เอาผิดพระเสพเมถุน 7 ชั่วโคตร "พรบ.อธิกรณ์ประถมปาราชิก2463" ถามหาต้องใครทำ?
"เจ้าอาวาสวัด" เสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ เมื่อกระทำเสมือนอลัชชี ต้องถูกลงโทษมีบทบังคับใช้ตาม "พรบ.อธิกรณ์ประถมปาราชิก2463" ส่วนผู้หญิงต้องถูกลงโทษด้วยเช่นกัน
เรื่องอื้อฉาว "วงการผ้าเหลือง" เกิดแล้ว เกิดอีก บางเรื่องจะเกิดใกล้วันสำคัญทางศาสนาอีกต่างหาก เช่น
เรื่องอื้อฉาวหนนี้ เกิด 9 กุมภาพันธ์ ใกล้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันมาฆบูชา
อย่างไรก็ตาม เรื่องอื้อฉาวมักเกี่ยวข้องกับสตรี หรือไม่ก็สตางค์ จนมีคำกล่าวว่า สตรีและสตางค์เป็นศัตรูของพระสงฆ์ ครั้งนี้เกี่ยวกับสตรี
เรื่องอื้อฉาวของผ้าเหลืองเกิดทีไร หัวใจชาวพุทธสะทกสะท้านด้วยความเสียใจ เพราะพระสงฆ์เป็นสัญลักษณ์ของผู้ทรงศีล เป็น "เนื้อนาบุญ" ไม่น่าจะก่อเรื่องน่าอับอาย ขึ้นมา
ล่าสุด ผู้ก่อเหตุเป็นพระภิกษุ ที่บวชมานานอายุเกิน 60 ปี มีฐานะเป็น "เจ้าอาวาส" วัดแห่งหนึ่งย่านสำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ก่อเหตุเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565
ข่าวที่สื่อมวลชนเสนอสรุปได้ว่า "หมอปลา" ฉายามือปราบสัมภเวสี ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีสตรีนางหนึ่งเข้าไปในกุฏิเจ้าอาวาส ตั้งแต่หัวค่ำยังไม่ออกมาเลย
"หมอปลา" จึงพร้อมด้วยสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไปถึงวัด 2 ทุ่มเศษ เคาะประตูกุฏิเป้าหมายอยู่นาน แต่เงียบ ผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง คนรอบวัดรู้ข่าวก็มาสังเกตุการณ์จำนวนมาก และเวลาที่รอคอยก็มาถึง เมื่อประตูกุฏิเปิด หมอปลา และสื่อเข้าไปขอดูว่ามีสตรีซ่อนตัวอยู่หรือไม่
สิ่งแรกที่สื่อเห็นคือ "ยางรัดผม" สตรีบนเตียงนอนเจ้าอาวาส คำตอบเจ้าอาวาสว่าเป็นของท่าน เอาไว้รัดหัวเมื่อปวดศรีษะ (เรียกเสียงฮือฮา) แล้วก็สวมโชว์
สื่อมวลชนมองไปโดยรอบเห็นยกทรงตกอยู่ข้างบันได เมื่อเปิดจีวรที่คลุมข้างบันไดออก ก็พบ "สตรี" นางหนึ่งซ่อนตัวอยู่
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปด้วยจึงพา "เจ้าอาวาส" และ "สตรี" นั้นไปวัดที่เป็น "เจ้าคณะปกครอง" ให้สอบสวน ในที่สุดเจ้าอาวาส ยอมสึกจากพระ สตรีนางนั้นมีลูกมีสามีแล้วก็กลับบ้าน มีข่าวว่าสามีเห็นข่าวถึงกับร้องไห้
ส่วน อดีตเจ้าอาวาส ที่กลายเป็นสมี ก็ลอยนวล ไม่ได้ถูกลงโทษ แต่อย่างใด
เมื่อถามพระผู้ใหญ่ว่า กรณีอย่างนี้ปล่อยเลยตามเลยหรือ ท่านบอกว่ายังไม่มีใครยกเรื่องมาให้พูดกัน
