คอลัมนิสต์

รู้ไหม "เสือ" ประเทศไทย มีกี่สายพันธุ์ เปิดภาพหาดูยากครบทุกชนิด

รู้ไหม "เสือ" ประเทศไทย มีกี่สายพันธุ์ เปิดภาพหาดูยากครบทุกชนิด

03 ก.พ. 2565

เมื่อเอ่ยถึง "เสือ" ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่มักนึกถึง "เสือโคร่ง" แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า แท้จริงแล้วป่าบ้านเราไม่ได้มีแค่เสือโคร่ง แต่ยังมีอีกหลายสายพันธุ์

ล่วงเข้าปีเสือมาได้เดือนกว่า ๆ ตั้งแต่ปีใหม่สากลจนมาถึงปีใหม่จีน ข่าวคราวของเสือในบ้านเราก็ยังไม่สร่างซา ทั้งคนยิงเสือ เสือกัดคน ซึ่งเสือในข่าว รวมทั้งเสือที่คนไทยทั่วไปคุ้นชินก็คือ "เสือโคร่ง" แต่รู้หรือไม่ว่า  ความจริงแล้วในประเทศไทยนั้นมี "เสือ" อยู่กี่สายพันธุ์ 

คำตอบคือมีทั้งสิ้น 9 สายพันธุ์ หรืออาจใช้คำว่า สัตว์ตระกูลแมวที่อาศัยอยู่ในผืนป่าประเทศไทย 9 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว/เสือดำ เสือลายเมฆ เสือไฟ เสือปลา เสือกระต่ายหรือแมวป่า แมวดาว แมวลายหินอ่อน แมวป่าหัวแบน ทั้งนี้ไม่นับรวมแมวบ้าน เพราะพวกมันไม่ใช่สัตว์ป่า

ใน 9 ชนิดนี้ แบ่งตามหลักอนุกรมวิธาน ได้เป็น 6 สกุล คือ เสือสกุล Catopuma , เสือสกุล Felis , เสือสกุล Pardofelis , เสือสกุล Prionailurus , เสือสกุล Neofelis และ เสือสกุล Panthera

เสือสกุล Panthera
เป็นตระกูลเสือที่คุ้นชินกันที่สุด ได้แก่ เสือโคร่ง ( Panthera tigris ) หรือ เสือลายพาดกลอน เป็นเสือตัวใหญ่ที่สุดในตระกูลนี้ ทั้งยังดุที่สุดและจัดเป็นนักล่าชั้นเยี่ยม ลักษณะลำตัวใหญ่ ขนสีส้มเหลืองปนเทา สลับขาว มีลายดำยาวพาดขวาง หางมีลายเป็นปล้อง หน้าสั้น 

รู้ไหม \"เสือ\" ประเทศไทย มีกี่สายพันธุ์ เปิดภาพหาดูยากครบทุกชนิด
เสือโคร่ง ราชาแห่งป่าไทย
อีกชนิดที่รู้จักกันดีในตระกูลนี้คือ เสือดำ / เสือดาว  ( Panthera pardus ) ใหญ่รองจากเสือโคร่ง ทั้งนี้ เสือดำและเสือดาว เป็นเสือชนิดเดียวกัน แต่เสือดำนั้นเกิดความผิดปกติของเม็ดสี (Melanism) หากสังเกตดี ๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในแสงสว่าง เราก็จะเห็นว่าเสือดำยังคงมีลายจุดตามผิวของมัน

และอีกจุดเด่นของเสือ 2 ชนิดนี้ที่มีมากกว่าพี่น้องของมันสายพันธุ์อื่น ๆ คือพวกมันสามารถร้องคำรามได้ก้องป่าอย่างน่าเกรงขาม ตามที่เราเองคงเคยได้ยินกันมาบ้าง อย่างไรก็ตาม เสือทั้ง 2 ชนิด กลับมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered -EN) 

เสือดำ เสือดาว คือเสือชนิดเดียวกัน ยามเสือดำต้องแสง จะเห็นลายดาวของมัน
เสือดำ ( เครดิตภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช )
เสือดาว ( เครดิตภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช )

