จี้ "กรมปศุสัตว์" รับผิดชอบหมูแพง ปกปิดข้อมูลโรคระบาดหมู
ปกปิดข้อมูล โรคระบาดหมู เอื้อนายทุนส่งออกเนื้อสัตว์ ข้อกล่าวหา เรียกร้อง "กรมปศุสัตว์" รับผิดชอบปัญหาราคาหมู
ภาคีคณบดีสัตวแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย 14 สถาบัน ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 64 แสดงห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรค โดยในหนังสือยืนยันการพบ เชื้อ ASF ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และระบุว่าได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งขอให้กรมปศุสัตว์ควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมีให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยแล้ว
การปกปิดการระบาดของ ASF ในหมู ทำให้ฟาร์มหรือเกษตรกรรายย่อยเลิกเลี้ยงหมู และต้องขายหมูที่รอดออกไปด้วยราคาขาดทุน แต่ทุนใหญ่ไม่เจอปัญหานี้เพราะมีตู้แช่แข็ง สามารถชำแหละหมูแช่เอาไว้เพื่อปล่อยสู่ตลาด เป็นเจ้าหลักเจ้าเดียวในวันที่ไม่มีหมูเจ้าอื่นในตลาด ได้ประโยชน์ทั้งราคาและไม่มีคู่แข่ง อีกทั้งการไม่มีรายงานการติดเชื้อ ASF ในไทยอย่างเป็นทางการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ยังส่งออกหมูได้โดยไม่มีผลกระทบ
ปดิพัทธิ์ สันติภาดา สส.ก้าวไกลในฐานะ อดีตสัตวแพทย์ ตั้งคำถามว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันว่า ไม่มี ASF ระบาด ทำไมจึงมีมติ ครม.อนุมัติให้ใช้งบกลางเพื่อให้ทำลายสุกรและจ่ายเงินชดเชย แต่กลับไม่มีเอกสารชี้ชัดว่าเป็นโรคอะไร สถานการณ์โรคระบาดในสัตว์เกิดขึ้นมาแล้ว 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มพบการตายไม่ปกติของหมูในจังหวัดชายแดน ซึ่งเพื่อนบ้านพบการระบาดของ ASF ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยที่เราเองกำลังเจอปัญหาโรคอุบัติบัติใหม่ในสัตว์จากม้า ตามมาด้วยวัว ต่อมาคือหมู ซึ่งเป็นเชื้อในอาฟริกาทั้งสิ้น ทำให้เกิดคำถามถึง มาตรการการนำเข้า กักกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ของประเทศไทย ทำให้ไทยถูกมองเป็นของโรคระบาดสัตว์จากแอฟฟริกา
การเกิดโรคระบาดหมูสะท้อนถึงประสิทธิภาพและการวางมาตรการรองรับที่อาจไม่ดีพอของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลในเรื่องนี้ ในปีที่ผ่านมาผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยไม่มีโรคอหิวาต์ในหมูอย่างแน่นอน แต่ผลการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลับพบโรคระบาดในปี 2564 ซึ่งเป็นปีเดียวกัน คำถามคือมีการปิดข่าว ปกป้องผลประโยชน์ส่งออกเนื้อสัตว์หรือการส่งออกอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ หรือไม่ ใครจะต้องรับผิดชอบ ในฐานะที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