คอลัมนิสต์

คู่แค้นประยุทธ์ "ธรรมนัส" ใจถึงใจ "พรรคเล็ก" รอแตกหัก

คู่แค้นประยุทธ์ "ธรรมนัส" ใจถึงใจ "พรรคเล็ก" รอแตกหัก

13 มี.ค. 2565

อาหารจานโปรดคนการเมือง "ธรรมนัส" รวมพล "พรรคเล็ก" ประชันดินเนอร์พรรคใหญ่ ไม่สยบยอมประยุทธ์ สะสมกำลัง รอคอยโอกาส เปิดยุทธการแตกหัก คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ท้าทายไม่เลิก “ธรรมนัส” แตะมือพรรคเล็กกินมื้อเที่ยง ประชัน ดินเนอร์ 3 ป. ในฐานะคนเคยแจกกล้วย จึงรู้ธรรมชาติพรรค 1 เสียงเป็นอย่างดี

 

สัญญาใจพรรคเล็ก “ธรรมนัส” มั่นใจมิตรสหาย 3 พรรคเล็ก จะยืนเคียงข้างกัน ไม่ได้มีแค่สุรทิน พิจารณ์ เพียงคนเดียว

 

พันธมิตร “ธรรมนัส” ยังมีกลุ่ม 16 นำโดยพิเชษฐ สถิรชวาล ที่นัดพรรคเล็กกินมื้อเที่ยงประชันดินเนอร์ 3 ป.รอบสอง

 

หัวหน้าพรรคเล็ก 1 เสียง พรรคขนาด 2-5 เสียง จะได้รับเชิญรับประทานอาหารค่ำกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สโมสรราชพฤกษ์ ในวันที่ 17 มี.ค.2565 โดยสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน เป็นผู้ประสางาน

วันเดียวกัน พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำ ส.ส.กลุ่ม 16 นัด รับประทานอาหารในช่วงบ่าย ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมี สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่เข้าร่วมด้วย

 

สงครามแย่งชิงพรรคเล็ก ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คุกรุ่นมาตั้งแต่เกิดกบฏธรรมนัส ซึ่งหัวหน้าพรรคเล็กก็รู้ว่า มีค่ามีราคา บางคนจึงออกอาการฮึดฮัดบ้างเป็นระยะๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ

 

หลังดินเนอร์แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ฉวยจังหวะที่พรรคเล็ก และพรรคขนาด 2-5 ที่นั่ง ไม่ได้รับเชิญไปร่วมรับประทานอาหาร จัดเลี้ยงมื้อเที่ยงปลอบใจพวกเขาทันที

 

เอาเข้าจริง มื้อเที่ยงวันนั้น มีหัวหน้าพรรคเล็กไม่กี่คนที่มาร่วมโต๊ะอาหาร อาทิ ดำรง พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าไทย,พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม และคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย

 

  • ‘พรรคเล็กหนุนลุงตู่’

เมื่อเอ่ยถึงพรรค 1 เสียง หรือพรรค 2 เสียงก็ต้องนึกถึง “ธรรมนัส” ในฐานะผู้ประสานงานหลัก และช่วงที่เป็น รมช.เกษตรฯ ก็มีหัวหน้าพรรคเล็ก 3-4 พรรค ติดสอยห้อยตามลงพื้นที่อยู่บ่อยๆ

ย้อนไปช่วงจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ ปรากฏว่า มี 10 พรรคเล็กหรือพรรคขนาด 1 เสียง ได้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มอบให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้กำกับดูแลพรรคเล็ก

 

ผ่านมา 3 ปี มีพรรคเล็กถอนตัวไปอยู่ฝ่ายค้าน 1 พรรค และยุบพรรค แล้วเข้าสังกัดพลังประชารัฐ 3 พรรค จึงเหลืออยู่ 8 พรรคที่ยังอยู่ฝ่ายรัฐบาล เมื่อเช็คเสียงจริงๆ น่าจะมี 7 พรรคเล็กที่ยังหนุนประยุทธ์ ส่วนพรรคประชาธิปไตยใหม่นั้น ได้แสดงจุดยืนอยู่ข้าง ร.อ.ธรรมนัส

 

สำหรับ 7 พรรคที่ยืนข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์, คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย, ปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย, ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่, พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม และบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทย

 

นัยว่า กลุ่มพรรคเล็กที่หนุนรัฐบาล จะมี ระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่ เป็นผู้ประสานงานและตอนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบให้ เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น เข้ากำกับดูแลแทน ร.อ.ธรรมนัส

 

  • ‘หนุนธรรมนัส’

เทียบฟอร์มเสี่ยเฮ้งกับ “ธรรมนัส” ในการดูแลพรรคเล็กนั้น เชื่อว่า หัวหน้าพรรคเล็ก 3-4 พรรค อาจมองแกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย ทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่า เพราะเข้าถึงหัวใจของ ส.ส.พรรคเล็ก

สุรทิน พิจารณ์ คนสนิท ร.อ.ธรรมนัส มือประสานพรรคเล็ก

 

ว่ากันตามจริง "สุรทิน พิจารณ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชานิยม ที่ยุบพรรคไปเมื่อปี 2563 เข้าสังกัดพลังประชารัฐ ก่อนจะถูกขับออกมาอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ทั้งคู่ถือได้ว่า เป็นพันธมิตรกับธรรมนัสมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

 

"สุรทิน พิจารณ์" แสดงจุดยืนชัดว่ายืนข้างธรรมนัส เสี่ยเฮ้ง จึงไม่เชิญไปร่วมดินเนอร์รอบ 2 อีกด้านหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส เคยเตรียมการให้พรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นพรรคสำรองของซุ้มผู้กองมาก่อนแล้ว

 

ตัวละครพรรคฝ่ายหนุนธรรมนัสอีกคนหนึ่งคือ "พิเชษฐ สถิรชวาล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เมื่อไม่นานมานี้ พิเชษฐ ร่วมกับมงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ จัด "กลุ่ม16" โดยรวบรวม ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านมาทำงานร่วมกัน

 

ระยะหลัง พิเชษฐพยายามเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ และตั้ง "กลุ่ม16" โดยเลียนแบบมาจาก "กลุ่ม16" ในอดีต แต่ก็ไม่ได้ความร่วมมือจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมากนัก

 

ฝ่าย ทีม เสธ.ทำเนียบรัฐบาล อาจประเมิน ร.อ.ธรรมนัส คู่แค้นบิ๊กตู่ต่ำไป จึงตัดเชือก "สุรทิน พิจารณ์" และไม่สนใจบทบาทของ "พิเชษฐ"

 

ตอนนี้ ร.อ.ธรรมนัส มีเสียง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยอยู่ในมือ 10 เสียง ส่วนที่เหลืออีก 6 เสียง ก็ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประวิตร จะกดปุ่มเอายังไง

 

พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องอาศัยตัวช่วย พล.อ.ประวิตร ที่จะมากำกับดูแลกลุ่มกบฏร้อยเอก และอาจต้องจ่ายค่าเคลียร์ใจ เพื่อยืดอายุรัฐบาล โดยการ "ปรับ ครม." ก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