คอลัมนิสต์

กลิ่นเลือกตั้งใหม่ ใกล้เข้ามาสัญญาณ จาก "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"

กลิ่นเลือกตั้งใหม่ ใกล้เข้ามาสัญญาณ จาก "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"

13 ก.พ. 2565

ลากต่อไม่ไหว สัญญาณ "ยุบสภา" ชัดขึ้นตามลำดับ ปฏิกิริยา "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" เร่งการเลือกตั้งใหม่ ส่งกลิ่นแรง

ช่วงนี้สถานการณ์ทางการเมืองล่อแหลมมาก และน่าสนใจติดตามอย่างวิเคราะห์ มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองอย่างผิดแปลก อันน่าจะได้กลิ่นการเมือง การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้วหรือเปล่า ประกอบกับเป็นช่วงปลายสมัยของสภาชุดนี้แล้วด้วย จึงมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจยิ่ง      การบอยคอต ไม่เข้าประชุม ครม.ของ 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่อยากร่วมพิจารณาร่างการต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ btsc อีก 30 ปี ทั้งๆที่อายุสัญญายังเหลืออีก 8 ปี แลกกับการปลดหนี้ให้ กทม.หลายหมื่นล้านบาท กับการให้บริการค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาท

      พรรคภูมิใจไทยให้เหตุผล 4 ประการที่ไม่อยากร่วมพิจารณาด้วย ทั้งเรื่องการเร่งต่อสัญญา เรื่องค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ภูมิใจไทยมองว่า น่าจะลดลงได้มากกว่านี้ เพราะต้นทุนน่าจะอยู่แค่ 40 บาทเท่านั้น น่าจะปรับลดค่าโดยสารลงมาได้อีก เพื่อให้คนได้เข้าถึงการให้บริการรถไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยไม่ต้องไปใช้จ่ายค่าเดินทางในแต่ละวันมากเกินไป       อีกประเด็นภูมิใจไทย มองในมุมกฎหมาย เหมือนยังมีบางอย่างที่ยังทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งจากแบริ่งไปเคหะ และจากจตุจักรไปลำลูกกา เป็นการดำเนินการโดย รฟม.แต่ มหาดไทย โดย กทม.จะเอาไปพ่วงยกให้ bts เดินรถ เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ รฟม.ในฐานะผู้ลงทุนไปก่อนแล้วจะได้อะไรกลับคืนมา       เช้าขึ้นมาหลังประชุมครม.มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่แบบเห็นหน้าเห็นตา คนภูมิใจไทยเข้าประชุมพร้อมหน้าทั้งอนุทิน ขาญวีระกูล ศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่จิ้งจกเพดานทำเนียบรายงานมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ไม่ชายตามองไปทางอนุทินเลย มองไปทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นหลัก

 

กลิ่นเลือกตั้งใหม่ ใกล้เข้ามาสัญญาณ จาก \"รถไฟฟ้าสายสีเขียว\"

       เสร็จจากประชุม ศบค.ก็ต้องเคลียร์ใจกันหน่อย สามคน พล.อ.ประยุทธ์-อนุทิน-ศักดิ์สยาม” เข้าห้องเย็นเปิดอกคุยกัน ทุกคนเห็นพระของแต่ละคนที่แขวนมา มีบางคนเปลี่ยนพวงพระเป็นพวงใหม่ออกสู้ศึก ซึ่งภูมิใจไทย ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีว่าจะไม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เดินหน้าทำงานต่อไป

      ยังมีปัญหาอีกมากมายประเดประดังกันเข้ามาในช่วงนี้ รวมถึงสภาล่มแล้วล่มอีก ล่มซ้ำซากจนน่าเบื่อ จน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องขอร้องให้ช่วยเข้าประชุมดูแลองค์ประชุมประชุมกันหน่อย
-ปัญหาระหว่าง ร.อ.กับ พล.อ.มันจะจบ หรือเดินไปอย่างไร กับการก่อเกิดขึ้นของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่เตรียมเปิดที่ทำการพรรค จึง U-tower บนถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นตึกของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น อยู่ระหว่างตกแต่งภายใน มีห้องทำงานของ พล.อ.ท่านหนึ่งด้วย
-กฎหมายการเงินไม่ผ่าน ซึ่งรัฐบาลอาจจะมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ถ้ากฎหมายการเงินไม่ผ่าน นายกฯก็ต้องลาออก หรือยุบสภา
-งบประมาณไม่ผ่าน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล และเป็นกฎหมายการเงิน ถ้าไม่ผ่านสภาก็ยุ่งสิครับ
-ผ่านค้านตีรวนด้วยการไม่แสดงตนในห้องประชุมสภา ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสภา และรัฐบาล

-อภิปรายไม่ไว้วางใจ ปลายเดือนนี้รัฐบาลจะเจอศึกยกแรกกับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ก็น่าจะผ่านไปได้ แต่ด้วยความบอบช้ำ แต่สำหรับเดือนพฤษภาคม นั่นคือศึกหนักกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ คงต้องใช้กล้วยหลายเครือ ที่สำคัญพอเปิดสมัยประชุมปั้บฝ่ายค้านจะยื่นญัตติไม่ไว้วางใจทันที และเมื่อมีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจค้างอยู่ในสภา นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาหนีก็ไม่ได้ เว้นแต่จะยุบสภาก่อนเปิดสมัยประชุม
-กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ พรป.พรรคการเมือง และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดยรัฐบาล อ.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ถ้ากฎหมายลูกไม่ผ่านสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ไม่ยุบสภาก็ต้องลาออก
-การเร่งเปิดตัว และสร้างพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ และประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ รอการเปิดตัวหัวหน้าพรรค และทีมกรรมการบริหารพรรค ที่มีชื่อพีะพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ปรากฏออกมาว่าจะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งรับรู้กันอยู่ว่าพีระพันธ์ทำงานใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี
-นักการเมืองเริ่มทยอยเปิดตัว เปิดพรรค ย้ายสังกัด ในพื้นที่เองนายหน้าพรรคการเมืองเดินชนกันอยู่ เพื่อวิ่งหาตัวผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็เริ่มทยอยเปิดนโยบายพรรคออกมาสู้กัน เรียกคะแนนนิยมจากประชาชน

       สัญญาณต่างๆเหล่านี้ คือสัญญาณว่า การเลือกตั้งทั่วไปกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ใกล้เข้ามาแบบไม่รู้เมื่อไหร่ แต่เผลอไม่ได้เลย