คอลัมนิสต์

"เด็กเกิดน้อย" สวนทาง สังคมผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น ปัญหาร่วมอนาคตประเทศ

"เด็กเกิดน้อย" สวนทาง สังคมผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น ปัญหาร่วมอนาคตประเทศ

20 ก.พ. 2565

กระแสตีกลับแคมเปญดึง อินฟลูเอนเซอร์ ปั๊มลูกเพื่อชาติ ในภาวะโครงสร้างประชากร "เด็กเกิดน้อย" สวนทาง สังคมผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น “ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” แนะทางออกเด็กเกิดที่มีคุณภาพ เป็นปัญหาร่วมอนาคตประเทศ รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในมนุษย์ เด็กทุกคน "เป็นลูกของรัฐบาล"

"เด็กเกิดน้อย" ลดลงเหลือ 544,570 คนในปี 2564 อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำมากอยู่ที่ 1.51 คน สวนทางกับสังคมผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าปี 2568 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุ 60 ปี มากกว่า 14.5 ล้านคน หรือ 20.7% ของประชากรทั้งหมด

 

อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยอาจจะเหลือประชากรไม่ถึง 40 ล้านคน ทำให้ภาครัฐกังวลจะเกิดการขาดแคลนแรงงานในการพัฒนาประเทศ กระทบต่อการจัดเก็บภาษีในอนาคต จนงบประมาณไม่เพียงพอ และเกิดปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาสังคม ขณะที่ผู้สูงอายุจำนวนมาก อาจอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะไม่มีลูกหลานดูแล ต้องตกเป็นภาระของรัฐ

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "หมอตี๋" ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์” ถึงกระแสแคมเปญดึงฟลูเอนเซอร์ ชวนคนมีลูก ในภาวะ “เด็กเกิดน้อย” สวนทางสังคมผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น ว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างและเป็นการขอความร่วมมือกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ได้เข้ามาร่วมมือกันสร้างความตระหนัก ในวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ เมื่อสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง

“ในอีก 30-40 ปี ประชากรไทยเปลี่ยน คาดสังคมผู้สูงอายุ 30 ล้านคน  คนทำงาน 50 ล้านคน  เด็ก10 ล้านคน ปกติคนทำงานมีสัดส่วนอยู่ที่ 7-8 คน อนาคตคนทำงานจะลดเหลือ 1.7 คน เกิดปัญหาในการแข่งขันของประเทศ เป็นปัญหาโดยรวม ที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและเข้าใจตรงกันเพื่อช่วยกันหาทางออกประเทศ”

 

ปัญหา "เด็กเกิดน้อย" เกิดขึ้นทุกประเทศในโลก อย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการทุ่มเม็ดเงินลงไป แต่ในระยะยาวไม่ได้ผล

 

สำหรับประเทศไทย ไม่เพียงแต่เผชิญกับปัญหา "เด็กเกิดน้อย" เท่านั้น แต่ยังพบปัญหา "เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ"

 

เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหานี้ หากคนไทยไม่ร่วมมือกัน เด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ ไม่พอประเทศไทยยังพบว่ามีสถิติการเสียชีวิตมากขึ้น

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดน้อย คือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่เรียนสูงขึ้น แต่งงานช้า มีค่านิยมอยู่เป็นโสด รักความอิสระ มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการมีบุตร และจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป

 

มองการมีบุตรเป็นภาระ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรสูงเกินไป มาตรการที่จูงใจ ให้คนต้องการมีบุตรตามที่ครอบครัวต้องการมีน้อย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนชะลอการมีบุตร

สรุปปัจจัยที่พบ "เด็กเกิดน้อย" ลงประกอบด้วย

1.คนรุ่นใหม่เรียนสูงแต่งงานช้า

 

2.ค่านิยมอยู่เป็นโสด

 

3.มีลูกน้อย

 

4.เพศสภาพมาก

 

5.คนมีฐานะไม่มีลูก

 

6.คนจนมีลูกเยอะ

 

7.มีลูกค่าใช้จ่ายสูง

 

8.ใช้เวลาเรียนนาน

 

9.ทำงาน10ปี ถึงมีเงินเก็บเลี้ยงลูกได้

 

10.มีลูกเป็นภาระ

ฯลฯ

ใช้เวลาเรียนนานกว่าจะเรียนจบทำงานได้

 

เมื่อย้อนกลับไปศึกษาการเพิ่มและลดจำนวนประชากรในอดีต พบว่า ประชากรไทยเคยเพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านคน ในปี 2503 มาเป็น 34 ล้านคน ในปี 2513 มากถึง 8 ล้านคนในช่วง 10 ปี หรือหญิง 1 คนมีบุตรเฉลี่ยมากกว่า 5 คน

 

ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้น มีนโยบายวางแผนครอบครัว กระตุ้นการคุมกำเนิด ทั้งทำหมัน ใส่ถุงยาง เพื่อชะลอการเกิด ผ่านคำขวัญจนติดหูผู้คน “มีลูกมาก จะยากจน” ในปี 2515

 

การรณรงค์ในยุคนั้น นำไปสู่การวางแผนครอบครัวสำเร็จ เช่นเดียวกัน ผมเชื่อมั่นว่าการปลุกกระแสเด็กเกิดน้อยและนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรเกิดใหม่อย่างมีคุณภาพ สามารถทำได้จริง ควบคู่ไปกับรัฐให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ แต่การจะไปถึงจุดนั้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่าง 

 

คู่สมรสบางส่วนประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาได้โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเกิด ที่มีคุณภาพ อาทิ การให้สิทธิการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ในทุกกลุ่มอายุ และทุกการตั้งครรภ์ การสร้างเสริมสุขภาพ 

 

เหนืออื่นใด การป้องกันโรคในช่องปากแก่หญิงตั้งครรภ์คนไทยทุกคน ทุกสิทธิ การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การตรวจเลือดคัดกรองเบาหวานในกลุ่มอายุ 25-59 ปี และการเพิ่ม สิทธิการตรวจคัดกรองซิฟิลิส และการตรวจยืนยันในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีมาตรการที่อยู่ระหว่าง การผลักดัน ได้แก่ การผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนา เด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อลดภาระ และความกังวลใจให้กับพ่อแม่ระหว่างทำงาน

 

“ในอนาคต ไม่ว่าประชาชนจะเลือกอยู่เป็นโสด มีบุตร ไม่มีบุตร เพราะผลกระทบนี้จะส่งผลต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่ไร้ลูกหลาน ผู้สูงอายุดูแลกันตามลำพัง ภาระพึ่งพิง ที่มีต่อวัยทำงานสูงขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาลหันมาลงทุนในมนุษย์ 

 

เน้นการลงทุนในเด็กมีความคุ้มค่าสูงสุด เพื่อลดความกังวลใจในการเลี้ยงดูบุตร ลดภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพให้กับประชาชน ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการมีบุตร โดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชน 

 

ลงทุนในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้การประกาศนโยบายประชากร โดยให้คุณค่ากับเด็กทุกคน “เป็นลูกของรัฐบาล” ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วม และ การเป็นเจ้าของร่วมกัน ผมเชื่อมั่นว่าเมื่อสังคมตระหนักประเทศจะก้าวข้ามปัญหาเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพได้” ดร.สาธิต ฝากทิ้งทาย

   กมลทิพย์ ใบเงิน รายงาน