ปริญญ์เอฟเฟกต์ "สุชัชวีร์" เหมือนโดดเดี่ยวในเมืองหลวง
ซูเปอร์โพลชี้ปริญญ์เอฟเฟกต์ไม่มีผลต่อ "สุชัชวีร์" แต่ความเป็นจริงทางการเมือง พรรค ปชป.เลี่ยงอาฟเตอร์ช็อกยาก จะเสียหายมากหรือน้อย รอดูผลเลือกตั้ง 22 พ.ค.2565 คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
แม้ซูเปอร์โพลจะชี้ปริญญ์เอฟเฟกต์มีผลต่อ “สุชัชวีร์” ไม่มากนัก แต่ความเป็นจริงทางการเมือง ปชป.ย่อมเลี่ยงอาฟเตอร์ช็อกไม่พ้น เสียหายมากหรือน้อย รอดูผลเลือกตั้ง 22 พ.ค.2565
ลำพังไม่มีปริญญ์เอฟเฟกต์ “สุชัชวีร์” ก็วิ่งไล่จี้กลุ่มนำชัชชาติ อัศวิน วิโรจน์ พลันที่เกิดกรณีปริญญ์ขึ้นมา ทำเอากองเชียร์เข่าทรุด
เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2565 นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่องปริญญ์เอฟเฟกต์ เลือกตั้ง กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร
ซูเปอร์โพลระบุ ผลกระทบของข่าวปริญญ์ พานิชภักดิ์ ต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลังจากทดสอบค่านัยสำคัญทางสถิติ พบว่า ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ต่อสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์
ตรงกันข้าม จาก "ปริญญ์เอฟเฟกต์" ส่งผลให้ สกลธี ภัททิยกุล มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 10.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.8 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5
อย่างไรก็ตาม "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" ส.ส.ตรัง ได้ทวงถามหาความรับผิดชอบของแกนนำพรรคต่อกรณีปริญญ์ว่า “ขออนุญาตนะครับ เรื่องที่เป็นข่าวฉาวในขณะนี้ กระทบคนที่ทำที่พื้นที่อย่างหนัก ผมเชื่อว่าผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. จะยิ่งหนักกว่า หนักที่สุดคือชื่อเสียงของพรรคเรา ที่อีกไม่กี่เดือนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว..”
ส่วน ดร.เอ้ หรือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พูดกับนักข่าวหลังทราบเรื่องปริญญ์กับเด็กสาวอายุ 18 ว่า ยอมรับว่าแรกๆ รู้สึกตกใจ แต่ไม่ห่วงว่ากระแสความนิยมหรือคนกรุงเทพฯ จะไม่เลือก เพราะเชื่อว่าคนจะแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องของพรรคได้
- ‘เสี่ยงอย่างมีหวัง’
จากผลการสำรวจทุกโพล “สุชัชวีร์” เป็นรองคู่แข่งอย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ค่อนข้างเยอะ แม้แต่คนในปชป.ต่างก็ประเมินว่า ยากมากแล้วที่ สุชัชวีร์ จะพลิกเกมเอาชนะการเลือกตั้ง เหมือนกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพื่อไทย มาได้ชนิดหักปากกาเซียน
เนื่องจากสถานการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 บริบทการเมืองมีความแตกต่างจากปี 2565 ค่อนข้างเยอะ แม้สังคมยังมีการแบ่งขั้วอยู่ ไม่ใช่เรื่องเหลือง-แดง แต่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ ซึ่งในแต่ละขั้ว ก็มีความซับซ้อนอยู่
ฝั่งหนึ่งก็เป็นการต่อสู้กันเองระหว่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ,วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และศิธา ทวารี อีกฝั่งหนึ่ง สุชัชวีร์ ก็ต้องแข่งกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, สกลธี ภัททิยกุล และรสนา โตสิตระกูล
เหนืออื่นใด "สุชัชวีร์" ก้าวเข้าสู่พรรค ปชป. ในวันที่ไม่มี ส.ส.กทม.แม้แต่คนเดียว ต่างปี 2556 ที่พรรค ปชป.มีทั้ง ส.ส.กทม. และกองทัพ ส.ก.-ส.ข.เต็มพื้นที่
ดร.เอ้-สุชัชวีร์ เกิดที่ จ.ชลบุรี แต่มาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ราว 32 ปี ในวันที่ตัดสินใจลงสนามการเมือง นักข่าวถามว่า ระหว่างความเสี่ยงกับความหวัง “...บางอย่างเสี่ยงก็ต้องทำนะ อย่าคิดว่าวิศวกร เสี่ยงแล้วจะไม่ทำ แต่ต้องมีการประเมินความเสี่ยง และความเสี่ยงจัดการได้ด้วยความรู้”
มาถึงวันที่ ดร.เอ้ ต้องมาเผชิญกับปัญหาปริญญ์เอฟเฟกต์ ก็ทำให้นึกถึงคำพูดประโยคหนึ่งของเขาที่ว่า ความเสี่ยงสูงสุด ที่ประเมินไว้ก่อนกระโจนเข้าสู่โลกการเมืองคือความท้อ
- ‘ทดสอบฐาน ปชป.’
“สุชัชวีร์” ในวันที่สวมเสื้อ ปชป. ก็หวังในฐานเสียงเมืองหลวงของพรรคเก่าแก่ ในสถานะของ ปชป. มีขึ้น มีลง มีรุ่ง มีร่วง แต่แฟนคลับเสื้อสีฟ้ายังเหนียวแน่น
หากพิจารณาจากผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ 804,272 คะแนน, พลังประชารัฐ ได้ 791,893 คะแนน,เพื่อไทย 604,699 คะแนน และ ปชป. 474,823 คะแนน
ทีมงาน ปชป.ยังเชื่อมั่นว่า คะแนนเสียงที่หายไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จะคืนกลับมาเลือกสุชัชวีร์ และทีม ส.ก. เพราะการเลือกตั้งสมัยที่แล้ว มันเป็นเรื่องกระแสลุงตู่ ที่ทำให้ ปชป.ได้รับผลกระทบทั้งประเทศ
ต้นทุนของ ปชป.อีกอย่างคือ อดีต ส.ก.ที่ฝังอยู่ใน 50 เขต จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมา 12 ปี อดีต ส.ก.พรรค ปชป.ทั้ง 45 คน มีบางคนขยับไปสมัคร ส.ส. ,หลายคนย้ายไปสมัคร ส.ส.กทม. ในสีเสื้อพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย
เลือกตั้ง ส.ก.ปีนี้ มีอดีต ส.ก.ค่ายสีฟ้า ย้ายไปพรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย และกลุ่มรักษ์กรุงเทพ แต่ก็มี อดีต ส.ก.เกือบ 20 คน ก็ยังอยู่กับ ปชป. และเป็นกองหนุนสำคัญของสุชัชวีร์
ว่ากันว่า สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โอกาสของสุชัชวีร์ ที่จะพลิกแซงชัชชาติคงยาก แต่แกนนำ ปชป.คงขอลุ้นสนามเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขต เพราะเกณฑ์การลงคะแนนเลือก ส.ก.ในแต่ละเขต น่าจะมีปัจจัยเรื่องฐานเสียงของผู้สมัคร ส.ก.แต่ละเขตเป็นสำคัญ
สรุปว่า ในความเป็นจริงทางการเมือง "ปริญญ์เอฟเฟกต์" กระทบต่อ "สุชัชวีร์" แน่นอน จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่ทางพรรค ปชป. จะปรับกลยุทธ์สื่อสารถึงประชาชนอย่างไร และทำความกระจ่างในประเด็นต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน