คอลัมนิสต์

ชี้ชะตา 3 ป. "ธรรมนัส" ตัวเร่งเกม ยื้อหรือยุบ

ชี้ชะตา 3 ป. "ธรรมนัส" ตัวเร่งเกม ยื้อหรือยุบ

03 ก.พ. 2565

จับตาอุบัติเหตุการเมือง "ธรรมนัส" กลับมาแล้ว บิ๊กป้อมคุมกำลังพล 60 ส.ส.เสริมทัพเศรษฐกิจไทย พี่น้อง 3 ป.จะยื้อปรับ ครม.หรือเสี่ยงดวงยุบสภาฯ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

อุบัติเหตุการเมืองเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ “ธรรมนัส” จะขยับตัวอย่างไร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะกล่อมน้อง 2 ป.ให้ยอมรับเงื่อนไขต่ออายุรัฐบาลได้หรือไม่

 

ไม่ได้มีแค่ 18 ส.ส.ในมือ “ธรรมนัส” ส่องไปในพลังประชารัฐที่เหลืออยู่ กว่า 60 ส.ส.อยู่ใต้ชายคาบ้านป่ารอยต่อ หัวหน้าซุ้มบางคนรู้ดีจึงเร้นกายหายไป หลังพ่ายศึกหลักสี่

 

จังหวะก้าว “ธรรมนัส” บนความเงียบของบิ๊กป้อม ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปยังทำเนียบรัฐบาล จะยื้อหรือจะหยุด พล.อ.ประยุทธ์คงมีคำตอบในเร็ววันนี้

 

บรรยากาศการประชุม ส.ส.พลังประชารัฐ เช้าวันที่ 2 ก.พ.2565 เหมือนตกอยู่ในสภาพบ้านแตก มี ส.ส.ไม่ถึง 20 คนโผล่หน้ามาปรึกษาหารือกัน

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พยายามบอกกับนักข่าวว่า สถานการณ์ภายในพรรคเรียบร้อยดี ไม่มีอะไร

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมและแกนนำพรรคพลังประชารัฐระดับผู้ใหญ่คนเดียว ที่โผล่มาร่วมประชุม ได้คุยกับนักข่าวว่า ขอให้รอดูก้าวต่อไปของพรรค และเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคจะเข้าใจ และคงเดินหน้าต่อ จะถอยหรือหยุดไม่ได้

 

สถานการณ์นับจากนี้ไป ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อมเพื่อน ส.ส.อีก 17 คน ในนามพรรคเศรษฐกิจไทย จะถูกจับตามองอย่างมากเป็นพิเศษ เพราะจะมีผลต่อเกมสภาอย่างมาก หากกลุ่มธรรมนัส บวกกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็ก 6-7 เสียง เขย่าแรงๆ สภาล่มต่อเนื่องก็อยู่ยากเหมือนกัน


นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า อุบัติเหตุการเมืองอาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ โดยเฉพาะเรื่องยุบสภา เพราะในแง่ของกฎหมาย มีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ เพราะรัฐบาลสามารถออกกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ ในรูปแบบพระราชกำหนด เพื่อมาใช้ในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้

‘กลับมาแล้ว’

หายไปหลายวัน “ธรรมนัส” กลับมาแล้วพร้อมข่าวชิ้นแรก ไม่ได้มีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และมีความตั้งทำงานเพื่อประชาชน

 

กลางดึกคืนวันที่ 2 ก.พ.2565 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ที่อยู่ระหว่างการกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ภูเก็ต ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศในกลุ่มยุโรป ได้ชี้แจงสื่อมวลชนเรื่องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีนั้น ไม่มีมูลความจริง

ร.อ.ธรรมนัส ตัวเร่งเกมการเมืองในสภาฯ

 

“ถ้ามีบางคนฉวยโอกาสนำกรณีที่ผมและกลุ่มพี่น้อง ส.ส.ออกมาจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว ไปต่อรองเก้าอี้ในรัฐบาล นับว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และอยากจะถามว่ามีสิทธิอะไร หรือใครมอบอำนาจให้ไปต่อรองในเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นนั้น เพราะผมเคยพูดไปชัดเจนแล้วว่า ผมและกลุ่มพี่น้องออกมาแล้วมีความตั้งใจจะมาทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ มีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาประเทศชาติให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแบบยั่งยืนและยึดมั่นในสถานบันหลักของบ้านเมืองนั่นคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

 

สิ่งที่ ร.อ.ธรรมนัส พยายามอธิบายนั้น เหมือนจะบอกว่า ขณะนี้กำลังจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยคนบางกลุ่มอ้างชื่อธรรมนัสไปเจรจาต่อรองเก้าอี้

 

ดังที่ทราบกัน การปรับคณะรัฐมนตรี เป็นทางออกหนึ่ง เพื่อยื้อลมหายใจรัฐบาลประยุทธ์ต่อไปอีก จึงมีข่าวลือเรื่องจัดสรรโควตารัฐมนตรีให้กลุ่ม 18 ส.ส.ที่แยกตัวออกจากพลังประชารัฐ

 

‘พลังป้อม’

กระบวนการขับ ส.ส.ออกจากพรรคพลังประชารัฐ “ธรรมนัส” ก็รู้เบื้องลึกเบื้องหลังดีที่สุด ฉะนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงเผลอหลุดปากพูดออกมาว่า “ก็พรรคผมทั้งนั้น”

 

ว่ากันตามจริง ส.ส.จำนวน 90 กว่าชีวิตที่เหลืออยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

กลุ่มสามมิตร ของสมศักดิ์ เทพสุทิน เหลืออยู่แค่ 12 คน รวมกับกลุ่มวราเทพ รัตนากร,กลุ่มสันติ พร้อมพัฒน์ และกลุ่มสุชาติ ชมกลิ่น นับดูแล้วมีกำลังพลไม่ถึง 30 คน

 

ดังนั้น พล.อ.ประวิตร ยังมีกำลังสนับสนุนจาก ส.ส.บ้านใหญ่, ส.ส.ภาคใต้, ส.ส.ภาคตะวันตก และ ส.ส.กทม.บางส่วน รวมแล้วกว่า 60 คน

 

มีรายงานข่าวว่า ช่วงชุลมุน 19 ม.ค. มี ส.ส.อีกหลายสิบคน พร้อมจะไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย แต่บิ๊กป้อมขอร้องให้อยู่พรรคพลังประชารัฐไปก่อน รอหลังยุบสภาฯ ค่อยขยับกันอีกที

 

สถานการณ์การเมืองภายในพลังประชารัฐ และเศรษฐกิจไทย จึงเป็นเรื่องของพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะคุยกับน้องทั้งสองอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้ได้ข้อสรุปอย่างไร

 

จะปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อต่ออายุรัฐบาล หรือจะลากกันไปอย่างนี้ จนเกิดเหตุสภาล่มซ้ำซาก สุดท้ายต้องตัดสินใจยุบสภา ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ที่พี่น้อง 3 ป.จะเป็นผู้เลือกกำหนดเกม