เพื่อไทยทวงคืน ส.ส. สัญญาณชี้สนามเลือกตั้งกทม. ผ่าน"เลือกตั้งซ่อมหลักสี่"
การที่พรรคเพื่อไทยทวงคืนเก้าอี้ส.ส. ผ่านการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ พา สุรชาติ เทียนทอง ซึ่งเคยมีคะแนนเป็นอันดับสองเมื่อการเลือกตั้งปี 62 กลับเข้าสภาสำเร็จ ถือเป็นสัญญาณแห่งความหวังบนสมรภูมิเลือกตั้งในพื้นที่กทม. ครั้งหน้า ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ
ผลการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต9 พบว่า 8 พรรคการเมือง ส่งคนลงประชันเก้าอี้ แต่ตัวเต็งที่หลายฝ่ายประเมินไว้ก่อนหน้านี้ในที่สุดแล้ว เป็นไปตามคาด "สุรชาติ เทียนทอง" จากพรรคเพื่อไทยเข้าวิน และเวลานี้โอกาสดังกล่าวอยู่ในมือของบุตรชาย "เสนาะ เทียนทอง" อีกครั้ง ขณะที่ " มาดามหลี" สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของนายสิระ เจนจาคะ ที่ส่งลงสมัครแทนสามีเนื่องจากถูกตัดสิทธิทางการเมือง จากพรรคพลังประชารัฐ กลับคะแนนดำดิ่งหลุดวงโคจรท็อบทรี
แม้จะเป็นการเลือกตั้งซ่อมแต่มีผลกับกระดานการเมืองที่ตอนนี้เวลาของครม.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหลืออยู่หนึ่งปีเศษ แต่ด้วยภาวะภัยการเมืองในรัฐบาลรุมเร้า บวกกับปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 น่าจะจี้"ลุงตู่"ให้แต้มลดจากการทำงาน และมีการบีบบี้ให้"ลุงตู่" ไปจากตำแหน่งก่อนวาระ
แต่เกมกระดานนี้ ส่งผลที่ทำให้แต่ละพรรคต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่า ผลคะแนนที่ออกมาในงวดนี้ งวดหน้าจะแข่งขันจริง แต้มของแต่ละพรรคในแต่ละเขตของเมืองหลวงจะมีสักเท่าใด เพราะการแข่งขันคราวนี้คือ "ศึกยุทธศาสตร์" ของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล (เพราะหากแบ่งปีกกันนั้นพบว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลอยู่ในฝั่งที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย (แต่สองพรรคนี้ต้องแข่งกันเองและอนาคตก็จะเป็นแบบนี้เพราะมีกลุ่มฐานคะแนนเสียงในละแวกเดียวกัน) และอีกปีกหนึ่งคือพรรคพลังประชารัฐ พรรคกล้า พรรคไทยภักดี ที่ยึดฝั่งหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีกองเชียร์ในละแวกใกล้กัน)
แม้พรรคประชาธิปัตย์ที่ไร้ผู้แทนราษฎรในเมืองหลวงจะไม่ส่งคนลงแข่งขัน แต่ฐานคะแนนในคราวนี้น่าจะถ่ายไปยังบางพรรคชั่วคราว และคราวหน้าค่ายสีฟ้าคงไม่พลาดในการเอาคืน
การประเมินผลเลือกตั้งคราวนี้ จะมีผลกระทบมากกว่าผลเลือกตั้งซ่อมส.ส.สงขลา เขต 6 และ ชุมพร เขต 1 สองพื้นที่ดังกล่าวนั้นพรรคประชาธิปัตย์ประชันกับพรรคพลังประชารัฐ โดยค่ายสีฟ้ายังปักหลักไว้ได้ในสองเขตดังกล่าว แม้ผลคะแนนที่พบนั้น พลังประชารัฐก็ไม่ได้มีคะแนนที่ขี้เหร่ แม้จะไม่ชนะ แต่พอประเมินแต้มต่อของ"ลุงตู่"ในปักษ์ใต้ว่า มีคะแนนนิยมเท่าใด
สำหรับการเลือกตั้งคราวหน้ามากกว่า เห็นง่ายๆพื้นที่เมืองหลวงนั้น พลังประชารัฐงัดเครดิต"ลุงตู่" มาขาย หลังจากนิ่งเฉยในสองเขตภาคใต้ แบบนี้แปลความว่า เครดิตของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และแกนนำคนอื่นๆในพรรคนั้น ราคาอาจต่ำกว่าความเป็นจริง
หากสงสัยว่าเลือกตั้งซ่อมในเมืองหลวงคราวนี้สะท้อนผลเชิงยุทธศาสตร์นั้นหมายความถึงอะไร....