เสือสกุล Neofelis
สำหรับเสือตระกูลนี้มีเพียงชนิดเดียวทั่วโลก นั่นคือ เสือลายเมฆ (Clouded  Leopard) ชื่อนี้มีที่มาจากลวดลายคล้ายก้อนเมฆบนตัวมัน ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Neofelis nebulosa ซึ่งมาจากภาษากรีก ว่า νεο- หมายถึง "ใหม่ สิ่งใหม่ แปลกใหม่" แล้วนำมารวมกับคำศัพท์ละติน feles ที่แปลว่า "แมว" จึงหมายถึง "แมวใหม่" เพราะมันเป็นสายพันธุ์ที่ถูกพบใหม่ มีขนาดเล็กกว่าเสือดาว แต่ลายใหญ่กว่าเสือดาว 

พวกมันเป็นนักล่าชัดยอด เพราะมีเขี้ยวที่ยาวและแข็งแรงมาก ทั้งยังมีความคล่องตัว ปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว หางยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว ช่วยในการทรงตัว จึงมักหากินบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดิน และพวกมันก็เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable -VU)

เสือลายเมฆ

เสือสกุล Felis
เสือตระกูลนี้จะตัวเล็กลงมา ได้แก่ เสือกระต่าย หรือ แมวป่า (Jungle Cat) จุดสังเกตคือใบหูใหญ่คล้ายกระต่าย ขายาว ลำตัวสีน้ำตาลเทา ขนาดจะใหญ่กว่าแมวบ้าน สามารถหากินได้ทั้งกลางวัน-กลางคืน และกินอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้ง หนูขนาดเล็ก กระต่ายป่ากิ้งก่า งู กบ มักพบพวกมันในพื้นที่ค่อนข้างโปร่ง เช่น ป่าที่มีหญ้าสูง หรือแม้แต่พื้นที่เกษตรกรรม

เสือกระต่าย มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในไทย (Critically endangered -CR) และยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้มีข้อมูลทางวิชาการน้อยมาก แต่เมื่อปี 2560 กรมอุทยานฯ รายงานการพบ เสือกระต่าย เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ทั้งตัวผู้-ตัวเมีย จึงเริ่มมีการสำรวจประชากรที่แน่ชัดมากขึ้น

เสือกระต่าย ( เครดิตภาพ เชียงใหม่นิวส์ )
เสือกระต่าย ( เครดิตภาพ theanimallife.com )

เสือสกุล Prionailurus
ได้แก่ แมวดาว (Leopard Cat) หรือชื่อวิทยาศาสตร์เรียกว่า Prionailurus bengalensis ขนาดเล็กใกล้เคียงแมวบ้าน แต่ขายาวกว่า มีลายพาดสีดำจากหัวตาไปถึงท้ายทอย 4 เส้น ลายจุดทั่วทั้งตัวคล้ายเสือดาว ลำตัวมักสีเหลือง น้ำตาล ท้องสีขาว ค้นพบในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นแมวป่าที่มีการปรับตัวให้อาศัยในป่าได้หลากหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ พื้นที่เกษตรกรรมฯลฯ

แมวดาว ( เครดิตภาพ  theanimallife.com )

แมวป่าหัวแบน (Flat-headed Cat) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Prionailurus planiceps มีขนาดเล็กใกล้เคียงแมวบ้าน น้ำหนักสูงสุดเพียง 2.5 กิโลกรัม หน้าผากแบนราบ ลำตัวยาว ขาสั้น ลำตัวสีน้ำตาลเทา หัวสีน้ำตาลแดง ใต้ท้องขาว มีจุดละเอียดกระจายทั่วลำตัว มีผังผืดเล็ก ๆ ที่เท้าเพื่อช่วยในการว่ายน้ำเช่นเดียวกับเสือปลา มักอาศัยใกล้แหล่งน้ำเพราะกินปลาเป็นอาหาร พวกมันอยู่กันแบบสันโดษ และจะปัสสาวะรดพื้นที่เพื่อสร้างอาณาเขต มักหากินเวลากลางคืน 

แมวป่าหัวแบน ( เครดิตภาพ earthraceconservation.org )
แมวป่าหัวแบน ( เครดิตภาพ earthraceconservation.org )

เสือปลา มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Prionailurus viverrinus ขนาดลำตัวเล็กกว่าเสือไฟ ลวดลายคล้ายเสือดาว แต่ลำตัวสีน้ำตาลเทาปนเหลืองอ่อน ๆ มีรูปร่างหนาอ้วน ม่อต้อ ใบหน้าที่กว้าง มีลายพาดสีดำจากหัวตาไปท้ายทอยประมาณ 6 เส้น รูปร่างน่ารัก ทั้งนี้เสือปลาจะมีขนถึงสองชั้น ทำให้มันหากินได้ดีกับน้ำ ที่เรียกว่าเสือปลานั้นเพราะว่ามันชอบจับปลากินเป็นอาหาร  

