ย้อนรอยคดีทุจริต "เงินทอนวัด" ปมอาบัติปาราชิกพระเถระ 5 รูป 3 วัดดัง
ย้อนรอยคดีทุจริต "เงินทอนวัด" ปมปาราชิกพระเถระ 5 รูป 3 วัดดัง ก่อนเป็นที่มาสะสางอีกกว่า 30 วัด เอี่ยวเงินทอนวัดสูญเงินล้าน
จากกรณีที่ "ราชกิจจากิจจานุเบกษา" เผยแพร่ การตอบกระทู้ขอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีที่นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อชาติ ตั้งกระทู้ถาม จากมติมหาเถรสมาคม ให้พระภิกษุ 5 รูป เข้าข่ายอาบัติปาราชิก จากกรณีทุจริต "เงินทอนวัด" ว่าเป็นการพิจารณาแบบเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากพบว่า มีกรณีแบบนี้ในหลายวัดทั่วประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ยืนยันว่า ไม่ได้เป็น
การเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการทำหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ได้มีการตรวจสอบแล้ว
ย้อนไปเมื่อปี 2561 คดีทุจริต "เงินทอนวัด" นับเป็นคดีใหญ่ ที่สะเทือนวงการพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ของประเทศไทย จากการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำกำลังเข้าตรวจค้นผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอดีตผู้อำนวยการสำนักพุทธงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เชื่อมโยงพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป กลายเป็นข่าวที่กระทบต่อความรู้สึก และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
เหตุการณ์นี้ เริ่มต้นเมื่อกลางปี 2560 จากการเข้าร้องเรียนของเจ้าอาวาสวัดห้วยตะแกละ จ.เพชรบุรี แจ้งความกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ "ปปป." เปิดโปงข้าราชการ ที่มีการโอนเงินให้กับวัดเพื่อสร้างอุโบสถ จำนวน 10 ล้านบาท แต่ต้องโอนกลับคืนให้กับข้าราชการ จำนวน 9 ล้านบาท ส่อพฤติกรรมมีพิรุธ ทาง "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" หรือ พศ. จึงเดินหน้าตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัด ร่วมกับ ปปป. แบ่งการทำงานเป็นระลอก โดยระลอกแรกลงพื้นที่ตรวจค้น 10 จุด เป็นบ้านพักข้าราชการระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งช่าติ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด พบเอกสารการทุจริตงบบูรณะ และปฏิสังขรวัดของตั้งแต่ปี 2555- 2559 เป็นการเบิกจ่ายไป 33 วัด พบมีการทุจริต 12 วัด มีข้าราชการระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนา และ พลเรือน เกี่ยวข้อง 10 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท
ส่วนลอต 2 เป็นการตรวจสอบ 3 เรื่อง ประกอบด้วยการตรวจสอบงบปฏิสังขรและพัฒนาวัด งบอุดหนุนเพื่อเผยแผ่ศาสนา และงบการศึกษาพระปริยัติธรรม
พบทุจริต "เงินทอนวัด" 23 วัด โดยการตรวจสอบในครั้งที่ 2 นี้ พบการทุจริต 141 ล้านบาท พบผู้เกี่ยวข้อง 19 คน เป็นข้าราชการ 3 คน พลเรือน 2 คน และพบพระสงฆ์เกี่ยวข้องจำนวน 4 รูป
จนนำไปสู่การตรวจสอบในลอตที่ 3 ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นลอตที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคม และพุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง เนื่องจากการตรวจสอบพบทุจริต "เงินทอนวัด" ดังใน กทม. 3 วัด คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสัมพันธวงศาราม และวัดสามพระยา ส่วนข้าราชการ พศ.ที่ร่วมทุจริต ก็ยังเป็นกลุ่มเดียวกับลอตที่ 1 ถึง 2 และลอตที่ 3 นับเป็นการตรวจสอบพระเถระชั้นผู้ใหญ่ถึง 5 รูป คือ
- พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
- พระพรหมเมธี (จํานงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม
- พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา
- พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระเมธีสุทธิกร) (สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
- พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
- พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา
- พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คํามา) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการเขียนโครงการเบิกงบประมานแต่นำไปใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ หลังจากนั้น จึงมี "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ประกาศ เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 7 รูป และที่โด่งดังที่สุด คงหนีไม่พ้นกรณี "พระพรหมสิทธิ" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ "พระพรหมเมธี" อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ซึ่งรายหลัง หลบหนีไปขอลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ถึงขนาดที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ณ ขณะนั้น ต้องบินไปประสานทางการเยอรมนี เพื่อพยายามรับตัวกลับมา
แต่ในที่สุด ผลคำพิพากษาของศาล ระบุว่า พระเถระ 5 รูป ของวัดสระเกศฯ ไม่พบการทุจริต และไม่ได้มีความผิดเข้าข่ายอาบัติปาราชิก จนต้องทำให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ ทำให้เมื่อเดือน เม.ย.2564 อดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ได้ประกอบพิธีเจริญชัยมงคลคาถา ในโอกาสพระภิกษุอธิษฐานครองผ้าไตรจีวรรับเข้าหมู่สงฆ์ และ ได้กลับมาห่มจีวร อีกครั้ง
การเดินหน้าตรวจสอบคดีทุจริต "เงินทอนวัด" แม้เจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าทำงานมาถึงลอตที่ 4 โดยเป็นการเดินหน้าตรวจสอบวัดทั่วประเทศ ที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมากกว่า 1 ล้านบาท ในช่วงปี 2555-2560 แต่ทุกอย่างยังดูเงียบ และกลับมามีกระแสอีกครั้ง จากกระทู้ครั้งนี้ วัดที่ถูกกล่าวถึงอีก 30 กว่าวัด จะถูกปัดกวาดเช็ดถูให้ "วงการสงฆ์" กลับมาสะอาดหมดจดอีกครั้งหรือไม่