สายบิ๊กจิ๋ว "พิเชษฐ สถิรชวาล" ปลุกผีกลุ่ม16 ทิ้งลุงป้อม
ฟื้นชีพกลุ่ม 16 "พิเชษฐ สถิรชวาล" อดีตคนสนิทบิ๊กจิ๋ว รวม ส.ส.พรรคเล็กตั้งกลุ่มอิสระ หลังยุบสภาฯ เตรียมลาบิ๊กป้อมไปอยู่บ้านหลังใหม่ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ฟื้นกลุ่ม 16 “พิเชษฐ สถิรชวาล” นักการเมืองรุ่นเก๋า ใช้จังหวะรัฐบาลประยุทธ์ขาลง พรรคพลังประชารัฐแตก แยกตัวมาเป็นอิสระ
คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ “พิเชษฐ สถิรชวาล” มือดีลควบรวมความหวังใหม่กับไทยรักไทย ทักษิณปูนบำเหน็จเป็นรัฐมนตรี สนับสนุนให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามฯ
โตมากับบิ๊กจิ๋ว “พิเชษฐ สถิรชวาล” ปัจจุบันอาศัยใต้ชายคาบิ๊กป้อม กลุ่ม 16 พ.ศ.นี้ต่างจากกลุ่ม 16 พ.ศ.โน้น ราวหนังคนละม้วน
ในที่สุด พิเชษฐ สถิรชวาล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ยอมรับว่า ตัวเองเป็นหัวหน้ากลุ่ม 16 ที่ได้รวบรวม ส.ส.ต่างพรรคมาทำงานเพื่อบ้านเมือง
เหตุที่ใช้ชื่อกลุ่ม 16 พิเชษฐ อ้างว่าชื่นชมการทำงานของกลุ่ม 16 ในอดีต ที่ทำหน้าที่ ส.ส.เพื่อปกป้องประโยชน์ประชาชนและประเทศ โดยเฉพาะกรณี สปก.4-01 ซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 16 ไม่เกี่ยวเรื่องหวังผลต่อรองทางการเมือง
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามนักข่าวกรณีพิเชษฐไปนั่งหัวหน้ากลุ่ม 16 ว่า “ก็เขาอยากจะเป็น แต่คนอื่นเขาไม่เอา”
แกนนำหลักของกลุ่ม 16 (ปี 2565) ประกอบด้วย พิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้ากลุ่ม,มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ ผู้ประสานงานกลุ่ม , คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย เลขาธิการกลุ่ม และดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เป็นประธานที่ปรึกษากลุ่ม
‘โตมากับบิ๊กจิ๋ว’
บนถนนสายเลือกตั้ง “พิเชษฐ สถิรชวาล” ลงมัคร ส.ส.เพชรบุรี ตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งปี 2539 จึงได้เป็น ส.ส.เพชรบุรี พรรคความหวังใหม่
พิเชษฐจึงสนิทสนมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะได้แจ้งเกิดทางการเมืองกับพรรคความหวังใหม่
ปี 2544 พิเชษฐ สถิรชวาล เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคความหวังใหม่ และมีบทบาทสำคัญในการควบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย ต่อมา ทักษิณ ชินวัตร จึงพิเชษฐ์เป็น รมช.อุตสาหกรรม
หลังรัฐประหาร 2549 พิเชษฐได้ก่อตั้งพรรคสันติภาพไทย แต่ประสบความสำเร็จ ปี 2553พิเชษฐกลับเข้าพรรคเพื่อไทย พร้อม พล.อ.ชวลิต เป็นประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้เพื่อไทย สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พิเชษฐเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
นอกจากนี้ พิเชษฐ์ยังเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้น อดีตนายกฯทักษิณ มีส่วนสนับสนุนให้เขาไปมีบทบาทในคณะกรรมการกลางอิสลามฯ
‘หัวหน้ากลุ่มพรรคจิ๋ว’
หลังเลือกตั้งปี 2562 “พิเชษฐ สถิรชวาล” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง เนื่องจากกติกาเลือกตั้ง กำหนดให้มี ส.ส.พึงมี จึงเกิดพรรค 1 เสียงขึ้นมา
พิเชษฐ รับบทหัวหน้ากลุ่มพรรคเล็ก 10 พรรค ได้แก่พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชานิยม, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลังเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคเพื่อชาติไทย ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มาเป็นผู้ดูแลพรรคเล็กหรือพรรคจิ๋ว จนเกิดปรากฏการณ์แจกกล้วยในสภาฯ ถัดมา มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล มาเป็นฝ่ายค้านอิสระ
ปลายปี 2564 พิเชษฐ ตัดสินใจยุบพรรคประชาธรรมไทย และสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะใช้กติกาบัตร 2 ใบ และคำว่า ส.ส.พึงมี ก็จะไม่มีอีกแล้ว
พลันที่พรรคพลังประชารัฐ มีกลุ่มธรรมนัสแยกตัวออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย และเสถียภาพรัฐบาลง่อนแง่น พิเชษฐ จึงปรึกษากับเพื่อน ส.ส.พรรคเล็ก อย่าง มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์,คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล และดำรงค์ พิเดช ตั้งกลุ่ม 16 ขึ้นมา
ปัจจุบัน มี ส.ส.พรรคเล็ก ที่ไม่ได้ไปร่วมกลุ่ม 16 ได้แก่ ปรีดา บุญเพลิง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน , ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย,บุญญาพร นาตะธนภัทร พรรคพลังชาติไทย ,นพ.ระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่ ,สุรทิน พิจารณ์ ประชาธิปไตยใหม่ และนันทนา สงฆ์ประชา พรรคประชาภิวัฒน์
หากมีการยุบสภาฯ พิเชษฐ สถิรชวาล น่าจะไม่อยู่พรรคพลังประชารัฐ และคงเลือกพรรคการเมืองใหญ่ไว้เป็นที่พึ่งพิงเรียบร้อยแล้ว