คำตอบคือ จะมีผลกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และส.ก. รวมทั้งเลือกตั้งทั่วไปงวดหน้า เพราะพื้นที่กทม.นั้น มีส.ส.ทั้งหมด 30 คน โดยพรรคเพื่อไทยเคยกุมไว้ 9 คน พรรคก้าวไกล 9 คน พรรคพลังประชารัฐ 12 คน และคราวหน้าพื้นที่เมืองหลวงน่าจะเพิ่มจำนวนส.ส.ขึ้นมาอีก 3 คน และหลายพรรคหวังพื้นที่นี้มาครอง
แต่หากให้น้ำหนักการต่อสู้ในงวดหน้าสำหรับสองสนามเวทีเมืองหลวงที่มีผลไม่น้อยทางจิตวิทยาการเมือง เป็นการบ่งชี้ขั้นต้นว่า โอกาสของพรรคใดจะใกล้เคียงกับคำว่า "ว่าที่แกนนำพรรคจัดตั้งรัฐบาล" นั้นมองได้ขั้นต้นว่า "พรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย " คือคู่ประชันโดยตรง และสองพรรคนี้จะต้องแข่งขันกับพรรคต่างๆที่ยืนคนละมุมและสู้กับพรรคที่อยู่ในปีกของตัวเองกันอีกชั้นหนึ่ง
การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้น แม้เพื่อไทยจะไม่ส่งคนแข่งขันแต่รู้กันทั้งเมืองว่า "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" คือนอมินีที่ลงแบบอิสระหวังไปเก็บแต้มจากคนที่ไม่ชอบเพื่อไทยมาลงแต้มให้ และกองเชียร์สายตรงและผู้สมัครส.ก.ค่ายเพื่อไทยต้องสนับสนุนอย่างเป็นทางการแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยที่ชูแคมเปญแลนด์สไลด์นั้น หวังที่จะมีส.ส.สองระบบ(เขตและบัญชีรายชื่อ)ให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้มีโอกาสเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลจากบัตรเลือกตั้งสองใบ
ขณะนี้ ภาคเหนือและอีสานคือพื้นที่หลักที่คนแดนไกลประเมินแล้วว่าจะได้ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ ส่วนภาคกลางนั้น บางจังหวัดก็ยังมีลุ้นหลายเขต ส่วนภาคใต้นั้นต้องส่งคนลงเก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์ และสนาม กทม.นั้นคือพื้นที่ซึ่งเพื่อไทยถอยไม่ได้
"เลือกตั้งซ่อมกทม.คราวนี้คือพื้นที่ที่พรรคแพ้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะมีผลกระทบหลายด้าน" แกนนำพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งระบุ แปลว่าคู่แข่งทั้งหมด (รวมทั้งพรรคที่แยกตัวไปจากพรรคเพื่อไทย)จะไม่มีคำว่าซูเอี๋ย ดังนั้นผลคะแนนของสุรชาติในงวดนี้ก็ทำให้แกนนำเพื่อไทยยิ้มออก
ส่วนพลังประชารัฐที่มีแต่เรื่องเชิงลบปูดมาเรื่อยๆ ตอนนี้การขับส.ส.ปีกผู้กองคนดังออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทยตามคำสั่งลุงป้อมเพื่อสยบศึกในและรองรับศึกนอกนั้น "น่าจะมีผลกระทบมากที่สุด" เพราะการรุมกินโต๊ะจากพรรคต่างๆรวมทั้งพรรคใหม่ที่แตกตัวมาจากพรรคนี้ และบางมุ้งเตรียม "จ่อแยกเซลล์" ออกมาจากพลังประชารัฐในเวลาอันใกล้ บวกกับผลกระทบจากการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ มีผลไม่น้อยกับส.ส.เมืองหลวงที่มีอยู่ในตอนนี้ของพลังประชารัฐ
เนื่องจากกระแสข่าวความขัดแย้งในพลังประชารัฐที่กระพือรายวัน(แกนนำแต่ละมุ้งมีกระแสข่าวปูดมาว่าจ่อย้ายพรรคเสมอๆ)บวกกับการที่นโยบายพรรคไม่ได้นำมาใช้เป็นนโยบายหลักของครม.ชุดนี้เลย และอย่ามองข้ามอาการยึกยักในการเปิดตัวผู้สมัครทางการเมืองของพลังประชารัฐในแต่ละครั้งด้วย เพราะมักล่าช้ากว่าพรรคอื่นๆเสมอ รวมทั้งการเสนอชื่อผู้ว่าฯกทม.ด้วยเช่นกัน
เมื่อภาวะวิวาทของแต่ละมุ้งในพรรคพลังประชารัฐหลุดออกมาเช่นนี้เรื่อยๆ อาการลูกผีลูกคนของส.ส.เมืองหลวง 12 ชีวิตที่สังกัดพรรคนี้นั้น งวดหน้าคนที่ดวงแข็งและฐานคะแนนดีจริงๆเท่านั้นที่น่าจะสอบได้
ส่องภาวะโอกาสในยามนี้และยามหน้านั้น หากผู้แทนฯเมืองหลวงของพลังประชารัฐหลุดเข้ามาได้สักหนึ่งในสามของจำนวนเดิมที่มีอยู่ก็นับว่ากำไรแล้ว
เมื่อคู่แข่งโดยตรงของเพื่อไทยโซชัดโซเซแบบอ่านได้ไม่ยากเช่นนี้ ภาวะ "ท้าชน" อย่างเป็นทางการจากเพื่อไทยจึงดำเนินมาเป็นระยะและน่าจะเร่งสปีด "การขย่มรัฐบาล"ให้เต็มสตรีมในเวลาถัดจากนี้