"หมูแพง" เรื่องหมูๆพูดเบาๆก็เจ็บ มีอะไรไม่บอกประชาชนบ้าง โดย ขุนเกษตรพิเรน
น่าแปลกใจไหมปี63 มูลค่าส่งออกหมู 15,000 ล้าน 2.4 ล้านตัวแต่พอปี 64 จาก ม.ค.-พ.ย. ส่งออกได้เพียง 7,100 ล้าน ตัวเลขนี้ชัดๆคือไม่มีหมูส่ง หมูเริ่มน้อยลง เกิดอะไรขึ้น ทำไมหมูแพง หมูหายไปไหน ยังมีเงื่อนงำอะไรอีกที่ยังไม่บอกประชาชน ในเจาะประเด็นร้อน โดย ขุนเกษตรพิเรน
ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป ต่อสถานการณ์ หมูแพง -หมูหายไปไหน ทำไมถึงแพง โรคระบาดหมู โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู
รัฐบาลมีอะไรที่ยังไม่บอกประชาชน
"ขุนเกษตรพิเรน" จำเป็นต้องเจียรไนต้นตอประเด็นร้อนที่กำลังเป็นปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู หากปล่อยไว้ไม่ตีแผ่กันบ้างบอกได้เลย จะเป็นปัญหาระดับชาติลามถึงรัฐบาลที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ
ดีไม่ดี "รัฐบาลลุงตู่" อาจจะเป็นไป เพราะปัญหาหมูที่ไม่หมูนี่หล่ะ
ขอเริ่มกางตัวเลขการส่งออกหมูในรอบสองสามปี มาเป็นหัวนำในการวิเคราะห์กันก่อน ดูตามข้อมูลข้างล่างครับ
ปี 2563 มูลค่าการส่งออก
สุกรมีชีวิต มูลค่า 15,862 ล้านบาท 2,424,064 ตัว 750,061 ตัน ตลาดส่งออกสำคัญ (เชิงมูลค่า) กัมพูชา 61.49 % เวียดนาม 25.8 % ลาว 9.9 % เมียนมา 3.0 %
สุกรแช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 3,274 .52 ล้านบาท 26,337.68 ตัน ตลาดส่งออกสำคัญ (เชิงมูลค่า) ได้แก่ ฮ่องกง 97.3 % กัมพูชา 1.1 % เมียนมา 0.5 %
ปี 2564 มูลค่าการส่งออก
สุกรมีชีวิต ม.ค.-พ.ย 64 มูลค่า 7,186.63 ล้านบาท
ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา 43.97 % เวียดนาม 41.24 % เมียนม่า ลาว และฮ่องกง
เนื้อสุกรสด แช่เย็น แช่แข็ง ม.ค.-พ.ย.64 มูลค่า 1,656.94 ล้านบาท ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ฮ่องกง (สัดส่วน 96.82 % ) เมียนม่า ลาว และกัมพูชา
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์
มองชัดๆ ปี 2563 ส่งออก 15,000 ล้าน 2.4 ล้านตัว สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้จัดงานขอบคุณกระทรวงเกษตรฯมอบโล่ให้ รมว.เฉลิมชัย มาแล้ว(24 ธันวาคม 2563) เพื่อแสดงความขอบคุณที่ไทยปลอดโรค ASF เป็นปีที่วงการเลี้ยงหมูส่งออกคึกคัก
แต่พอปี 2564 เกิดอะไรขึ้น...จาก ม.ค.-พ.ย. ส่งออกได้เพียง 7,100 ล้าน ตัวเลขนี้ชัดๆคือไม่มีหมูส่ง หมูเริ่มน้อยลง ในประเทศราคาขยับขึ้น การส่งออก ทั้งหมูมีชีวิตและเนื้อหมูลดลงจากปีที่แล้วครึ่งหนึ่ง
สุดท้ายวิธีการแก้ปัญหาของรัฐเหมือนเด็กเล่นขายของ ต้องสื่อสารแบบตรงไปตรงมาแบบนี้หละ
ถึงไม่ห้ามส่งออกก็ไม่มีหมูในระบบอยู่แล้ว หมูเลี้ยงกันเกือบปีถึงจะจับขาย(จุดที่ได้กำไรสูงสุด)
อ่านแนวทางแก้ปัญหาของรัฐแล้วถามคนเลี้ยงหมู ส่ายหัวกันทั้งนั้นจะฟาร์มเล็ก ฟาร์มกลาง ฟาร์มใหญ่ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า...รัฐแก้ไม่ตรงจุด
ที่สำคัญ ปัญหานี้จะยาวนานอย่างต่ำอีก 2 ปี "ขุนเกษตรพิเรน" คุยกับเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีฟาร์มที่ลาว เวียดนามและไทย ที่ลาวโดน ASF เจ็บหนัก โชคดีที่ไทยกับเวียดนามรอด
เมื่อถามว่า ฟาร์มที่เมืองไทยรอดได้อย่างไร
"ฟาร์มที่ยังคงอยู่มีระบบตรวจสอบภายในอย่างเคร่งครัด ที่ฟาร์มผมต้องซื้อเครื่องตรวจเชื้อ ASF ประจำที่แลปส่วนตัวของเราเอง เมื่อมีหมูป่วยหรือแสดงอาการเบื่ออาหาร ต้องสวอปน้ำลายเขามาตรวจ ค่าใช้จ่ายตรงนี้เดือนนึง 6-7 แสนบาท ส่วนตัวเครื่องก็ร่วมล้าน เราต้องมีประจำอยู่ 2 เครื่องเผื่อเวลามีเคสต้องตรวจเยอะ น้องๆที่ทำตรงนี้เบิกโอทีเพลินเลยครับ บางครั้งต้องตรวจถึงเที่ยงคืน"
