คอลัมนิสต์

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

05 ม.ค. 2565

จับตาสถานการณ์การเมืองไทยปีเสือ 2565.. ปีแห่งการชี้อนาคตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง หรือสั่นคลอนจนต้องยุบสภา ลาออก หรือนำไปสู่การเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง

 

ปี 2565 หรือปีเสือ.. มีการประเมินกันว่าสถานการณ์การเมืองปีนี้ น่าจะร้อนแรงมากกว่าทุกปีเพราะมีหลายปัจจัยและหลายปัญหาที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้

 

ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา การลาออก หรือแม้แต่การรัฐประหาร ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด “คมชัดลึก” ได้ร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2565 ซึ่งมีหลายประเด็นให้ชวนคิด วิเคราะห์และติดตามอย่างยิ่ง 

 

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

 

รศ.ดร.ยุทธพร เปิดประเด็นถึงสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2565 ว่า ปัญหาใหญ่ ๆ ทางการเมืองของไทยในปี 2565 นี้ยังคงรุมเร้ามากไม่ต่างจากปี 2564 แต่มี 3 ปัจจัยหลักที่จะทำให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือเรียกว่าเป็นการชี้อนาคตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ นั่นคือ 1.เสถียรภาพของรัฐบาล 2.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของรัฐบาล และ 3.ความชอบธรรมทางการเมือง 
 

 

ดังนั้น หากเจาะลึกลงไปในแต่ละปัจจัยที่กล่าวถึง ประการแรก เสถียรภาพของรัฐบาลก็จะมีทั้งในส่วนของเสถียรภาพในสภาและเสถียรภาพนอกสภา ซึ่งเสถียรภาพในสภานั้น ในปี 2565 นี้จะยิ่งมีอำนาจการต่อรองในพรรคร่วมรัฐบาลสูงมาก ขณะที่ในพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ด้วยกันเองยังมีปัญหาหลายก๊ก หลายก๊วนการเมือง ซึ่งในปี 64 เกิดเหตุการณ์สำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อล้มนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนนำไปสู่การปลดรัฐมนตรีออกจากรัฐบาล 2 คน รวมไปถึงกระแสรอยร้าวใน 3 ป. คงเป็นปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ 

 

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

 

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ก็มีปัญหา ยิ่งใกล้ถึงฤดูการเลือกตั้ง การเกิดเหตุการณ์สภาล่มก็จะยิ่งเห็นได้บ่อยครั้ง เพราะเป็นการต่อรองทางเกมการเมืองกับรัฐบาล ยิ่งถ้าการเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้นเท่าไร การเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลจะยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น เพราะการเข้าร่วมกับรัฐบาลนั้น เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า และการจะเรียกร้องให้ฝ่ายค้านมาประชุมให้ครบองค์ประชุมนั้น คงไม่ใช่เพราะฝ่ายที่ต้องรักษาสภาพการณ์คือรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก ฉะนั้น การจะเกิดเสถียรภาพในสภายังไม่มี 

 

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

 

ส่วนเสถียรภาพนอกระบบ ในปี 2565 นี้จะยังคงมีการเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมของมวลชนจะกลับมาอีกครั้ง จากการจับกุมคุมขังแกนนำเหล่านี้ รวมไปถึงมิติปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาโควิด ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัญหาเหล่านี้จะนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องของประชาชนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่การใช้อำนาจรัฐต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในท้องถิ่น จะทำให้เกิดการชุมนุมขึ้น เช่น กรณีจะนะรักษ์ถิ่น การชุมนุมของมวลชนจากหลายภาคส่วนและจากหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลเสียต่อรัฐบาลได้

 

ประการที่สอง ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศ  เช่น ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาโควิด และ "โอไมครอน" ที่มีการระบาดรอบใหม่และยืดเยื้อ ปัญหาเหล่านี้ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน จะเกิดผลต่อทางการเมือง แม้รัฐบาลจะกู้เงินจำนวนมากมาแก้ปัญหาและเยียวยา หรือแม้แต่ขยายเพดานหนี้สาธารณะไปที่ร้อยละ 70 จะไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้ และจะโยงไปสู่ปัจจัยที่สามคือความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งจะพบว่าในปี 2564 นั้นมีเสียงเรียกร้องอย่างมากว่านายกฯ จะลาออกเมื่อไร จะยุบสภาไหม แต่นายกฯออกมายืนยันว่าจะอยู่ครบวาระและอยู่อีก 4 ปี ในปี 2565 นี้หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ เสียงเรียกร้องต่อความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลต่อไปจะยังคงมีอยู่ และเป็น 3 ปัจจัยปัญหาสำคัญของรัฐบาลที่ต้องรีบแก้ไข 

