"ตำรวจพระ" มือปราบดับเรื่องร้อนวงการสงฆ์ เปิดคุณสมบัติ มีไว้เพื่ออะไร
"ตำรวจพระ" หรือ พระวินยาธิการ มือปราบดับเรื่องร้อนวงการสงฆ์ เปิดคุณสมบัติ มีไว้เพื่ออะไร หรือใคร ๆ ก็เป็นได้
ชื่อของ "ตำรวจพระ" หรือ "วินยาธิการ" มีการถูกพูดถึงขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมจากเหตุการณ์ที่ "หมอปลา" นำทีมบุกสำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ก้าวล่วง "หลวงปู่แสง ญาณวโร" พระเกจิสายป่า อายุเกือบ 100 ปี แล้วเหตุใดมือปราบผี จึงอัปเกรดตัวเองขึ้นมาเป็นมือปราบพระ
"ตํารวจพระ" เป็นคําที่ชาวบ้านทั่วไปใช้เรียกพระภิกษุที่ดํารงตําแหน่ง "พระวินยาธิการ" ที่มีความหมายว่า "พระที่ทรงไว้ซึ่งพระวินัย" ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัด ให้มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านการปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัด โดยเฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ด้านการปฏิบัติวินัยของพระภิกษุสามเณร มีหน้าที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจตรา ชี้แจง แนะนําพระภิกษุสามเณร ให้ปฏิบัติชอบตามกฎกติกาที่กําหนด และหากไม่ปฏิบัติตาม หรือพบการกระทำความผิด ก็มีอำนาจจับกุมตัวส่งเจ้าคณะผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ไม่มีอำนาจในการให้สละสมณเพศ เพราะฉะนั้น พระภิกษุที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตำรวจพระ หรือ พระวินยาธิการ จึงไม่เพียงแต่จะครองตนอย่างเคร่งครัด ตามพระธรรมวินัยเท่านั้น ยังจะต้องมีจริยวัตรที่งดงาม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุ สามเณร และเป็นที่นับถือศรัทธาของญาติโยมอีกด้วย
ตำรวจพระ (พระวินยาธิการ) มี 2 ประเภท
1. พระวินยาธิการประจำเขต หมายถึง พระวินยาธิการมีอำนาจตรวจตราดูแลเฉพาะเขตนั้น ๆ
2. พระวินยาธิการส่วนกลาง ขึ้นตรงกับเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แต่งตั้งโดยตรง ซึ่งพระวินยาธิการส่วนกลางนี้ สามารถออกตรวจได้ทั่ว กทม. ทั้งสองประเภทนี้จะต้องทำหน้าที่ตรวจตรา ชี้แจง แนะนำพระภิกษุ สามเณรให้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และนำพาพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติฝ่าฝืน มอบให้ผู้ปกครองสงฆ์ในเขตนั้น ๆ แล้วแต่กรณี
ส่วนการพิจารณาตำแหน่งนี้ ไม่มีการเปิดรับสมัคร แต่จะเป็นการคัดเลือก โดยดูจากคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส
- เป็นเปรียญ คือ มีความรู้ตั้งแต่ระดับเปรียญธรรม(ป.ธ.) 3 ประโยคขึ้นไป หรือมีความรู้นักธรรมชั้นเอก
- มีร่างกายสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
- มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
ทั้งนี้ ประธานกรรมการ "ตำรวจพระ" ประจำจังหวัด อาจยกเว้นคุณสมบัติข้อ 1 และ 2 ได้ แต่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งแต่งตั้งด้วย
พระที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระวินยาธิการ จะได้รับบัตรประจำตัว ซึ่งมีวาระ 1 ปี เมื่อสิ้นสภาพการเป็นพระวินยาธิการตามวาระ แต่มีผลงาน จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระวินยาธิการใหม่ได้อีก โดยต่ออายุบัตรให้ นอกจากพ้นตามวาระปกติ แล้วยังพ้นสภาพต่อเมื่อพ้นจากการเป็นพระภิกษุ ลาออก มรณภาพ และเจ้าคณะผู้แต่งตั้งสั่งให้ออก แต่การที่พระสงฆ์รูปใดจะมาเป็นพระวินยาธิการได้นั้น จะต้องมีความเสียสละ ต้องทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาจริง ๆ เพราะไม่ได้รับปัจจัย หรือเงินเดือนใด ๆ ทั้งสิ้น
ที่ผ่านมา ตำรวจพระ หรือ พระวินยาธิการ เป็นตำแหน่งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้การปฏิบัติหน้าเป็นไปอย่างติด ๆ ขัด ๆ พระรัตนเมธี เจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้าจุฬามณี และเจ้าคณะเขตบางซื่อ ในฐานะหัวหน้าพระวินยาธิการเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 ว่า "การทำงานของพระวินยาธิการขณะนี้ ถือว่าลำบาก เพราะเป็นตำแหน่งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จะดำเนินการอะไรกับพระที่ทำผิดพระธรรมวินัย ไม่มีอำนาจในการลงโทษ เมื่อพบพระที่ทำความผิด ก็ต้องพาไปให้เจ้าคณะผู้ปกครองในท้องที่นั้น ๆ วินิจฉัยลงโทษ รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย"
กระทั่งปี พ.ศ.2562 ที่ประชุมมหาเถรสมาคม จึงมีมติให้ร่างระเบียบมหาเถรฯ ขึ้น ซึ่งสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการพระวินยาธิการ 5 คณะ ประกอบด้วย หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก หนใต้ และคณะธรรมยุต โดยมีเจ้าคณะใหญ่แต่ละหนเป็นประธานคณะกรรมการฯ และให้สำนักงานเจ้าคณะใหญ่ทำหน้าที่เป็นศูนย์พระวินยาธิการ พร้อมทั้ง
กำหนดให้มีคณะกรรมการพระวินยาธิการประจำจังหวัด โดยมีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานกรรมการฯ และให้สำนักงานเจ้าคณะจังหวัด ทำหน้าที่ศูนย์พระวินยาธิการประจำจังหวัด
หากจะพูดถึงพระวินยาธิการ หรือ ตำรวจพระ 1 ในพระสงฆ์ ที่ได้รับแต่งตั้ง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คงหนีไม่พ้น "หลวงพี่น้ำฝน" เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ที่เคยเปิดศึก บุกตะลุยเข้าไปที่วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) ของหลวงปู่พุทธะอิสระ (ในสมัยนั้น) เพื่อให้พระ 46 รูป ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด จนเป็นเรื่องราวข่าวดังในครั้งนั้น
บทสรุป ตำรวจพระ ก็เปรียบเสมือนมือปราบ ดับเรื่องร้อน ๆ ในทางธรรม ก็คงคล้าย ๆกับ ตำรวจในทางโลก นั่นเอง ถ้าตำรวจโยมจับผู้ร้าย แล้วตำรวจพระจะต้องมีหน้าที่จับพระผู้ร้ายใช่หรือไม่ ?
ขอบคุณภาพเพจ หลวงพี่น้ำฝน ข้อมูล watthasai, วิกิพีเดีย