น่าภูมิใจไหม แรงงานไทยจะได้ไป "ซาอุดีอาระเบีย"
เปิดตลาดแรงงานไทยใน "ซาอุดีอาระเบีย" ผ่านมา สี่สิบปี ประเทศไทยยังต้องพึ่งพารายได้จากการขายแรงงานในตะวันออกกลาง
แว่วเสียงเพลงซาอุดร จากแอ๊ดคาราบาวที่มีเนื้อหาบางช่วงบางตอน ที่ว่า เขียนป้ายไปปักไว้ บอกคนทั้งหลายอยากขายที่นา นำทรัพย์สินเงินจากขายที่นา ตีตั๋วเครื่อง ไปหากินแดนไกล ย้อนกลับไปกว่าสามสิบปี เพลงนี้ โด่งดังจากชีวิตจริงของการดิ้นรนที่จะไปค้าแรงงานที่ซาอุดีอาระเบียในช่วงนั้น
ตั้งแต่ช่วงปี 2513 ประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำ เริ่มเดินทางไปทำงานในประเทศที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน ในตะวันออกกลางเช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย สอดรับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5ที่ใช้ระหว่างพ.ศ.2525 – 2529ส่งเสริมให้คนไทยไปขายแรงงานต่างแดนแล้วส่งเงินกลับมาประเทศ แก้ไขปัญหาความยากจนข้นแค้น เพื่อให้คนในชนบทอยู่ในฐานะพออยู่ – พอกิน
ที่รวยก็มี ที่เป็นหนี้ก็มาก
การเดินทางไปซาอุดิอาระเบีย ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เพียบพร้อม การเดินทางไปต่างแดนด้วยมุ่งหวังเพื่อการแสวงโชคและสร้างฐานะให้กับครอบครัว ถือเป็นการขายแรงงานต่างแดนครั้งใหญ่ของผู้ใช้แรงงาน แต่มีปัญหาการเข้าถึงเงินทุน ทำให้ต้องกู้นอกระบบ ถูกกลุ่มนายหน้าหลอกว่าจะพาไปทำงานต่างประเทศ แล้วไม่โดนลอยแพ ทำให้ชีวิตมีปัญหาตามมาสารพัด
สองวันที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปเยือนซาอุฯ กลับมาพร้อมรอยยิ้ม ฟื้นความสัมพันธ์ จัดหาแรงงาน ซึ่งมีความต้องการราวแปดล้านตำแหน่งไปให้ ล่าสุด ใหม่ๆหมาดๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
สุชาติ ชมกลิ่น โพสต์รำลึกความหลัง พ่อเป็นกรรมกร ขายแรงส่งลูกเรียน ได้ดิบได้ดี ทุกวันนี้ ต้องขอบคุณซาอุฯ ภายในสองเดือนนี้ ส่งแรงงานไทยไปซาอุดีอาระเบีย ต้องมีความคืบหน้าเป็นเสียงสั่งการมาจากนายกรัฐมนตรี
“เสี่ยงดวงไปถึงซาอุฯ ยกมือสาธุหมดนาหมดไร่ เกือบจะบินไปตาย เกือบจะไม่ได้กลับ โดนหลอกเอาไปลอยแพ อนาจใจแท้ชะตา พอกลับคืนบ้านนา ความรักยังมาหลุดลอย” เป็นท่วงทำนองเนื้อเพลง ลอยแพ ของพรศักดิ์ ส่องแสง นี่เป็นโจทก์ใหญ่ รัฐบาลจะจัดการกับการเปิดตลาดแรงงานซาอุดีอาระเบีย ครั้งใหม่อย่างไร ไม่ให้อดีตตามมาหลอกหลอน แต่ที่ปฏิเสธความจริงไม่ได้ คือ ผ่านมาสี่สิบปี ประเทศไทย ยังต้องพึ่งพารายได้จากการขายแรงงาน