 

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

 

รศ.ดร.ยุทธพร ชี้ด้วยว่าปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 นี้มี 2 เรื่องด้วยกันคือ 1.การแก้ไขรธน. ถ้าจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติ คือการทำประชามติทั้งก่อนแก้ไขรธน.และหลังแก้ไขรธน. 2.คำวินิจฉัยเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองที่จะส่งผลต่อภาคประชาชน ที่จะต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเกิดอุบัติทางการเมืองในปี 2565 นั้นมีหรือไม่ รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า มีสูงมาก ทั้งในแง่ของการยุบสภาที่อาจเกิดจากปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศได้จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะจบเมื่อไร จนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอาจจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล หรือรัฐบาลเลือกที่จะยุบสภาเองเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งการทำรัฐประหาร ทุกปัจจัยล้วนเกิดขึ้นได้หมด ถึงเรียกว่าเป็น "ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล"

 

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

 

ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในส่วนของกฎหมายเลือกตั้งส.ส.กับกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ถ้าสภาพิจารณาผ่านวาระ 3 จะทำให้เกิดการยุบสภาและเลือกตั้งเร็วขึ้นไหม รศ.ดร.ยุทธพร ให้ข้อสังเกตว่าถ้าจะยุบสภา จะไม่เกี่ยวกับกฎหมายประกอบรธน.ว่าด้วยการเลือกตั้งเลย แต่จะขึ้นกับปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า 

 

"การเมืองไทยจะยุบสภาคือฝ่ายบริหารได้เปรียบ หรือเกิดการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล และความสัมพันธ์ทางการเมืองกับเศรษฐกิจด้วย ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็อาจจะยุบสภา หรือลาออก การแก้ไขกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นเพียงเงื่อนไขเล็ก ๆ เท่านั้น แต่โอกาสเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองมีทุกรูปแบบ ทั้งยุบสภา นายกฯ ลาออก นายกฯ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี และอาจจะเกิดการรัฐประหารได้ กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นเพียงการชิงดำทางการเมืองเท่านั้น" 

 

กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี นั้น รศ.ดร.ยุทธพร ย้ำว่าประเด็นนี้สำคัญมากเพราะเกี่ยวข้องกับ 3 กรณีด้วยกันคือ 1.การวางบรรทัดฐานทางการเมืองของประเทศไทย เพราะยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 2.ชี้อนาคตรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้าเกิด พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งจริง ๆ รัฐบาลขาดหัวเรือไปต่อไม่ได้ และ 3.ชี้อนาคตทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ เอง  ซึ่งจะต้องมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ว่าควรจะสิ้นสุดลงนับจากวันใด 

 

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

 

สำหรับแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีการ ประเมินไว้ 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1. นับจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ในปี 2557 จากรัฐบาล คสช. 2.นับจากปี 2560 ตามมาตรา 264 ที่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ และ 3.เริ่มนับวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ แต่นับตั้งแต่วันแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คือวันที่ 24 ส.ค. 2557 และจะครบ 8 ปีวันที่ 24 ส.ค. 2565 ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า มีโอกาสที่จะเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จากปี 2562 

 

การเมืองไทยปีเสือ.. ปีแห่งการชี้อนาคตรัฐบาล

 

ในตอนท้าย รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่าในเรื่องของการยุบพรรคการเมืองนั้น  มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จากกรณีของนายสิระ เจนจาคะ ถูกศาลรัฐธรรมนูยวินิจฉัยสิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส. ในฐานะที่นายสิระ เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พรรคต้องรับผิดชอบต่อกรณนี้เช่นกัน หรือกรณีพรรคเพื่อไทย ที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้วิดีโอคอลเข้ามาร่วมพูดคุยกับสมาชิกพรรค จะขัดต่อกฎหมายพรรคการเมืองในแง่ของการห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาครอบงำพรรค หรือชี้นำพรรค ส่วนพรรคก้าวไกล มีกรณีที่ นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กรณีเข้าร่วมชุมนุมและใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวนักศึกษา ที่มีสมาชิกพรรคเข้าร่วมการชุมนุมและประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎร 

 

“จุดที่ต้องจับตามองคือทั้ง 3 พรรค มีโอกาสถูกยุบพรรคได้เช่นกัน และห้วงจังหวะเวลาการยุบพรรคอาจจะเกิดขึ้นในช่วงของการลงสู่สนามเลือกตั้งของพรรคการเมือง เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งพรรคก้าวไกลมีโอกาสสูงมากที่จะถูกยุบพรรคในลักษณะเดียวกันนี้”