เรื่อง “หมูๆ แต่ไม่หมู”...รู้ไว้ก่อนจะโดนเชือดแบบหมู...!โดยขุนเกษตรพิเรน
เกิดคำถามสำหรับประชาชนทั่วไปว่า เหตุใดราคาหมูหน้าฟาร์มจึงมีราคาค่อนข้างต่ำ ภายใต้คำถามนี้ มีรายละเอียดซ่อนอยู่ภายในที่ต้องทำความเข้าใจกันสักหน่อย กับ คำว่า "เกษตรพันธสัญญา" คำที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในแวดลงเกษตรเวลานี้ โดยขุนเกษตรพิเรน
ในปัจจุบันมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) มาใช้ในการทำสัญญาอย่างแพร่หลาย
แต่สัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญามีลักษณะผสมผสานระหว่างสัญญาจ้างทำของ จ้างแรงงาน และสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีความซับซ้อน ดังนั้น จึงมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาให้ทุกฝ่ายสามารถบริหารสัญญาได้อย่างราบรื่น รวมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาในประเทศไทย
"ระบบเกษตรพันธสัญญา" หมายถึง ระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับองค์กรทางการเกษตรที่มีกฎหมายรองรับ เช่น สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต
ความหมายของคำว่า "เกษตรพันธสัญญา" (Contract farming)
1. เป็นระบบผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร
2. เกิดขึ้นจากสัญญาประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกรซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 รายขึ้นไปหรือกับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่มีกฎหมายรองรับ)
3. มีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้
4. ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือจ่ายค่าตอบแทนให้เกษตรกรตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
5. ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตด้วย (เช่น .. ร่วมกันวางแผนการผลิต (ปลูก-เลี้ยง) การส่งยารักษาโรค อาหาร เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายเกษตรกร เป็นต้น.)
จุดแข็งของ... พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560
1. เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ไม่เสี่ยงต่อความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ไม่ต้องหาตลาดเอง ผลิตแล้ว (ปลูก/เลี้ยง) มีผู้รับซื้อที่ไว้วางใจได้
2. ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรได้รับผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพตามต้องการ และ ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงกำหนดต้นทุนได้ล่วงหน้า
กรณีที่มีข่าวออกทางสื่อสังคม เกิดคำถามสำหรับประชาชนทั่วไปว่า .. เหตุใดราคาหมูหน้าฟาร์มจึงมีราคาค่อนข้างต่ำ บางรายขายได้แค่ 60 บาทต่อกิโลกรัมนั้น..
ขุนเกษตรพิเรน บอกได้เลยว่าต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้น ต้องไปดูว่า เกษตรกรรายนั้น ๆ มีการทำสัญญากันไว้กับทางบริษัทที่เป็นคู่สัญญาหรือไม่เพียงใด ? สัญญานั้น มีลักษณะการจ้างเลี้ยงหรือการประกันราคา จุดนี้เป็นสาระสำคัญเลย
ปกติจะเป็นการเลี้ยงแบบหักกลบหนี้กันโดยบริษัทจะจัดส่งอาหาร ยารักษาโรค ยาฆ่าเชื้อ วัคซีน รวมถึงเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายเกษตรกรไปใช้ก่อน ภายหลังเมื่อครบกำหนดจับหมูให้บริษัท จึงค่อยมาทำการหักกลบกันดูว่า ..เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นไปเท่าไร จึงมาหักกับราคาหมูที่เกษตรกรขายได้ โดยปกติมักจะมีการกำหนดไว้ในสัญญาแล้ว
หากเป็นการเลี้ยงแบบประกันราคาโดยมีการทำสัญญากันไว้ มีลักษณะเป็นสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาตามกฎหมาย พึงระวังการให้ข่าวที่เสียหายกับทางบริษัทฯ ที่เป็นคู่สัญญาด้วยนะครับ......หากทางบริษัทมองว่าการให้ข่าวไปนั้นอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับทางบริษัท จะพาลให้เกิดการยกเลิกสัญญาได้นะครับ.....!!!!!
"ขุนเกษตรพิเรน" สรุปใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้นั่นคือ...มีลักษณะที่ผู้ประกอบการมีการทำสัญญากับเกษตรกรโดยที่มีการตกลงในเรื่องราคารับซื้อไว้ล่วงหน้า อย่าลืมว่า ราคาที่เคยทำสัญญากันไว้นั้น ... เกิดก่อนหน้านี้แล้ว...!!! ไม่ได้มากำหนดราคากันตอนเกิดปัญหา ณ ขณะนี้...
ดังนั้น จะไปโวยวายว่าบริษัทคู่สัญญาเอาเปรียบก็คงไม่แฟร์กับทางบริษัทนะครับ...!!! ต้องให้ความเป็นธรรมกับทางบริษัทที่เป็นคู่สัญญาด้วย
ในทางกลับกัน ถ้าสมมติว่าตอนนี้ ราคาหมูในตลาดตกลงมาเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท จะเกิดการโวยวายหรือไม่ ?
เรื่องเกษตรพันธสัญญาเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องให้ความใส่ใจ ส่วนเมื่อมีปัญหาใดๆเกิดขึ้น เกษตรกรสามารถ ติดต่อไปได้ที่ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครับ