ปัญหา"หมูแพง" เริ่มจะไม่หมูซะแล้ว เผยต้นเหตุ รัฐบาลปกปิดโรคระบาดหมูมา 3 ปี
คลี่ปมปัญหา "หมูแพง" เปิดเอกสารราชการผ่านรายการคมชัดลึก ซึ่งมี วราวิทย์ ฉิมมณี เป็นผู้ดำเนินรายการ ถึงกับอึ้ง ที่แท้สาเหตุที่ทำให้หมูแพงมาจากสิ่งนี้นี่เอง แต่รัฐบาลกลับปกปิดความจริง
"รัฐบาลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ด้วยการไม่ยอมรับว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์) ที่ระบาดในหลายทวีป ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย แต่กลับอ้างว่าเป็นโรคเพิร์ส ที่มีวัคซีนป้องกันแทน"
นี่เป็นคำกล่าวของ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พะเยา พรรคเพื่อไทย ที่ได้ออกมาเปิดเผยพร้อมกับนำเอกสารของทางราชการมาตีแผ่ผ่าน"รายการคมชัดลึก" โดยมี วราวิทย์ ฉิมมณี เป็นผู้ดำเนินรายการ ในตอน ทำไมหมูแพง? ผู้บริโภคเจ็บ คนเลี้ยงเจ๊ง
การจัดรายการครั้งนี้ ได้เชิญ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมูแพง มาร่วมกันขุดคุ้ยหาต้นเหตุที่แท้จริงมาจากอะไรกันแน่ ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนความเห็น เราพบประเด็นสำคัญ!!!
ชี้เปรี้ยงรัฐบาลปกปิดความจริงมา 3 ปี
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พะเยา พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ด้วยการไม่ยอมรับว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์) ที่ระบาดในหลายทวีป ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย แต่กลับอ้างว่าเป็นโรคเพิร์ส ที่มีวัคซีนป้องกันแทน
ทั้งที่โรคนี้เริ่มเข้ามาระบาดในภาคเหนือของไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐไม่ยอมรับว่ามีการระบาด ไม่ได้รายงานให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศรับทราบ และละเลยจนแพร่ไปในพื้นที่อื่น รวมถึง จ.ราชบุรี ที่เป็นพื้นที่ที่เลี้ยงสุกรมากที่สุด
"สิ่งนี้ทำให้จำนวนสุกรหายไปจากระบบ 10 ล้านตัว เหลืออยู่เพียง 12 ล้านตัว จากก่อนการระบาดที่ 22 ล้านตัว"
ปูดเอกสารกรมปศุสัตว์ของบประมาณชดใช้สุกรที่ถูกทำลาย
ทั้งนี้ ส.ส.วิสุทธิ์ ได้โชว์เอกสารของสำนักงบประมาณ ที่กรมปศุสัตว์ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน ๕๗๔,๑๑๑,๒๖๓ บาท (ห้าร้อยเจ็ดสิบสี่ล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยหกสิบสามบาทถ้วน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า โดยเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ - ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ ตามมาตรา ๑๓ (๔) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัย
ซึ่งเอกสารฉบับนี้บ่งบอกว่าไทยกำลังเผชิญกับโรค ASF จริง ถึงต้องของบ ถ้าไม่มีแล้วจะของบทำลายทำไม
