ศึกนี้แพ้ไม่ได้"เลือกตั้งซ่อมหลักสี่"กทม. ชี้วัดสถานการณ์คุมเมืองหลวง
เเพ้ไม่ได้ ....คือนิยามการเมืองของผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ กทม. เพราะการเลือกตั้งซ่อมหนนี้จะเป็นปัจจัยชี้วัดว่าพรรคใดจะคุมเมืองหลวง เเละใครคือคู่ประชันอย่างเป็นทางการ กันเเน่ที่จะมีโอกาสปักธงในพื้นที่นี้ ติดตามในเจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ
การรับสมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม. เขต 9 (หลักสี่ -จตุจักร)แทน"สิระ เจนจาคะ "อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐในเขตนี้ โดยจะมีขึ้นในวันที่30ม.ค.นั้น ตอนนี้ทราบกันแล้วในชั้นต้นว่า เจ็ดพรรคส่งเจ็ดชีวิตลงประชัน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564) จะเป็นคนชี้ชะตาว่าใคร-พรรคใดควรจะไปทำหน้าที่ส.ส.ในห้วงเวลาหนึ่งปีเศษ
สนามนี้นั้น แกนนำบางพรรคมองว่าเป็นจุดตัดวัดกระแสนิยมสองสนามคือ"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และเลือกตั้งส.ส.คราวหน้า (พื้นที่กทม.)" โดยจะเป็นการหยั่งกระแสเบื้องต้นที่จะถอดรหัสการเมืองวันหน้าได้คร่าวๆว่า ชาวบ้านจะไว้วางใจพรรครัฐบาล/พรรคฝ่ายค้าน/พรรคหน้าใหม่กันแน่
เพราะสนามกทม.ตอนนี้มีสามสิบส.ส.และงวดหน้าน่าจะเพิ่มเป็น 33 คน( ตามการคาดการณ์ขั้นต้น ) และเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางการเมืองสูงที่นำผลคะแนนมาตรวจสอบ-ถอดรหัสทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง และเป็นการวางแผนสำหรับการเมืองสนามใหญ่ในวันข้างหน้า และบางคนมองว่าสนามเมืองหลวงนั้นเป็นจุดตัดในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ด้วย(แม้ว่าบางครั้งผลเลือกตั้งจะบอกว่า ชาวกทม.จะเลือกส.ส.ฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล แต่บางครั้งสัดส่วนส.ส.พรรคฝ่ายค้าน/รัฐบาลก็ใกล้เคียงกัน)
ย้อนไปชมผลการเลือกตั้ง 22มี.ค.2562 นั้น สามอันดับแรกพบว่า 1. สิระ เจนจาคะ (พปชร.) คว้าไป 33,175คะแนน 2.สุรชาติ เทียนทอง (พท.) เก็บได้ 30,422 คะแนน3. กฤษณุชา สรรเจริญ (อนค.) ได้ 23,527 คะแนน
แปลว่า"กว่าสามพันแต้ม"ที่ส่งผลชนะ-แพ้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือหนึ่งในปัจจัยชี้ผล และคราวนี้ในขั้นต้นนั้นคะแนนชี้ขาดน่าจะมากกว่าสามพันแต้ม แต่ในตอนนี้มีเจ็ดพรรคหวังที่จะมีคะแนนติดตัว รวมทั้งหวังที่จะปักธงหนึ่งส.ส.ให้จงได้
หากจะวัดกันจริงๆแล้ว สนามนี้น่าจะประชันกันอย่างเป็นทางการเพียงสองพรรคเท่านั้นคือ "พรรคพลังประชารัฐ"ที่ส่ง"สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ" (ลงแข่งแทนสิระ)ไปชนกับ "สุรชาติ เทียนทอง" แห่งพรรคเพื่อไทย(อดีตส.ส.เขตนี้หนึ่งสมัย)
ส่วนพรรคอื่นๆนั้น แม้บางคนจะมีดีกรีติดตัว เช่น "อรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี" จากพรรคกล้า เคยเป็นส.ส.เมืองหลวงมาแล้วสองสมัย
พรรคก้าวไกลส่ง "กรุณพล เทียนสุวรรณ" นักแสดงที่มีมุมมองการเมืองตรงข้ามรัฐบาล
พรรคไทยภักดีที่ตอนนี้หลายคนเริ่มจับตาก็ส่ง "พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์" แต่เอาจริงๆแล้ว บางพรรคน่าจะหวังหยั่งเชิง วัดกระแสมากกว่าที่จะปักธง
เพราะแกนนำพรรคเหล่านั้นน่าจะรู้ยุทธศาสตร์ จับจุดอ่อน-จุดแข็งกระแสการเมืองดีว่า พรรคของตนนั้นมีจุดยืน สะสมแต้มทางการเมืองไว้อย่างไร และบางพรรคที่มีบทบาทการเมืองในตอนนี้รวมทั้งพรรคเกิดใหม่บางพรรคที่ไม่ส่งผู้สมัครในพื้นที่นี้น่าจะมีคำตอบในใจว่าทำไมยอมเลี่ยงไม่ส่งคนลงแข่งขันในพื้นที่นี้
แปลว่าสงครามหาแต้มคราวนี้คือ"ศึกป้องกันตำแหน่ง" เพราะสิระส่งคู่ชีวิตลงป้องกันเก้าอี้ และยังเป็นหนึ่งเดียวจากพรรครัฐบาล(พรรคร่วมรัฐบาล เช่นประชาธิปัตย์/ภูมิใจไทยไม่ส่งผู้สมัคร ) ส่วนสุรชาตินั้นหวังทวงบัลลังก์คืนหลังพ่ายสิระในงวดที่แล้ว(แต่ต้องตัดแต้มกับพรรคร่วมฝ่ายค้านคือพรรคก้าวไกล/ไทยศรีวิไลย์)
ในเมื่อ"เจ๊หลี"แข่งขันกับ"อ๊อบ ลูกชายนักเลงวังน้ำเย็น" ดังนั้นคำว่า"แพ้ไม่ได้...."จึงบังเกิดขึ้นกับสองชีวิตและสองพรรคต้นสังกัดในข้างต้น
เวลาที่เหลืออยู่ก่อนเปิดคูหาหย่อนบัตร ติดตามว่าการหาแต้มของผู้สมัครแต่ละรายจะมีสีสันอย่างไร เพื่อรอลุ้นว่าชาวกรุงเขต 9 จะชี้ชะตาให้ใครสมหวัง-ผิดหวัง...
และรอคะแนนจากเขตนี้เพื่อประเมินการเมืองขั้นต้นในสนามผู้ว่าฯกทม.-สนามส.ส.งวดหน้าไปด้วยว่า พรรคใดจะเป็นว่าที่พรรครัฐบาล - พรรคฝ่ายค้าน