เราเชื่อว่าเรื่องอื้อฉาว ที่สร้างความมัวหมองต่อพระศาสนา จะต้องเกิดขึ้นอีก ตราบใดที่คณะสงฆ์ หรือฝ่ายบ้านเมืองไม่มีมาตรการลงโทษตามสมควร
ขอย้อนอดีตไปในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภก และทรงเป็นห่วงพระพุทธศาสนาว่าจะมีมลทิน จาก "พระภิกษุอลัชชี" ที่ลักลอบ "เสพเมถุน" กับสตรี ไม่ว่าลูกเขา เมียใคร บางรายสมสู่กันจนมีลูก บางรายเป็นพระผู้ใหญ่ เป็นถึงพระคู่สวด แต่ลอบได้เสียกับเมียคนอื่น
รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯให้ ตรากฎถึง 10 ฉบับ(ทยอยประกาศ) นอกจากห้ามปรามแล้ว มีบทลงโทษด้วย
มิใช่ลงโทษอลัชชีนั้นเท่านั้น แต่คาดโทษถึงพระราชาคณะ ฐานานุกรมที่เกี่ยวข้อง และบิดามารดาด้วย
ในกรณีที่ภิกษุรู้ว่ามีภิกษุเสพเมถุนกับสตรีแล้วปกปิดไว้ เมื่อสอบสวนได้ความให้ลงโทษ 7 ชั่วโคตร (กฎฉบับที่ 8 )
ฝ่ายสตรีต้นเหตุ จะถูกลงโทษ ไปถึงมูลนาย บิดามารดา และญาติที่เกี่ยวข้อง
การที่ทรงให้ตรากฎขึ้นมา เพราะ ทรงตระหนักว่า ลำพังพระวินัยเพียงอย่างเดียว เอาไม่อยู่ ต้องมีอาญาด้วย
ในรัชกาลต่อๆ มาก็มีบทลงโทษ ภิกษุปาราชิก ต่างๆ กัน เช่นในสมัยรัชกาลที่ 3 จับสึกแล้วให้ไปตะพุ่นหญ้าช้าง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีประกาศว่าด้วยภิกษุสามเณรประพฤติอนาจาร มีโทษอาญาฐานปาราชิก
แต่รัชกาลที่ 6 ทรงยกเลิก ให้ใช้ "พรบ.อธิกรณ์ประถมปาราชิก" แทน
รัชกาลที่ 6 ทรงตรา "พระราชบัญญัติอธิกรณ์ประถมปาราชิก พ.ศ.2463" โดยให้ลงโทษผู้ต้องอธิกรณ์ในคณะสงฆ์ และลงโทษผู้ผิดโดยพุทธบัญญัติส่วนเดียว
แต่ให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้รักษาท้องถิ่นจับกุมคุมขังพระปาราชิกแล้วส่งตัวให้กรมธรรมการ เพื่อจะได้ส่งตัวให้คณะสงฆ์พิจารณาต่อไป(จากหนังสือการคณะสงฆ์)
สถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีบทลงโทษทางอาญา แต่ให้สังคมลงโทษ โซเชี่ยลมีเดีย และชาวเน็ต คอยติดตาม หรือคุดคุ้ยกันต่อไป
กรณีเจ้าอาวาส วัดที่เป็นข่าวนั้น ถ้าใช้กม.อาญามาตรา 157 (ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใครทำผิดตามมาตรานั้มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ) มาลงโทษจะได้หรือไม่ ในเมื่อเจ้าอาวาส เป็นพระสังฆาธิการ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย
หากนำมาใช้ได้ จะช่วยงานคณะสงฆ์ได้ เพราะพระวินัยเพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่
ขอผู้มีอำนาจทางปกครอง ของคณะสงฆ์โปรดพิจารณา ครับ
เรื่อง : เปรียญ 12