เมื่อถามว่า...แล้วเรื่องที่ไทยเราเจอ ASF นี่จริงหรือเปล่าครับ
"จริงยิ่งกว่าจริงครับ แต่เขาปิดใว้เพราะเกี่ยวกับเรื่องส่งออก เรามีส่งหมูแช่เย็นไปฮ่องกง แต่คนทั้งโลกเขารู้ว่าเรามีการระบาดของ ASF ครับ"
นโยบายภาครัฐตอนนี้ที่ออกมาถือว่า แก้ปัญหาได้ตรงจุดไหม
ตอบยังไงดีน่ะ ที่พาณิชย์ประกาศห้ามส่งออกเพื่อหมูในประเทศจะอ่อนตัวลง คือตอนนี้ไม่มีการส่งออกแล้วครับ
1.ราคาของเราสูงกว่าเพื่อนบ้าน 2.เรามีปัญหาเรื่องโรคระบาดก็ไม่มีใครซื้ออยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่า 2 ปี หมูจะกลับมาปกติหรือเปล่าครับ
ตอนนี้รมช.ประภัตรบอก 3 - 4 เดือน กรมการค้าภายใน บอก 6-8 เดือน แต่เฮียประสิทธิ์ อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคอีสาน เขาบอกว่า 2 ปีไม่รู้จะกลับคือมาปกติไหม ฟาร์มหมูเจอกันหนักมากเพราะรัฐปกปิดเรื่อง ASF
"..สองปีผมว่ายังยาก ผมอยากเปรียบเทียบกับเวียดนามเพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดขึ้น เวียดนามเกิดก่อนเรา 3 ปี เขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน ทำให้ภาครัฐประกาศว่าเกิด ASF ในประเทศ รัฐต้องเข้าไปควบคุมและทำลายชดเชยให้ผู้เลี้ยง 70% แต่การเสียหายก็ขยายตัวต่อไป จนหมดเงินเป็นหมื่นๆล้าน
สุดท้ายรัฐแบกรับไม่ใหวต้องยอมถอย ไม่เข้าไปแทรกแซงอีก(นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่พี่ไทยเราปิดข่าว) ราคาเนื้อหมูพุ่งทยานไปถึง 300 กว่า นายกเวียดนามออกทีวีขู่แล้วขู่อีกแต่ไม่มีใครสนใจ สุดท้ายก็ต้องประกาศนำสุกรมีชีวิตจากไทยเข้าเวียดนาม ช่วงนั้นผู้เลี้ยงชาวไทยมีความสุขอย่างมากเพราะต้นทุนต่ำ ไทยส่งหมูพันธุ์เข้าเวียดนามหลายหมื่นตัว(อาจถึงแสนตัว)
ถ้าไม่รุนแรงจริงๆ กรมการค้าภายในคงมาขอร้องให้ตรึงราคาเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาแล้วครับ
ผู้เลี้ยงรายย่อยเหมือนโดนสึนามิกวาดออกจากระบบเกลี้ยงเลย รายใหญ่หลายจังหวัดที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ต้องปิดกิจการประกาศขายฟาร์มใช้หนี้
เมื่อเกิดในฟาร์มไหนปศุสัตว์จะเข้าไปล๊อคไม่ให้เคลื่อนย้าย ต้องขุดหลุมฝังทั้งเป็นครับ
ทีนี้เราดูที่ไทย ในย่านนี้มองดูแล้วไม่มีประเทศใหนที่มีศักยภาพที่สามารถส่งหมูมาให้ไทยได้ ซึ่งต่างจากที่เวียดนามประสพ ได้นำเข้าจากไทยไปแก้วิกฤติของเขาได้
และถ้านำเข้าหมูพันธ์จากยุโรป อเมริกา หรือแคนาดา ตัวละแสนกว่าบาท ถามว่าฟาร์มที่เกิดการเสียหายแล้วจะมีความสามารถนำเข้าได้อย่างไร ความเห็นผมคงอีกนานอย่างน้อยก็นานกว่าเวียดนามครับ
ส่วนเรื่องยักษ์ใหญ่ได้ประโยชน์ จริงๆเขาก็เจ็บหนักเหมือนกันนะครับ
ผมเป็นผู้เลี้ยงตัวจริง มีฟาร์มอยู่ 3 ประเทศ ไทย,ลาว,และเวียดนาม
ที่ลาวฟาร์มผมโดน เสียหายร่วมร้อยล้าน แต่เวียดนามและไทยยังโชคดีที่ยังรอด ไม่รู้จะโชคดีได้ยาวนานอีกเท่าใหร่ ปัญหาใหญ่คือต้นทุนในการป้องกันโรคที่สูงมาก พนักงานต้องถูกกักตัวในฟาร์ม ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อจูงใจเขารวมทั้งอาหาร 3 มื้อ
ผมขึ้นฟาร์มใหม่ที่นครพนม เป็นฟาร์มใหญ่ลำดับต้นๆของไทยลงทุนไปแล้วหลายร้อยล้าน แต่หาหมูแม่พันธุ์เข้ายังไม่ได้เพราะยักษ์ใหญ่โดนไปหนักมาก ทุกคนเดือดร้อนนะครับไม่ใช่ไม่เดือดร้อน..."
นี่เป็นแค่บางห้วงบางตอน ที่ต้องย้อนถามไปถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงพาณิชย์ ไปถึงคนบนตึกไทยคู่ฟ้า ความเสียหายมหาศาลขนาดนี้ จะหาทางแก้ไขอย่างไร
ติดขัดตรงจุดไหนหรือ ถึงไม่กล้าบอกความจริงประชาชน
"ดูท่าเรื่องนี้จะไม่หมูซะแล้วครับ"