ตีความตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ทางสามแพร่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทางสามแพร่งบนตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" เรืองไกร ชิงยื่นตีความสถานะพลเอกประยุทธ์ ก่อนเส้นตายห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินแปดปี
สาระสำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ที่ระบุ เรื่องความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะเหตุ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอํานาจส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ นี่เป็นเหตุผลที่ นาย เรืองไกร
ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ใช้ในการทำสำนวนให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 มกราคมนี้ โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดแปดปี
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เรืองไกร ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบสถานภาพของพลเอกประยุทธ์เพราะก่อนการเลือกตั้งปี 62 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติขณะนั้น เข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นำหลักฐานที่ชี้ถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ขอให้ กกต. พิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) มาแล้ว ครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
มาคราวนี้อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งมาเคลื่อนไหวไล่พลเอกประยุทธ์ จุดเริ่มต้นการเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นเมื่อไหร่ และสิ้นสุดวันไหน จำแนกได้ 3 แนวทางดังนี้
-24 สิงหาคม 2557 ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯครั้งแรก หลังการรัฐประหาร จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565
- 6 เมษายน 2560 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จะครบ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568
- 9 มิถุนายน 2562 ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯครั้งสอง หลังการเลือกตั้ง จะครบ 8 ปีในวันที่ 8 มิถุนายน 2570
เจตนารมณ์ มาตรา 158 ตอนหนึ่งระบุว่า การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องระยะเวลาทำงานมิใช่การลงโทษ ประเด็นห้ามใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษจึงขาดน้ำหนัก รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับสมญานามว่าเป็นฉบับปราบโกงที่กำหนดเวลาห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องการให้ติดยึดผูกขาดอำนาจ อยู่สืบทอดสร้างอาณาจักร หลายฝ่ายจึงเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุติปัญหานี้ แต่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ระบุว่ายังไม่ถึงเวลาต้องตีความตามกฎหมาย เร่งรีบยื่นไปก็จะไม่เข้าเงื่อนไขให้ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย เพราะยังไม่ถึงเวลา