"เราไม่รายงาน เราปกปิด เพื่ออะไรครับ เพราะก่อนหน้านี้ประเทศนี้ส่งออกหมูปีละประมาณ 20,000 ล้าน 20,000 ล้านนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์"
เพราะฉะนั้นผมจึงสงสัย ได้รับฟังจากเกษตรกรทั้งประเทศเขาพูดว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อใคร เพื่อบริษัทใหญ่บางบริษัทใช่ไหม ถึงปกปิดข้อมูลกลัวว่าจะขายหมูไม่ได้ แต่วันนี้หลังจากปกปิดมา 3 ปี วันนี้หมูไทยไม่สามารถส่งออกได้แล้ว
ASF คนรู้ทั่วโลกแต่รัฐบาลไทยไม่รู้
ขณะที่ นายประสิทธิ์ หลวงมณี อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า เรื่อง ASF เขารู้ทั่วโลกแล้วมีอยู่ประเทศเดียวที่ว่าไม่รู้ก็คือรัฐบาลไทย ที่ไม่รู้ว่า ASF ระบาดแล้วในประเทศไทย เพราะว่าคนไหนออกมาพูดก็ประกาศว่าประเทศไทยปลอด ASF ชาวบ้านเขาก็รู้ โกหกกันแบบตาใสๆแบบนี้หรอ
เท่าที่ผ่านมานี่รัฐบาลไม่พูดความจริงเลย เพราะรัฐบาลปกปิด จริงๆแล้ว ASF เกิดขึ้นในประเทศไทยเกือบ 3 ปีได้แล้ว ที่เข้าสู่ประเทศไทย เริ่มแรกก็อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ระดมทุนกันไปสกัดนะครับ ตั้งแต่อยู่ประเทศลาวแล้วก็เข้ามาในไทยก็จะสกัด แต่รัฐบาลยังไม่ได้มาช่วยเหลืออะไรเลย ที่ว่าจะชดเชยให้ประมาณ 70-75 % แต่จริงๆแล้วก็ทำลายแต่คนไม่รู้เขาก็ปล่อยให้มันตายๆไป มีคนมาซื้อก็ขายราคาถูกๆไป เขาก็ขาย ฉะนั้นโรคก็กระจายไปมาก
รัฐบาลตอนแรกก็ดูว่าจะทำดีนะครับว่าจะมีการเฝ้าระวังอะไรต่างๆ มีการสัมมนาต่างๆอีกมากมายด้วยว่าในรัศมีที่ 3 กิโลไปแล้วว่าต้องทำลายแต่พอเข้าจริงๆแล้ว เราติดกันมายังไม่ทำลาย ก็ชดเชยให้เกษตรกร เนี่ยยังไม่ได้เงินเลยเกือบปีแล้ว ลักษณะคล้ายๆกับเพิร์ส หรืออหิวาต์ทั่วไป แต่ว่าตัวนี้พอมันตายสีมันจะเปลี่ยนเร็วมาก เนื้อมันก็จะเสียหายด้วย ถ้าแค่ตรวจพบเชื้อเขาก็สามารถขายได้แล้วเพราะว่ารัฐบาลไม่ชดเชยให้กับผู้เลี้ยงรายกลางหรือรายใหญ่ๆเลย ไม่เลยนะ พอเขาตรวจพบเขาก็จะขายทิ้งทันทีเลยครับ เพราะราคาหมูที่มันตกต่ำมา 2-3 ปี
มันก็เริ่มจากตรงนี้ล่ะครับ ก็เลิกโกหกตัวเองเลิกโกหกชาวบ้านได้แล้วครับมันถึงเวลาแล้ว ถ้าคุณยังโกหกแบบนี้ความเสียหายจะเกิดขึ้นมามาก ชาวบ้านหลงประเด็นนะครับคิดว่าเป็นเพิร์ส หรือ PRRS ก็เข้าใจแบบนี้เอาวัคซีนมาฉีด พอมาฉีดเขา เกิดความประมาทว่าเขาทำวัคซีนแล้ว
รายย่อยนะครับอันนี้ผมอยู่กับรายย่อยมาตลอด อันนี้เขาก็หลงประเด็น มันไม่ยอมรับความจริงกันสักที ต้องฝากท่านส.ส.ด้วยนะ ถึงแม้ว่าท่านส.ส.เพิ่งจะตื่นนะครับ เพราะโรคมา 3 ปีแล้ว แต่ยังดีกว่าที่ไม่ตื่นเลยนะครับ"
