คอลัมนิสต์

เผยสาเหตุ การเพาะ "เสือโคร่ง" เพื่อขาย ไม่อาจช่วยลดการล่าในป่าได้

เผยสาเหตุ การเพาะ "เสือโคร่ง" เพื่อขาย ไม่อาจช่วยลดการล่าในป่าได้

19 ม.ค. 2565

"เสือโคร่ง" สัตว์ป่านักล่าที่ถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปแล้วในหลายประเทศ จากความเชื่อในการบริโภคและครอบครองผลิตภัณฑ์จากเสือที่มีมาแต่โบราณ แล้วเหตุใดจึงไม่เพาะพันธุ์เพื่อการค้าไปเลย คำถามนี้มีคำตอบ

มากกว่า 2,000 ตัว คือจำนวนที่ “เสือโคร่ง” ถูกล่าออกไปจากป่า ตั้งแต่เริ่มตั้งศตวรรษที่ 20 หรือประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลเสือที่ถูกยึดเป็นของกลาง ทั้งที่ยังมีชีวิตและตายแล้ว รวมถึงชิ้นส่วนอวัยวะ โดย Traffic องค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า จากการจับกุมใน 13 ประเทศ ที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งตามธรรมชาติ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย บังคลาเทศ ภูฏาน จีน อินเดีย เนปาล และ รัสเซีย

ปัจจุบันโลกใบนี้มีประชากรเสือโคร่ง เหลืออยู่น้อยกว่า 4,000 ตัว และเมื่อมองลึกลงไประดับสายพันธุ์ย่อยคือ “เสือโคร่งชวา” พบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2519 ส่วน “เสือโคร่งบาหลีสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านั้นหลายปี นั่นหมายความว่า ทั้งสองสายพันธุ์ย่อยนี้ได้ลาจากโลกนี้ไปแล้วตลอดกาล ดูจากชื่อก็คงทราบดีว่าเป็นสายพันธุ์ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้ยังเหลือสายพันธุ์สุมาตราอยู่ไม่กี่ร้อยตัว ส่วนในประเทศกัมพูชา เสือโคร่งก็สูญพันธุ์ลงแล้ว ขณะที่เวียดนามและลาว อยู่ในสถานะ “สูญพันธุ์โดยปริยาย” (functionally extinct) เพราะประชากรเหลือน้อยมาก จนไม่อาจขยายพันธุ์ได้ ด้านประเทศพม่าและมาเลเซีย จำนวนเสือโคร่งก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และในประเทศจีนก็มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์

ที่มาแห่งหายนะของนักล่าเจ้าป่า คือการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือ การลักลอบค้าชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเสือ ตามความต้องการของผู้นิยมชมชอบในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน และเวียดนาม ซึ่งจากภาวะนี้เอง หลายคนจึงมีคำถามว่า เหตุใดจึงไม่เปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงเสือเพื่อจำหน่ายให้เป็นกิจจะลักษณะ

คำตอบคือเมื่อปี 2530 ในการประชุมของ ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ได้กำหนดสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่า ตกลงห้ามมิให้มีการค้าเสือ ชิ้นส่วนร่างกาย และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเสือระหว่างประเทศในเชิงพาณิชย์

ต่อมาในปี 2550 ทางภาคีเห็นพ้องต้องกันในการเพิ่มเติมรายละเอียดว่า ไม่ควรสนับสนุนให้เกิดการเพาะพันธุ์เสือเพื่อการค้า แต่ควรเพาะพันธุ์เพียงเพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เสือในป่าเท่านั้น

กรณีนี้มีข้อโต้แย้งว่า การเพาะเลี้ยงเสือสามารถสร้างพื้นฐานการค้าชิ้นส่วนต่างๆ ของเสือได้อย่างยั่งยืน เป็นไปตามความต้องการของตลาด และจะช่วยให้เสือในป่าไม่ถูกล่า

แต่ในความเป็นจริงกลับมีข้อมูลปรากฎว่า ผลกระทบจากเรื่องนี้ให้ผลตรงกันข้าม คือผู้บริโภคยังคงพึงพอใจในชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ของเสือที่มาจากป่ามากกว่า ส่วนสัตว์ที่ถูกเพาะเลี้ยงถูกมองว่าไม่คุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ และมีประสิทธิภาพในการนำมาทำยาน้อยกว่าการแปรรูปสัตว์ที่จับมาจากป่า เพราะเชื่อว่าสัตว์ป่าที่ต้องต่อสู้เอาชีวิตรอดและหาอาหารเองตามธรรมชาตินั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อนำมาใช้ดูแลสุขภาพ

รวมถึงความเชื่อว่าการมอบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าหรือสัตว์หายากนั้น แสดงให้เห็นถึงบารมีและความมั่งคั่งของผู้ให้ จึงไม่สามารถนำสัตว์ที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มมาใช้ทดแทนได้

ขณะเดียวกัน หากอนุญาตให้มีการค้าชิ้นส่วนเสือจากฟาร์มเพาะเลี้ยงอย่างถูกกฎหมาย จนกลายเป็นของหาง่าย ก็เท่ากับความพยายามที่จะให้ ลด ละ เลิก การบริโภคสัตว์ป่าที่ผ่านมาต้องถูกทำลายลง และถ้าความต้องการของผู้บริโภคไม่ลดลงหรือกลับเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อเสือโคร่งในป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่ไม่มาก

นอกจากนี้ การเพาะพันธุ์และเลี้ยงเสือยังต้องลงทุนสูง แต่การล่าเสือในธรรมชาตินั้นมีต้นทุนต่ำกว่ามาก เพียงแค่แร้ว กับดัก ซึ่งหากการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจมีการซักฟอกเสือจากป่า ปลอมปนเข้าไปอยู่ในชิ้นส่วนที่มาจากการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้

หันกลับมามองความพยายามด้านการอนุรักษ์ของนานาชาติ มีการประชุมสุดยอดเสือโคร่งที่ประเทศรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) ในกลุ่มประเทศที่มีเสือโคร่ง ซึ่งรัฐบาลทุกประเทศมีมติเห็นชอบกับ เป้าหมายเพิ่มจำนวนเสือโคร่งเป็น 2 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ.2565) ซึ่งเป็นปีเสือ ตามปีนักษัตรไทยและเอเชีย เรียกภารกิจนี้ว่า TX2 โดยในปีเริ่มโครงการนั้น มีเสือโคร่งเหลืออยู่เพียง 3,200 ตัว จากจำนวนเสือโคร่งในป่ากว่า 100,000 ตัว เมื่อ 100 ปีก่อน 

ปีนี้คือปี 2565 ปีเสือ เป็นปีสิ้นสุดภารกิจ TX2 แม้เพิ่งเริ่มต้นปี เมื่อดูจากสถานการณ์แล้ว คงคาดเดาได้ไม่ยากถึงผลของภารกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คงต้องรอติดตามรายงานอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

อ้างอิงข้อมูล
มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ( WWF )