"นายกฯสำรอง" ม.272 วรรค 2 เปิดช่องให้คนนอกบัญชีเป็นได้
รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 เปิดช่องให้คนนอกบัญชีเป็น "นายกฯสำรอง" ได้ หาก "ประยุทธ์" มีปัญหา "ประวิตร" รักษาการ
มีการพูดถึงกันมากเรื่อง นายกฯสำรอง ก็ยังไม่รู้ว่าเกิดจากเหตุอะไรถึงกระแสแรงเกี่ยวกับนายกฯสำรอง ตรวจเช็คดูมีเพียงประเด็นเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคมนี้หรือไม่
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนห้ามบุคคลอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องเกินแปดปี ซึ่งกำลังตีความว่า คำว่าแปดปีเริ่มนับตั้งแต่ตอนไหน ถ้านับตั้งแต่ต้นหลังก่อรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดือนสิงหาคม ปี 2557 นั้นก็แปลความได้ว่า เดือนสิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องครบแปดปี
แต่นักกฎหมาย นักวิชาการ นักการเมือง ต่างตีความต่างกัน บ้างก็บอกว่า ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันประกาศในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ซึ่งหมายถึงยังเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ครบแปดปีนั้นเอง
ซึ่งถ้าตีความตามเหตุผลแรก คือนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2557 ก็กำลังจะครบ 8 ปีต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม จึงต้องพูดถึงนายกฯสำรอง ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไร ถ้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ไปขึ้นป้ายทั่วประเทศช่วงสงกรานต์ แต่พอไปขึ้นป้าย แม้จะเป็นการอำนวยอวยพรช่วงสงกรานต์ แต่ในทางการเมืองเหมือนประกาศความพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ตาม
มีการอ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรค 2 จึงหยิบรัฐธรรมนูญมาพลิกอ่านอีกครั้ง พบว่า มาตรา 272 วรรค 2 ถูกกำหนดไว้อยู่ในบทเฉพาะกาล ระบุไว้ว่า ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่งหากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อกันเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้สภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนี้ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติดัวยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
แต่ก่อนไปถึงมาตรา 272 วรรค 2 ตามหลักการเมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลงก็ต้องมีคนมารักษาการ บ้านเมืองจะว่างเว้นฝ่ายบริการไม่ได้ ถ้าดูตามโครงสร้างการแบ่งงานแล้ว พล.อ.ประวิตร คือรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง พล.อ.ประวิตรก็ควรจะรั้งตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี
จากนั้นถึงจะไปไล่เรียงบัญชีรายชื่อคาดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอไว้ว่ามีใครบ้าง ในการเลือกตั้ง ปี 2562
ถ้ามองไปในซีกรัฐบาล ก็จะมีชื่อของอนุทิน ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ถ้ามองเฉพาะในซีกของรัฐบาล โอกาสจะเป็นชื่อของอนุทิน สูงกว่าชื่ออภิสิทธิ์ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีปัญหาอะไรในรัฐบาล และมีเสียงในสภามากกว่าพรรคประชาธิปัตย์
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ โอกาสส้มหล่นใน “อนุทิน” มีสูงมาก
ถ้ามองไปยังฝ่ายค้าน และคิดว่าขั้วการเมืองเปลี่ยนโอกาสก็จะเป็นของพรรคเพื่อไทย มากกว่าพรรคก้าวไกล ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยเสนอคาดิเดตนายกฯ 3 คน คือ สมพงศ์ อมรวิวัฒน์ ชัยเกษม นิติศิริ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์
สมพงศ์ และชัยเกษม ได้ถูกลดบทบาททางการเมืองไปแล้ว มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นผู้นำฝ่ายค้านแทนแล้ว และยังมีหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อย่าง “อุ้งอิ้ง” แพรทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ ชินวัตร เข้ามามีบทบาทนำอีกคน
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ ก็ออกจากพรรคเพื่อไทย ไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยแล้ว
ส่วนพรรคก้าวไกล ในยุคพรรคอนาคตใหม่ ก็เสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเวลานี้ธนาธรถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว
นี้คือกลุ่มก้อนของบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หาก พล.อ.ประยุทธ์มีปัญหาอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีแล้วในเดือนสิงหาคมนี้
ฉะนั้นที่นักข่าวไปถาม พล.อ.ประวิตร ถึงโอกาสเป็นนายกฯแทน เป็นคำถามที่โอกาสเป็นไปได้ เว้นเสียแต่ว่า พรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้ แต่ละพรรคก็อยากให้คนของพรรคที่เสนอชื่อไว้เป็นนายกรัฐมนตรี
ถ้าตกลงกันไม่ได้ จึงจะไปหยิบรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสองขึ้นมาใช้ แต่ก็ไม่ง่าย มีสองขั้นตอนในการดำเนินการ ขั้นตอนแยก คือต้องขอยกเว้นการเสนอชื่อตามบัญชีพรรคการเมือง และต้องใช้เสียงสองในสามของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ จากนั้นจึงจะเสนอชื่ออื่นนอกบัญชีได้ และต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา