อาชีพไหนต้องได้ค่าแรง มากกว่าอัตราขั้นต่ำ อยากรู้ คลิก
ของแพงค่าแรงถูก พูดเบา ๆ ก็เจ็บ แต่นอกจาก "ค่าแรงขั้นต่ำ" ที่ต้องลุ้นแล้ว อีกสิ่งที่ต้องรู้คือ "ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ" ที่จะได้รับสูงกว่าค่าแรงทั่วไป ผู้ใช้แรงงานควรศึกษาไว้เพื่อพัฒนาตัวเอง หรือนักเรียนนักศึกษาต้องดู เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกอาชีพต่อไป
ขณะที่ผู้ใช้แรงงานทั่วไทยกำลังลุ้นด้วยใจระทึก กับการปรับเพิ่ม "ค่าแรงงานขั้นต่ำ" ซึ่งปรับขึ้นครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จากนั้นก็ไม่ได้ปรับอีกเลยจนตอนนี้ สวนทางกับค่าครองชีพที่ขึ้นสูงมาก สินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นราคา หมูแพง ผักแพง น้ำมันแพง จนแฮชแทค #หมูแพงค่าแรงถูก พุ่งติดเทรนด์ในโลกออนไลน์
ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยืนยันว่าปรับแน่ แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาท ตามที่ คสรท. เสนอหรือไม่ หรือจะเป็นเท่าใด ยังตอบไม่ได้ รวมทั้งประเด็น "ค่าแรงขั้นต่ำ" เท่ากันทั้งประเทศ ก็ยังต้องลุ้นกันต่อไป
แต่นอกจากค่าแรงขั้นต่ำแล้ว รู้กันหรือไม่ว่า ยังมีค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มอาชีพที่ต้องใช้ทักษะฝีมือ ที่ต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งค่าจ้างแรงงานกลุ่มนี้จะสูงกว่าแรงงานทั่วไป แต่มีข้อแม้สำคัญคือต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ต้องมีความรู้ มีทักษะ มีความสามารถ
ทั้งนี้ ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีจำนวนทั้งสิ้น 96 สาขาอาชีพ โดยล่าสุดเพิ่งมีประกาศปรับเพิ่มเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ก่อนจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 จำนวน 13 สาขาอาชีพ ประกอบด้วย
1. ช่างกลึง
2. ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC
3. ช่างควบคุมเครื่อง Wire Cut
4. ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ
5 ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร
6. ช่างโทรคมนาคม (ไมโครเวฟและการสื่อสารดาวเทียม)
7. ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ (Programmable Logic Controller : PLC)
8. ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมการจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดง สินค้า (MICE : Meetings Incentives Conventions Exhibitions)
9. ช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล
10. พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า
11. พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกใช้เครื่องยนต์
12. ช่างตั้งศูนย์และถ่วงล้อรถยนต์
13. ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์
ส่วนอาชีพใดได้รับค่าจ้างวันละเท่าไหร่ ต้องมีทักษะฝีมืออย่างไร และอีก 83 อาชีพที่เหลือคืออาชีพไหนบ้าง โดยในส่วนนี้มีอัตราค่าจ้างสูงสุด (ที่ยังปรับขึ้นได้อีก) อยู่ที่ 900 บาทต่อวัน สามารถเช็คได้จากตารางด้านล่างนี้ เพื่อเป็นกำลังใจในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ได้ตามมาตรฐาน หรือนักเรียนนักศึกษาสามารถศึกษาเป็นแนวทางในการเลือกประกอบอาชีพต่อไป
ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตรา ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 10)
คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 10)
สรุปมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (ความรู้ ทักษะฝีมือ และความสามารถที่สำคัญ) และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 13 สาขาอาชีพ
สรุปอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 96 สาขาอาชีพ