จับตาร่างกฎหมายคุมจริยธรรมสื่อ.. ได้มากกว่าเสีย!
เกาะติดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… หลังครม.เคาะผ่านและให้สภาฯ พิจารณาต่อไป ร่างกม.ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนได้มากน้อยเพียงใด ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ หรือปิดปากสื่อจริงหรือไม่ ชวนให้ต้องค้นหาคำตอบ
ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่าน ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา กระแสการจับจ้องไปถึงท่าทีของ สื่อมวลชน จะมีปฏิกิริยาต่อต้าน หรือเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้มีการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้หลายครั้งหลายคราว และได้ปรับปรุงแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุที่เกรงว่ากฎหมายฉบับนี้ อาจมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งในข้อสังเกตของ คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรและคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในประเด็นนี้ว่าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... มีบทบัญญัติใดกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ หากมีต้องกำหนดไว้ในเหตุผล ความจำเป็นของร่างพระราชบัญญัติ หรือไม่
พบว่า ความเห็นจากการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพ การประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติใดที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเป็นการคุ้มครองเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้รวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อกำกับดูแลกันเอง โดยมีจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะร่วมกันกำหนด รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบสื่อมวลชนและการรู้เท่าทันสื่อ
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยกับ “คมชัดลึก” ถึงมุมมอง แนวคิดและทัศนคติ ต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หรือประโยชน์ที่จะได้รับ มากกว่าโทษที่จะเกิดขึ้นกับสื่อมวลชน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนรี (ครม.) ไว้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว
ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้สื่อมวลชนจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะทำให้การกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีองค์กรกำกับดูแลด้านจริยธรรม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะกฎหมายก็บอกว่าเป็นกฎหมายส่งเสริมจริยธรรม อันนี้เป็นหลักอันหนึ่ง และอีกอันก็คือการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวและแสงความคิดเห็น เพราะในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับปี 2540, รธน. ปี 2550 และ รธน.ปี 2560 ไม่ได้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมารองรับไว้ ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้การคุ้มครองเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นรูปธรรม ก็ถือเป็นหลักและประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้
นายชวรงค์ ได้บอกเล่าถึงการต่อสู้เพื่อให้เกิดร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการผลักดันกันมาตั้งแต่ยุค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จนมาถึงยุค สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่เนื้อหาของร่างกฎหมายยังเป็น แบบควบคุมสื่อ ซึ่งเราก็คัดค้านมาโดยตลอด เมื่อรัฐบาลให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนให้องค์กรวิชาชีพสื่อเข้าไปมีส่วนร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ช่วยกันทำมานาน โดยกรมประชาสัมพันธ์เป็นธุรการในการสนับสนุน และรับฟังความคิดเห็นทั้งจากสื่อในส่วนภูมิภาคและสื่อส่วนกลาง
เมื่อกฎหมายนี้ผ่านครม. ตั้งแต่ปลายปี 2561 มาถึงปี 2562 และก็มีการพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อพิจารณาเสร็จก็ส่งให้รัฐบาลในปี 2563 และครม.ก็รับกลับมาพิจารณาและส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (ปสส.) พิจารณา แล้วก็ส่งกลับมาที่ครม.และให้กรมประชาสัมพันธ์ไปสอบถามองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนว่าจะแก้ไขอะไรไหม แต่กฎหมายก็ดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้แก้ไขอะไร ซึ่งในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชนก็ต้องร่วมชี้แจงถึงบทบาท หน้าที่และสิทธิเสรีภาพของสื่อในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนและมวลชน
“เรามีจุดยืนมาโดยตลอดว่าจะต้องไม่มีการกำกับเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และถ้ามีกฎหมายเหล่านี้ ก็ต้องไม่กำกับการทำหน้าที่สื่อ ก็เป็นการส่งเสริมล้วน ๆ คนที่จะให้เอากฎหมายมาจัดการกับสื่อ ปิดปากสื่อนั้นไม่ใช่ และที่ร่างกฎหมายออกมาล่าช้า ก็เพราะรัฐบาลก็คงลังเล ถ้าออกมาแล้วก็เกรงจะควบคุมสื่อไม่ได้ แต่เราก็ยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์มากกว่าโทษ และน่าจะได้รับสนับสนุนจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะจะช่วยให้การกำกับดูแลสื่อด้านจริยธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ทำหน้าที่เข้มแข็งมากขึ้น เราก็หวังอย่างนั้น” ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ระบุ
