชาการ สามารถนำมาใช้ได้ เราเรียกว่าแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ว่า จับโกงง่ายๆด้วยปลายนิ้ว ถ้ามีโทรศัพท์ มีแท็ปเล็ต สามารถเข้ามาดูง่ายๆเลย ว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับเขาหรือไม่ หรือกรณีการอัดฉีดงบช่วงโควิด 4 แสนล้านบาท ประชาชนสามารถดูได้เลยว่าเขาได้รับประโยชน์หรือไม่ เงินที่กระจายลงมาทั่วถึงเป็นธรรมจริงหรือไม่ หรือตรงไหนเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง
อีกอย่างที่องค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจะดำเนินการต่อไป คือ สนับสนุนให้สื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกรูปแบบที่เราทำได้ จะพยายามเชิญชวนคนที่มีความรู้ มาช่วยให้ข้อมูลกับสังคมตลอดเวลาว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องที่ดี เรื่องไหนคือการพัฒนาประเทศ เรื่องไหนไม่โปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาล สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการอธิบายให้ประชาชน สื่อมวลชนได้เข้าใจ ทุกคนต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่กลัวคนโกง ต้องมีคนที่กล้าออกมาพูดเป็นแบบอย่างให้คนทั่วไป ตระหนักว่า ถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ประชาชน เป็นเรื่องความถูกต้อง ทุกคนมีสิทธิที่จะพูดได้" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้ "องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน" ต้องการส่งเสียงออกไปดังๆให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงการทำงานในรอบปี 2564 เพื่อจะผนึกกำลังความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ขจัดมะเร็งร้ายคอร์รัปชันให้ลดลงไปจากประเทศไทย