คุณวิสุทธิ์ ไชยณรุน ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ยอมรับความจริงก่อนครับ แล้วเราจะช่วยกันแก้ปัญหา แล้วบอกชาวบ้านว่าเรื่องราวเป็นยังไง ไม่ใช่ว่าต่อหน้าสื่อก็บอกว่าไม่มีๆแต่ลับหลังเอาไปเบิกงบประมาณราชการไม่ถูกต้องนะครับ เรื่องนี้ถ้าเบิกไปจริงๆเดี๋ยวก็เป็นเรื่องเป็นราวนะ เพราะไม่มีโรคระบาดคุณเบิกไปทำไมอันนี้มันจะเป็นเรื่องใหญ่นะครับ มีโอกาสสูงในเร็ววันนี้ครับ "
ถ้าหากว่าเรายังแก้ปัญหาไม่ตรงจุดไม่ถูกวิธี ที่น่ากลัวคือ กฎเกณฑ์ ราคาน่าจะขยับขึ้นเพราะความต้องการหมูที่มีสูงขึ้น ความต้องการหมูต้องการมากขึ้น คนบริโภคก็ยังเหมือนเดิม แต่ปัญหาคือจะหาหมูที่ไหนมาขายให้
จากที่หมูตายลงทุกวันนี้ยังไม่หยุด การระบาดโลกยังไม่สิ้นสุดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ เพราะฉะนั้นในอนาคตหมูจะต้องแพงกว่านี้แน่นอน
ได้ยินคนเลี้ยงหมูรายเล็กรายกลางเล่าวันทั่วไป ที่ผมได้ฟังมาผมตกใจมาก ผมนอนไม่หลับเลยเมื่อคืนนี้มันจะเป็นเรื่องใหญ่ถ้าทำอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง คือปกปิดนี่เป็นคำเล่าของคนเลี้ยงหมู ก็บอกว่าถ้าหากว่าประกาศว่าเป็น ASF เงินสมาคมหมดแล้วต่อไปก็เป็นเงินรัฐบาลที่ต้องมาจ่ายชดเชย รายกลางรายเล็กรายที่ต้องได้รับเงินชดเชย 75%-70% เนี่ย ก็จะได้ตังค์
เขาเล่าว่ามีบางรายที่เป็นยักษ์ใหญ่พยายามไม่ให้ประกาศ ถ้าไม่ได้ประกาศก็ไม่ได้ชดเชยรายเล็กรายน้อยรายกลาง ตายหมดครับเจ๊งหมดครับไปต่อไม่ได้แล้ว
ช่วงนี้ก็จะเห็นฟาร์มใหญ่ๆยักษ์ๆออกตะเวนซื้อที่ดินเพื่อจะลงทุน 500 ไร่ เพื่อจะเลี้ยงหมูจุดละแสนตัว ที่เขาเล่าเนี่ยมันจริงหรือเปล่า สวนทางกันก็เป้าหมายคืออะไร ทำให้คิดนะว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ภาวนาอย่าให้เป็นอย่างนั้นจริง เท่ากับท่านฆ่าผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยรายกลางเนี่ยตายหมดนะครับ
วันนี้มันต้องเริ่มต้นกลับมาพูดความจริงว่าเป็น ASF จะได้เงินก้อนที่จะของบประมาณในการที่เอาไปแก้ไขชดเชยให้เกษตรกรที่เขารออยู่ทั้งประเทศ เริ่มต้นเอาความจริงมาเผยแพร่ว่าจะต้องป้องกันอย่างไร
คนที่เลี้ยงหมูที่จะรอดอยู่ตอนนี้เหมือนที่คุณประสิทธิ์ว่า เราจะให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการอย่างไรในการป้องกันโรค นักวิชาการเรามีเยอะแยะมหาลัยต่างๆมากมาย ผมว่าต้องทำนะครับ เป็นเรื่องใหญ่เพราะไม่ได้กระทบแต่คนเลี้ยงหมู ผมถึงบอกว่าคนขายอาหารหมูคนขายอุปกรณ์เดือดร้อนหมด หนี้สินตามกันไปหมดแล้ว คนซื้อหมูก็เดือดร้อนแม่บ้านพ่อบ้านเดือดร้อนหมด
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เงินหายากอยู่แล้ว ผมว่าเป็นปัญหาใหญ่เรื่องปากท้องเรื่องใหญ่ การเมืองเล็กๆแต่ปากท้องชาวบ้านมันทนไม่ไหวก็ยากนะ ถ้าทำงานทั้งวันแล้วผมได้หมูกิโล 1 กิโลกรัม 300 บาทแย่นะครับ เพราะงั้นไม่ได้มาดิสเครดิตอะไรกับรัฐบาล แต่อยากให้รัฐบาลสนใจจริงจัง เอาจริงเอาจังสักทีนะครับว่า 3 ปีแล้วนะ ท่านก็เรียกถ้าไม่ยอมรับสักที.."
ด้าน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ (คณะทำงานของรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
"..จริงๆแล้วต้องยอมรับความจริงนะครับ ว่ามาตรการออกมาเนี่ยอาจจะดูเหมือนว่าเป็นในเชิงจิตวิทยาและในเชิงการลงมือปฏิบัติจริงอาจจะช่วยบรรเทาได้บ้างระยะสั้น จริงๆเมื่อวานนี้ก็ได้มีการถกกันยาวว่าความเป็นจริงก็คือว่า 3-4 โรคที่เราพูดคุยกันนะครับ โดยเฉพาะโรค ASF ซึ่งมีมานานแล้ว
กระทรวงเกษตร กรมปศุสัตว์พยายามจะแก้ปัญหานะครับ พยายามจะหาวัคซีนพยายามจะวิจัยและพัฒนา พยายามจะของบประมาณ พยายามจะทำหลายเรื่องครับ
ผมคิดว่าความที่เราจะแก้ปัญหาระยะยาวได้จริงมันต้องเริ่มจากการที่มองให้ตรงจุดก่อนว่าปัญหาคืออะไร บ้างเรื่องข้อจำกัดและมีความละเอียดอ่อนในการขับเคลื่อนงานที่กรมปศุสัตว์
ซึ่งต้องยอมรับว่าราชการกรมปศุสัตว์ทำงานหนักมากนะครับหลายท่านตั้งแต่ทราบถึงปัญหา ASF มา 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ แล้วมาเจอซ้ำเติมโดยวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้การบริโภคเนื้อหมูตกลงไปอีกที
ผมคิดว่าทางออกที่แท้จริงมี 2-3 เรื่องที่พยายามจะทำอยู่
เรื่องที่ 1 เป็นเรื่องที่เราทราบดีว่าห้างที่เป็นค้าส่งค้าปลีกให้ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระยะสั้นได้ ซึ่งเขาก็พยายามช่วยนะครับที่ตรึงราคาไว้ ตอนนี้ราคามันจะทะลุไป 200 กว่าบาทต่อกิโลกรัม เขาจะช่วยตรึงที่ 150 บาทไปได้อีก 1 เดือน อันนี้พยายามพูดคุยกันอยู่หรือขยายเวลาได้
เรื่องที่ 2 ที่สำคัญมากที่สุดระยะกลางระยะยาวคือว่ากระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ทราบดีถึงปัญหาโรค ASF ต้องทำงานเชิงรุก เร่งพยายามจัดหาวัคซีนที่พัฒนาตรงนี้มาแก้ได้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องยอมรับเพราะเขาพยายามมาตลอด
กรมปศุสัตว์เคยมีการออกมาพูดเรื่อง ASF แล้วเมื่อปีที่แล้ว มีการพูดคุยเรื่องนี้มีการที่สั่งการอย่างเร่งด่วนโดยท่านรัฐมนตรีสั่งการเร่งด่วน พยายามหาวัคซีนพยายามดูแลจะป้องกันยังไงได้ แต่เท่าที่ผมทราบนะครับ ปัจจุบันนี้ในเรื่องโรคระบาดในหมู ผมคิดว่าทางกรมปศุสัตว์เองต้องมาตอบคำถามนี้ แล้วสร้างความเข้าใจสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องที่กระจ่างชัดให้กับพี่น้องประชาชน
ผมเห็นด้วยว่าเขาควรทำ แต่ผมไม่ทราบจริงๆว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ เรื่องเลยที่เขาจะต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเปล่า แต่จริงๆแล้วเป็นเงินชดเชยทางรัฐบาลเอง ผมเชื่อว่ามีการพูดคุยกันเพราะว่าการที่คุณจะให้พี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรสุกรกล้ากลับมาเลี้ยงหมูได้เนี่ย ส่วนหนึ่งถ้าเกิดมีเงินชดเชยมากพอที่จะดึงดูดให้เขากลับมาช่วยเลี้ยงได้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง
แต่แน่นอนสำคัญกว่านั้นคือการที่เราทำยังไงที่จะหยุดหรือแก้ปัญหาตัวโรคระบาดนี้ให้จบจริงๆก่อน เพราะว่าต่อให้มีเงินชดเชยมากแค่ไหนเนี่ยจะให้พี่น้องเกษตรกรมาเลี้ยงแล้วหมูตายอีก ก็ไม่คุ้มเขานะครับ ถึงไม่ใช่เงินชดเชยถึง 75% เหมือนที่เคยทำกันมาในอดีตเนี่ย หรืออย่างประเทศจีนเขาก็ทำนะครับมีเงินชดเชยเข้ามาเรียนรู้ตัวอย่างจากประเทศจีนได้ แต่ว่าสเกลของงบประมาณหรือเงินของรัฐคงมีไม่ใหญ่เท่ากับประเทศจีน ราคาจะเข้าสู่สมดุลได้อย่างเร็วคือ 6 เดือนขึ้นไป
เราต้องยอมรับความจริงตรงนี้ก่อนนะครับ เพราะว่าในช่วงตรุษจีนนี้ราคาก็มีโอกาสที่จะขึ้นไปสูงกว่านี้ และอย่าลืมวัฎจักรของการเลี้ยงหมูอย่างน้อยก็ต้อง 6 เดือนเพราะฉะนั้นกว่าที่เราจะให้ เรียกว่าการอุปสงค์อุปทานที่เลี้ยงหมูและมีมากพอเข้ามาสู่ตลาดความต้องการ การปรับตัวเนี่ยผมคิดว่าอย่างน้อยต้องมี 6 เดือนนะครับ
จริงๆแล้วมาตรการบางอย่างที่เราพยายามทำในระยะสั้นมันคงจะเป็นเรื่องที่พยายามจะพูดคุยเจรจาขอความร่วมมือจากค้าปลีกค้าส่งเจ้าใหญ่ที่ช่วยตรึงราคา หรือแม้กระทั่งการจะดูการตรวจสอบว่าพ่อค้าคนกลางหรือคนที่ขายในตลาดการติดป้ายราคาไม่เอาจนเกินควร สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นอำนาจสุดท้ายที่พยายามทำได้จากกระทรวงพาณิชย์ อำนาจจากกระทรวงเกษตร ผมเชื่อว่ากรมปศุสัตว์เองต้องเร่งครับ และต้องพยายามเร่งพัฒนาและวิจัยวัคซีนที่จะมาแก้ปัญหาทั้งตัว ASF หรือโรคอื่นๆด้วย รวมถึงหาแรงจูงใจที่เป็บงบประมาณที่จูงใจให้เกษตรกรได้กลับมาเลี้ยงสุกร.."