เกมยื้ออำนาจ "มินอ่องหล่าย" ทัพชาติพันธุ์ไร้เอกภาพ
ขวบปียึดอำนาจ "มินอ่องหล่าย" เล่นเกมซื้อเวลากับฮุนเซน เดินหน้าปราบปรามประชาชน มั่นใจแสนยานุภาพกองทัพเมียนมา 5 แสนนาย ไม่กังวลทัพชาติพันธุ์ เพราะขาดเอกภาพ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ใกล้ครบรอบ 1 ปี “มินอ่องหล่าย” ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ เมียนมาได้เข้าสู่ภาวะ 2 รัฐบาล 2 กองทัพ ไฟสงครามไหม้ลามทั้งในชนบทและเมืองใหญ่
กองทัพเมียนมา 5 แสนนายค้ำยันเก้าอี้ “มินอ่องหล่าย” ฝ่ายรัฐบาลต่อต้านและกลุ่ม PDF เข้มแข็งขึ้น แต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ กลับไม่เป็นเอกภาพ
จับตาฮุนเซนโมเดล “มินอ่องหล่าย” จะยอมเปิดทางเจรจาฝ่ายต่อต้านหรือไม่ เมื่อความได้เปรียบในสนามรบยังอยู่ในมือจอมเผด็จการ
ช่วงวันที่ 7-8 ม.ค.2565 สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน เดินทางไปพบ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อเจรจาคลี่คลายวิกฤตการณ์สงครามกลางในเมียนมา
ผลการเจรจายกแรก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้แจ้งว่า กองทัพเมียนมา ได้ประกาศขยายช่วงเวลาการระงับปฏิบัติการทางทหาร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ.2565 ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพในประเทศ
ภาพรวมการสู้รบในวันนี้ กองทัพเมียนมาหรือตั๊ดมะด่อ ยังเปิดยุทธการล้อมปราบกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ในบางกลุ่มบางพื้น และกวาดล้างกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกองทัพของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ฝ่ายสนับสนุนอองซานซูจี
จริงๆแล้ว กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์(EAO)ทั่วประเทศเมียนมา มีประมาณ 30 กลุ่ม แต่มีกองกำลังของชาติพันธุ์ 20 กลุ่มเท่านั้น ที่มีศักยภาพในการต่อกรกับกองทัพเมียนมา
ส่วนกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในทุกภูมิภาค แต่ปัญหาของนักรบปฏิวัติเหล่านี้คือ ขาดแคลนอาวุธทันสมัย จึงหันไปรบจรยุทธ์ แต่กองทัพเมียนมาก็ตอบโต้แบบเหวี่ยงแห ประชาชนพลอยเดือดร้อนต้องอพยพหลบหนีข้ามรัฐ หรือออกนอกประเทศ
ดังนั้น พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ(SAC) จึงเล่นเกมยื้อซื้อเวลาไปเรื่อยๆ โดยมีกำลังทหาร 5 แสนนาย คอยปกปักรักษาอำนาจตัวเอง ขณะที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์(EAO) รวมทั้งหมดมีกำลังทหารประมาณ 8 หมื่นนาย
‘กองทัพค้ำบัลลังก์’
นับแต่ตัดสินใจยึดอำนาจ “มินอ่องหล่าย” ก็เชื่อมั่นในแสนยานุภาพของกองทัพบก เรือ และอากาศ รวมถึงตำรวจ และกองกำลังอาสาสมัครป้องกันชายแดน ที่จะปราบปรามฝ่ายต่อต้านให้อยู่หมัด
ปัจจุบัน กองทัพบกเมียนมา มีกำลังทหารประจำการประมาณ 5 แสนนาย โดยแบ่งออกเป็นกองทัพภาค จำนวน 6 ภาค กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
กองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบทางตอนเหนือที่ติดกับอินเดียและจีน และในพื้นที่ภาคกลางบางส่วน ,กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งติดกับไทยและลาว
กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบภาคกลางลุ่มน้ำอิระวดี รัฐยะไข่และรัฐชิน, กองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามันและพื้นที่ตอนใต้ที่ติดกับไทย, กองทัพภาคที่ 5 รับผิดชอบพื้นที่เขตย่างกุ้ง
กองทัพภาคที่ 6 มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองปินมะนา และกรุงเนปิดอว์ ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นในปี 2548 เป็นกองบัญชาการกองทัพภาค และเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานกองทัพเมียนมาทั้งหมด
‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’
“มินอ่องหล่าย” ก็ไม่ต่างอดีตนายพลผู้คุมกำลังกองทัพเมียนมาในอดีต ที่วางยุทธศาสตร์ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ คือมีทั้งรบ และเจรจา โดยยื่นผลประโยชน์ให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่ม แลกกับการหยุดยิง
กลอุบายของขุนศึกเมียนมา ส่งผลให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ไม่เป็นเอกภาพและหวาดระแวงกันเอง แถมบางชาติพันธุ์ยังสู้รบกันเอง
10 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาลเต็งเส่ง ได้ตั้งคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST มีผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา ประกอบด้วย
1.สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพไทใหญ่ใต้ 2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA)
3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO) 4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย หรือกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) 5.แนวร่วมแห่งชาติชิน 6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) อยู่ในรัฐชิน 8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) 9.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) 10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)
หลังรัฐประหาร มีเพียงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ที่ประกาศสนับสนุนขบวนการต้านเผด็จการทหาร และทำการสู้กับกับกองทัพเมียนมา
ส่วนพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะยา(KNPP) และกองกำลังกะเหรี่ยงแดง(KA) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่บนดอยยามู รัฐกะยาหรือรัฐกะเรนนี ตรงข้าม อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ไม่เข้าสู่กระบวนการเจรจาหยุดยิง และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่ทำการสู้รบกับทหารเมียนมาอย่างไม่ลดละ
อีกด้านหนึ่ง กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในภาคเหนือ ในนามคณะกรรมการเจรจาทางการเมือง(FPNCC) ประกอบด้วย
1.กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) 2.กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) 3.กองทัพเมืองลา (NDAA) 4.กองทัพโกก้าง(MNDAA) 5.กองทัพรัฐฉานก้าวหน้า (SSPP/SSA) หรือไทใหญ่เหนือ 6.กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และ 7.กองทัพอาระกัน (AA)
7 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในภาคเหนือ มีกำลังพลรวมกันประมาณ 5-6 หมื่นคน มีศักยภาพในการรบ และมีอาวุธทันสมัยจากจีน แต่ผู้นำชาติพันธุ์เหล่านี้ กลับนิ่งเฉยต่อการรัฐประหาร
ยกเว้นองค์กรเอกราชคะฉิ่น/กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIO/KIA) กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่มีศักยภาพในการสู้รบมากที่สุด ได้ประกาศหนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของอองซานซูจี และเปิดการสู้รบกับทหารเมียนมา
นี่คือภาพรวมของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่ยังขาดเอกภาพ และปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายซูจี ที่อยากให้ทุกกลุ่มรวมตัวเป็นกองทัพสหพันธรัฐ จึงทำให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย พร้อมที่จะเล่นละครเรื่องสันติภาพ ยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อไป