ไม่เขาก็เรา "อัศวิน" พ่วงสุชัชวีร์ สกลธี รสนา สู่โหมดเลือกขั้ว
โหวตเชิงยุทธศาสตร์ "อัศวิน" พ่วงสุชัชวีร์ ,สกลธี และรสนา เข้าสู่โหมดไม่เลือกเรา เขามาแน่ กองเชียร์บิ๊กเนมเสนอ ต้องเลือกเบอร์เดียว คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก
โหวตเชิงยุทธศาสตร์ "อัศวิน" ตามด้วยสุชัชวีร์ ,สกลธี และรสนา เข้าสู่โหมดไม่เลือกเรา เขามาแน่ กองเชียร์ จำต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง
สังคมแบ่งขั้ว "อัศวิน" ที่มีตะกร้าคะแนนฝ่ายเดียวกันกับสุชัชวีร์, สกลธี และรสนา กองเชียร์บิ๊กเนมเริ่มแสดงตัว พร้อมข้อเสนอต้องเลือกเบอร์เดียว
ใกล้ถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จากโพลสำรวจความนิยมทุกสำนัก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะอยู่ในลำดับที่ 2 และ 3 สลับกันไปมา แต่นักวิเคราะห์การเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เสียดายที่สองคนนี้มีฐานเสียงใกล้เคียงกัน
เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คว่า "ถึงเวลาที่สลิ่มต้องตัดสิน Strategic vote แล้วนะคะ 3, 4, 6, 7 รวมใจกันเลือกเบอร์เดียวที่มีทางจะทำให้เขาคนนั้นที่เราคิดว่าไม่น่าจะอิสระจริงได้ชัยชนะ อย่าดื้อดึงดันที่จะเลือกคนที่เราชอบให้เสียงแตกแล้ว ให้เขาชนะนะคะ..."
โหวตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic vote) เคยถูกนำมาใช้บ่อยในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง อย่างการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยที่แล้ว แกนนำเพื่อไทยบางคนก็เคยเสนอให้ฝ่ายประชาธิปไตย ควรโหวตเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเอาชนะฝ่ายสืบทอดอำนาจ คสช.
ตัวเต็งอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็แสดงความเห็นว่า ไม่สนับสนุนการเลือกเชิงกลยุทธ์ (strategic vote) และอยากจะให้เลือกผู้สมัครที่ชอบในนโยบายหรือผลงาน ไม่ใช่เลือก เพราะเกลียด หรือไม่ชอบเบอร์อื่น
"ฐานเสื้อสีฟ้า"
พูดกันตามตรง "อัศวิน" และผู้สมัครผู้ว่าฯ อีก 2 คนอย่าง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ และสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ ต่างก็มีฐานเสียงใกล้เคียงกัน เฉพาะอัศวิน และสกลธี ก็เคยร่วมงานกับ ปชป.มาก่อน
ไม่น่าแปลกใจที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ออกมาชักธงโหวตเชิงยุทธศาสตร์ให้เลือก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณจำแลง
อดีตคน ปชป.อย่าง ถาวร เสนเนียม เป็นอีกคนหนึ่งที่มาช่วย พล.ต.อ.อัศวิน เพราะมีหนี้ทางใจต่อกัน สมัยการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน ปี 2556 วันนี้ ทินกร ปลอดภัย คนสนิทของถาวร เสนเนียม ก็เป็นหนึ่งในทีมงานอัศวิน ดูแลพื้นที่เขตมีนบุรี และกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เปิดหน้าเชียร์สกลธีร ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ โดยบอกเหตุผลว่า "สกลธี ไม่ใช่กากเดนของระบอบทักษิณ และเชื่อมั่นว่า สกลธี จะไม่รับใช้ระบอบทักษิณแน่นอน"
เช่นเดียวกับ ทยา ทีปสุวรรณ ภรรยา ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คว่า ก็เชียร์สกลธี "..จั้มเป็นน้องรัก ที่รู้จักและทำงานร่วมงานกันมาตั้งแต่ อยู่พรรคประชาธิปัตย์ และลาออกมาต่อสู้ร่วมกันในนาม กปปส กับคนกรุงเทพฯ"
ส่วน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวช้ากว่าคู่แข่งตัวเต็งอย่างชัชชาติ พึ่งพาฐานเสียงของ ปชป.เป็นหลัก ก็ต้องปลุกกระแสสปิริตชาว ปชป.ในเมืองหลวงให้กลับมา
ดังที่รู้กัน การเลือกตั้งปี 2562 ชาว ปชป.ในเมืองหลวงจำนวนไม่น้อยเทใจไปเลือกพลังประชารัฐ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนเสื้อสีฟ้ากลุ่มนี้ จะหวนกลับมาเลือก ดร.เอ้ หรือไปเลือกสกลธี ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน
"ฐานเสื้อเหลือง"
ม้านอกสายตาอย่าง รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็มีกองเชียร์เยอะเหมือนกัน พล.ต.จำลองศรีเมือง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ กทม. ได้เขียนจดหมายถึงชาวกรุงเทพฯ ขอให้ช่วยกันเลือกรสนา เบอร์ 7 เป็นผู้ว่าฯ กทม. "...เปลี่ยนผลโพลทั้งหลายได้ให้เหมือนสมัยที่เคยเลือกผมนะครับ"
สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ได้โพสต์สนับสนุนรสนา "น่าเสียดายมากที่เธอเป็นม้านอกสายตา...และน่าจะเป็นผู้สมัครคนเดียวที่ให้ความจริงใจกับส่วนรวม และความซื่อสัตย์กับองค์กรที่เธอกำลังเสนอตัวเข้าไปบริหาร"
นอกจากนี้ สมณะโพธิรักษ์ ยังได้ประกาศให้ชาวสันติอโศกระดมกำลังช่วย รสนา โตสิตระกูล ให้เหมือนสมัยที่ชาวอโศกหนุน พล.ต.จำลอง เป็นผู้ว่าฯ กทม.
ช่วงม็อบคนเสื้อเหลือง ปี 2549-2551 ปรากฏว่า มีคนชั้นกลางในกรุงเทพฯเข้าร่วมจำนวนมาก และการที่อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ออกหน้ามาเชียร์รสนา ก็น่าจะได้เสียงจากคนเสื้อเหลืองลูกจีนรักชาติอยู่ไม่น้อย