เสือปลา ( เครดิตภาพ มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร )
เสือปลา ( เครดิตภาพ theanimallife.com )

เสือสกุล Pardofelis
ได้แก่ แมวลายหินอ่อน (Marbled Cat) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pardofelis marmorata มีลวดลายคล้ายเสือลายเมฆ หรือคล้ายกับหินอ่อน จึงเป็นที่มาของชื่อ ขนาดลำตัวและน้ำหนักพอ ๆ กับแมวบ้าน ลักษณะทางกายภาพพวกมันถูกออกแบบมาเพื่ออาศัยอยู่บนต้นไม้โดยเฉพาะ ทั้งโครงสร้างเท้าที่ใหญ่ อุ้งเท้าอ่อนนุ่ม ขาสั้นและใหญ่ หางยาว นิสัยค่อนข้างดุ มักหากินเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถระบุจำนวนได้แน่ชัด นอกจากนี้แมวลายหินอ่อนยังถูกล่าเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความสวยงามอีกด้วย

แมวลายหินอ่อน ( เครดิตภาพ ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง )

เสือสกุล Catopuma
เสือไฟ (Asiatic golden cat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Catopuma temminckii ขนาดเล็กกว่าเสือลายเมฆ ลำตัวสีน้ำตาลส้มอมเหลือง มีลวดลายและสีคล้ายไฟ มีลวดลายน้อยถึงน้อยมาก ใบหน้ามีลายเส้นสีดำ แซมจุดสีขาว ถูกจัดเป็นผู้ล่าขนาดกลาง ส่วนใหญ่หากินเวลากลางคืน  สามารถปีนต้นไม้ได้ มักหากินตามพื้นดิน อาหารคือหนู นก กระต่ายป่า และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก พวกมันปรับตัวให้อยู่ในป่าได้ทุกสภาพ เช่น ป่าดิบแล้ง ดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ แต่ปัจจุบันพบได้ยาก เนื่องจากที่อยู่อาศัยถูกรบกวน และยังถูกล่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางไสยศาสตร์ โดยเฉพาะเขี้ยวของเสือไฟ

เสือไฟ เป็นเสือที่ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าเป็น "พญาเสือ" เนื่องจากมีพฤติกรรมดุร้ายมากกว่าเสือขนาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่ว่า เสือไฟสามารถเข้าไปล่าปศุสัตว์ในพื้นที่รอบชุมชนอยู่บ่อยๆ
เสือไฟ ( เครดิตภาพ องค์การสวนสัตว์ ) เสือไฟ ( เครดิตภาพ theanimallife.com )

ในจำนวนเสือทั้ง 9 ชนิดนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งเพิ่งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นแห่งที่ 6 ของประเทศไทย เมื่อปีที่ผ่านมา มีรายงานพบเสือถึง 7 ชนิด ยกเว้นเพียงเสือกระต่าย และแมวป่าหัวแบน โดยเสือกระต่ายนั้นมีเจ้าหน้าที่พบเห็น แต่ยังไม่สามารถถ่ายภาพและรายงานการพบอย่างเป็นทางการได้ จึงยังไม่นับชนิดที่พบอย่างเป็นทางการ

ซึ่งหากสามารถบันทึกภาพทำรายงานการพบเป็นชนิดที่ 8 ได้ ตำแหน่งพื้นที่อนุรักษ์ที่มีสัตว์ผู้ล่าในกลุ่มของเสือมากที่สุดในโลก จะตกเป็นของประเทศไทย เพราะอินเดียจะพื้นที่คุ้มครองที่มีเสือ 7 ชนิดก็จะน้อยกว่าเรา 1 ชนิดทันที

แม้ว่า เสือ จะถูกจัดให้เป็นผู้ล่าที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ แต่พวกมันก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย  จากผู้ล่าที่เหนือกว่านั่นคือ "มนุษย์"

ถึงเวลาหรือยังทีเหล่าผู้อ้างตัวเป็น "สัตว์ประเสริฐ" จะหยุดพฤติกรรมล่าสัตว์ป่า !! เพราะนั่นไม่ได้แสดงถึงความมีความอำนาจ หรือบุญญาบารมี  แต่กลับแสดงถึงจิตใจฝ่ายต่ำมากกว่า  

ขอบคุณข้อมูล
- มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
- theanimallife.com
- นายมานะ เพิ่มพูล  ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 
- เครดิตภาพใต้รูปภาพ