ซุ้มแตก "ประวิตร" เอาไม่อยู่ อวสาน พปชร.
รออวสานพลังประชารัฐ "ประวิตร" คุมร้อยซุ้มพันก๊กไม่ได้ เจอแรงกดดันปฏิรูปพรรคจากฝั่งทำเนียบ ทางออกอาจแยกย้าย ใครมาทางไหนก็กลับทางนั้น คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
หลักสี่เอฟเฟกต์ “ประวิตร” คิดหนักจะเอายังไงกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะกลุ่ม 6 รัฐมนตรี กดดันให้ปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่
เหมือนแก้วร้าวยากประสาน “ประวิตร” รู้ดีร้อยซุ้มพันก๊กในพลังประชารัฐ ยากที่จะเป็นเอกภาพดังเดิม ซุ้มขาใหญ่ต่างรอวันแยกทางไปหารังใหม่
ธรรมชาติพรรคทหาร “ประวิตร” คงแค่ประคองความขัดแย้ง ยืดเวลาออกไป จนกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสุกงอม พร้อมลุยน้ำลุยโคลนด้วยตัวเอง
หลังความปราชัยในการเลือกตั้งซ่อม 3 สนามรวด ส่งผลให้เกิดคลื่นใต้น้ำในพรรคพลังประชารัฐ มีกระแสกดดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค ให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารพรรค ดึงคนเก่งมีความสามารถเสริมทัพ
นับแต่เกิดกบฏธรรมนัสเมื่อปีที่แล้ว พลังประชารัฐกลายเป็นพรรคอมโรค ส.ส.บางกลุ่มก่อการตีรวนป่วนพรรคไม่เลิกรา แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะสั่งให้ยุบก๊กเลิกซุ้ม สร้างพลังประชารัฐให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ก็ไม่บังเกิดผล เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร เล่นบทรอมชอมและถือหางฝ่ายธรรมนัส
เป้าหมายของกลุ่มธรรมนัสคือ เขย่ารัฐบาลประยุทธ์ เพื่อให้ได้ตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่นานวันเขา พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ตอบสนอง ในที่สุด บิ๊กป้อมก็ไฟเขียวให้กลุ่มธรรมนัสออกไป ผ่านกระบวนการทางกฎหมายพรรคการเมือง
‘พลังป้อมสาขา 2’
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประวิตร” คือผู้มากบารมี เป็นศูนย์รวม ส.ส.ร้อยซุ้มพันก๊ก รวมถึงซุ้มธรรมนัส ในชั่วโมงนี้ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เจรจาให้พรรคเศรษฐกิจไทยอยู่ในฝ่ายรัฐบาลไปก่อน
การปรับคณะรัฐมนตรีจะมีขึ้นหรือไม่ ก็อยู่ที่การเจรจากันภายในกลุ่ม 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์จะยอมถอยเพื่อแลกกับการอยู่ต่อหรือไม่
จริงๆแล้ว ซุ้ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่แยกตัวออกไปสร้างพรรคเศรษฐกิจไทย ไม่ได้มีแค่ 18 คน ยังจะมี ส.ส.พลังประชารัฐมากกว่า 20 คน จะอพยพมาอาศัยใต้ชายคาบ้านหลังใหม่ในอนาคต
หากพรรคพลังประชารัฐ มีการปรับโครงสร้างใหม่ตามแรงกดดันของฝ่ายทำเนียบรัฐบาล ปีกสามมิตร และปีกอดีต กปปส.มีอำนาจมากขึ้น กลุ่ม ส.ส.โคราช สายวิรัช รัตนเศรษฐ คงขยับไปร่วมทั้งหมด หลังส่งไปล่วงหน้าแล้ว 2 คน คือ เกษม ศุภรานนท์ และทัศนาพร เกษเมธีการุณ
กลุ่ม ส.ส.สายตะวันตก, กลุ่ม ส.ส.สายหิมาลัย ผิวพรรณ, ส.ส.ใต้บางคน และ ส.ส.กทม.บางคน คงเตรียมย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจต้องรอให้มีการยุบสภาก่อน
‘จับตาสามมิตร’
สำหรับพรรคพลังประชารัฐ “ประวิตร” คงจะไม่ปรับใหญ่ตามแรงกดดันสายทำเนียบ โดยมอบให้ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รับหน้าที่แม่บ้านดูแล ส.ส. และดึง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มาช่วยอีกแรง
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นอีกคนหนึ่งที่ดับเครื่องชนกลุ่มธรรมนัส แต่ลึกๆ ชัยวุฒิก็ยังเคารพรักลุงป้อม ไม่กล้าแตกหัก
ที่น่าจับตาคือ กลุ่มสามมิตร นำโดยสมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอนุชา นาคาศัย รวมถึงกลุ่มกำแพงเพชรของ วราเทพ รัตนากร ที่ต้องการให้มีการปรับโครงสร้างใหญ่ และพยายามเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามามีบทบาทในพรรคมากขึ้น
กลุ่มสามมิตรมองว่า ต้นตอของปัญหาความอ่อนแอในพรรคมาจาก พล.อ.ประวิตร ไม่มีความเด็ดขาดในการจัดการปัญหากลุ่มธรรมนัส ปล่อยให้มีการตีรวนเขย่ารัฐบาล ฉะนั้น พล.อ.ประวิตรควรถอยออกมา
ส่วนกลุ่มบ้านใหญ่ อย่างสมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ไม่ได้ไปสังกัดซุ้มใหญ่ ต่างมีอิสระในการเคลื่อนไหว แต่พวกเขาก็มีความสนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ หากจำเป็นต้องเลือก พวกบ้านใหญ่ก็เลือกบิ๊กป้อม ยกเว้นกลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี สายลูกกำนันเป๊าะ
นัยว่า ฝ่ายทำเนียบรัฐบาลประเมินว่า แนวทางยึดพรรคพลังประชารัฐเพื่อรีโนเวท หากลงมือทำแล้วไม่คุ้ม ก็ควรแยกไปปั้นพรรคใหม่ ที่มีเครือข่ายอดีต กปปส.สร้างพรรคใหม่ไว้รองรับแล้ว
ดังนั้น โอกาสที่พลังประชารัฐจะถึงกาลอวสานก็เป็นไปได้สูง บรรดา ส.ส.ที่มาจากร้อยซุ้มพันก๊กก็คงแยกย้ายกลับไปที่เดิม ส่วน ส.ส.นกแลก็หารังใหม่ได้ไม่ยาก เพราะมีผู้กองธรรมนัสไปสร้างรังไว้รอแล้ว