นายชวรงค์ ย้ำด้วยว่า ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ก็มีกลไกของคณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมาย เราก็คงจะพยายามอธิบาย ตัวแทนวิชาชีพสื่อก็จะเข้าไปอธิบายหลักการกฎหมาย และไม่ควรมีการแก้ไขในส่วนที่หลายฝ่ายอยากแก้ไข เช่น ให้มีการลงโทษทางกฎหมายกับสื่อที่ละเมิดทางจริยธรรม ซึ่งเรายืนยันว่าทำไม่ได้
“ต้องไปดูเนื้อหาข้อกฎหมายให้ดี และสื่อมีส่วนร่วมในร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่แรก และร่างก็ออกจากครม. ก็ยังคงหลักการเดิม ยืนยันว่าเราก็ดูแล้วว่ากฎหมายนี้จะไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งจำกัดเสรีภาพสื่อ คุมสื่อไม่มี” ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวย้ำ
ในตอนท้าย นายชวรงค์ กล่าวฝากถึงเพื่อนสื่อมวลชนในทุกแขนงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ อยากให้ดูกันให้ละเอียด อ่านก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ จะเข้าใจว่าเนื้อหาสาระ และฝากพวกเราช่วยดูว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาแล้ว อย่าให้มีการผิดเพี้ยนจากร่างที่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งไปถูกแก้ไขเพื่อให้มาคุมสื่ออย่างที่พวกเรากังวล อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตั้งสติและคิดว่ามันมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ ต้องดูแลให้เป็นประโยชน์กับพวกเราให้ได้
นายชวรงค์ ตั้งข้อสังเกตฝากเอาไว้ด้วยว่า มีประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของครม. คือพูดถึงว่าปัจจุบัน สื่อไม่มีสภาวิชาชีพ หรือใบประกอบวิชาชีพเหมือน สภาทนายความ หรือ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งในประเด็นนี้วิชาชีพสื่อไม่เหมือนกับวิชาชีพทนายความ หรือ วิชาชีพบัญชีฯ ที่มีการควบคุมที่ตัวบุคคลว่าจะต้องเรียนจบด้านนั้นมาโดยตรง ต้องมีใบประกอบวิชาชีพนั้นด้วย แต่สำหรับวิชาชีพสื่อ องค์กรสื่อจะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน เรามีลักษณะเป็นองค์กร ไม่ได้เป็นตัวบุคคล และ ผู้ที่เป็นสื่อมวลชนไม่จำเป็นต้องเรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนมาเท่านั้น แต่เรียนจบด้านไหนมาก็สามารถเป็นสื่อมวลชนได้
สำหรับความคิดเห็นและมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ที่เสนอมุมมองเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค. ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นไว้ในเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ระบุว่า วันนี้ 11 ม.ค. 65 พระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า พรบ.สื่อ ผ่านครม. เพื่อไปพิจารณาต่อในสภาแล้ว คอยจับตาดูท่าทีของสื่อให้ดีครับ ว่าจะออกมาแอนตี้อีกหรือไม่
พ.ร.บ.นี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ไม่สำเร็จเสียที เนื่องจากสื่อต่อต้านอย่างหนัก มีการกล่าวหาว่าจะเป็นกฎหมายปิดปากสื่อ จนทำให้มีการแก้ไข ร่างแล้วร่างอีก หลายเวอร์ชั่นมาก ตั้งแต่ สปช. มา สปท. แล้วก็สภาปฏิรูป (ซึ่งผมมีส่วนร่วมเป็นอนุกรรมการใน 2 เวอร์ชั่นแรก ส่วนเวอร์ชั่นที่ 3 ก็ทำหน้าที่ช่วยระดมความเห็นเช่นกัน) แต่แปลกที่ว่ารับฟังความคิดเห็นประชาชนทีไร ก็มีแต่คนเห็นด้วย หลายคนอยากให้ควบคุมให้เข้มงวดหรือมีบทลงโทษให้หนัก ๆ ด้วยซ้ำไป
จนร่างล่าสุด เหลือแค่ การส่งเสริมให้สื่อทำตามจรรยาบรรณวิชาชีพ บทลงโทษมีเพียงการว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งจะดำเนินการโดย "สภาวิชาชีพสื่อมวลชน" ที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับและส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อ และรับจดแจ้งการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน คือเรียกว่าอ่อนมาก หวังพึ่งการดูแลกันเองของสื่อ การสร้างจิตสำนึก และ social sanction ของประชาชน (ซึ่งที่ผ่านมามีแต่ข้อสุดท้ายที่พอจะหวังได้ แต่ก็ยังไม่มีพลังพอจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม) ซึ่งกว่าจะแก้ไขได้ ก็ไม่ทันเข้าพิจารณาในยุค คสช. ต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่จนถึงวันนี้
แต่ทั้งหมดทั้งปวง ผมคิดว่าก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพราะ ณ ตอนนี้ แทบจะไม่มีกลไกอะไรในการควบคุมจริยธรรมสื่อมวลชนเลย องค์กรวิชาชีพไม่ function กสทช. ถ้าไม่มีใครร้องก็ไม่ monitor เชิงรุกเอง (นี่คือเหตุผลที่ผมต้องดำเนินการร้องเรียนเอง เพราะถ้าผมไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ ใครจะมาช่วยผม มาแบ่ง ๆ รถทัวร์กันไปบ้าง ก็ยินดีนะครับ)
ผมจึงอยากขอให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่าน ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของสื่อไทย แม้อาจจะคาดหวังความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่เริ่มต้นเลย นี่อาจจะเป็นก้าวที่ 1 ขอให้ทุกท่านช่วยกันจับตามองท่าทีของสื่อ ว่าจะออกอาการต่อต้านกฎหมายนี้อีกหรือไม่ กฎหมายนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนที่ช่วยกันผลักดันให้ไปถึงสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาแล้วครับ
ถึงวันนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่าน ครม.แล้ว ช่วงเวลานับจากนี้คือการเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการแก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติมหรือไม่นั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป แต่เชื่อได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งผลดีต่อสื่อมวลชนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในด้านของการคุ้มครองเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น