คอลัมนิสต์

ลาวผลิตเอง "โมลาโคเวียร์" ยารักษาโควิด กระปุกละ 4 แสนกีบ

ลาวผลิตเอง "โมลาโคเวียร์" ยารักษาโควิด กระปุกละ 4 แสนกีบ

05 ม.ค. 2565

ลาวผลิตเองใช้เอง "โมลาโคเวียร์" ยารักษาโควิดชนิดเม็ด บริษัทยายักษ์ใหญ่มอบสูตรยาต้านไวรัสให้ โดยไม่คิดมูลค่า โรงงานยาลาวขายกระปุกละ 4 แสนกีบ ชาวบ้านบ่นแพงไปหน่อย คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ลาวผลิตเอง “โมลาโคเวียร์” ยารักษาโควิดชนิดเม็ด ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทยายักษ์ใหญ่ เพื่อให้ประเทศเล็กๆ เข้าถึงยารักษาผู้ป่วยโควิด

 

รัฐวิสาหกิจยาลาวขาย “โมลาโคเวียร์” กระปุกละ 400,000 กีบ หรือพันกว่าบาท มีปฏิกิริยาจากชาวลาวพอควร บ้างบ่นว่าแพงไป บ้างก็ว่าหาซื้อยาก

 

รัฐบาลลาวนำร่องใช้ยาเม็ด “โมลาโคเวียร์” กับผู้ป่วยโควิดอาการเบาบาง ระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อ อายุระหว่าง 18-65 ปี

 

สปป.ลาว ประเทศที่มีประชากร 7 ล้านกว่าคน ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ไม่ต่างประเทศอื่น

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขลาว ในวันที่ 5 ม.ค.2565 พบมีผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 114,787 คน และเสียชีวิตสะสม 409 คน ช่วงปลายปีที่แล้ว มีผู้ติดเชื้อโควิดในลาวสูงขึ้น เฉลี่ยวันละพันคน และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 5-6 คน

ด้านการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด สาธารณสุขลาวได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ครบ 50% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว หรือประมาณ 3 ล้าน 6 แสนคน โดย สปป.ลาว ได้วัคซีนบริจาคจากจีน ,สหรัฐ, ญี่ปุ่น, อังกฤษ และกัมพูชา นอกจากนี้ ลาวยังเข้าร่วมโครงการ COVAX

 

ปลายปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขลาว อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจโรงงานผลิตยา หมายเลข 3ดำเนินการผลิตยาต้านไวรัส เพื่อใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก(WHO)

 

ช่วงปีใหม่ ชาวลาวได้รับข่าวดี เมื่อรัฐวิสาหกิจโรงงานผลิตยาหมายเลข 3 นำยา “โมลาโคเวียร์” (Molacovir) ออกวางจำหน่ายทั้งในนครหลวงเวียงจันทน์ และต่างแขวง

 

‘นำร่องรักษาโควิด’

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การผลิตยา “โมลาโคเวียร์” ใน สปป.ลาว เป็นโครงการนำร่อง ภาย ใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,000 คน

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA)ได้อนุมัติให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสในการเสียชีวิต โดยสาธารณสุขลาว ได้ผลิตยาชนิดดังกล่าว ภายใต้ชื่อ โมลาโคเวียร์

ยาโมลาโคเวียร์ รักษาโควิด ขายกระปุกละ 4 แสนกีบ

ยาโมลาโคเวียร์ เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน โดยผู้ป่วย 1 คน จะต้องกินยาประมาณ 40 เม็ดต่อการรักษา 1 ครั้ง ซึ่งผู้ป่วยที่สามารถใช้ยานี้ได้ จะต้องไม่มีอาการปอดอักเสบ และเริ่มใช้กับผู้ติดเชื้อโควิดอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีอาการน้อย หรืออยู่ในระยะเริ่มต้นการติดเชื้อโควิด

 

สำหรับการจำหน่าย ยาโมลาโคเวียร์ ในเบื้องต้นขายกระปุกละ 400,000 กีบ หรือ 1,192 บาท ซึ่งได้กระจายยาไปยังร้านขายยาในนครหลวงเวียงจันทน์ และบางแขวงที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ปรากฏว่า มีการขายยาตัวนี้ผ่านออนไลน์ และมีเสียงสะท้อนว่า ราคาแพงเกินไป ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงยา

 

‘เพื่อมนุษยชาติ’

หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใด สปป.ลาว จึงได้ผลิตยา “โมลาโคเวียร์” รักษาโควิด ซึ่งตามรายงานข่าวเมื่อ 28 ต.ค.2564 บริษัท Merck ประเทศเยอรมัน ได้ลงนามข้อตกลงด้านสิทธิบัตรกับองค์การบริหารสิทธิบัตรยาร่วม ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ เปิดทางให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำ ได้เข้าถึงสูตร และสามารถผลิตยาต้านไวรัส โมลนูพิราเวียร์เอง

 

ข้อตกลงดังกล่าว ควบคุมประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ 105 ประเทศ ในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งประเทศในอาเซียน ประกอบด้วยลาว,เมียนมา,กัมพูชา,เวียดนาม,ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

 

องค์การบริหารสิทธิบัตรยาร่วม จะให้สูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดย Merck จะไม่เก็บเงินค่าสูตรยาดังกล่าว ตราบใดที่โควิด-19 ยังเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

 

กระทรวงสาธารณสุขลาว ได้มอบให้รัฐวิสาหกิจโรงงานผลิตยาเลข 3 เป็นผู้ผลิตยาต้านไวรัสโควิด-19 ในชื่อ “โมลาโคเวียร์” หรือตัวยาโมลนูพิราเวียร์นั่นเอง