คอลัมนิสต์

แลนด์สไลด์ "ชัชชาติ" ผงาด คน กทม.ไม่เอาการเมืองเก่า

แลนด์สไลด์ "ชัชชาติ" ผงาด คน กทม.ไม่เอาการเมืองเก่า

22 พ.ค. 2565

คนกรุงเทพฯแสดงพลังเลือก "ชัชชาติ" มีชัยถล่มทลาย สะท้อนภาพคนที่เบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ติดยึดกับอุดมการณ์ขั้วสีใด แต่ต้องการเลือกผู้บริหารเมืองหลวงแบบมืออาชีพ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

พลังคนกรุงเทพฯ ชัชชาติ มีชัยชนะถล่มทลาย ผลคะแนนสะท้อนภาพคนที่เบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมือง และกลุ่มไม่ได้ติดยึดกับอุดมการณ์ขั้วสีใด แต่ต้องการเลือกผู้บริหารเมืองมืออาชีพ

 

นับหนึ่ง 200 นโยบาย ชัชชาติ ที่นำเสนอตัวตนผ่านแคมเปญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ต้องพิสูจน์ให้คนเมืองหลวงได้ประจักษ์ในผลงาน ไม่ใช่แค่การขายฝันช่วงหาเสียง

 

8 ปีที่รอคอย คนกรุงเทพฯแห่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล้นหลาม ซึ่งผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นไปตามผลการสำรวจของสำนักโพลต่างๆ คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามผู้สมัครอิสระ ได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์

ที่น่าสนใจ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อย เลือกชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ ส.ก. โหวตให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จึงทำให้สองพรรคนี้ น่าจะได้ ส.ก.มากกว่าพรรคอื่น

 

หลังปิดหีบได้ไม่ถึงชั่วโมง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ขึ้นแท่นว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. และเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งคนที่ 8 ต่อจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2556

 

ชัยชนะของชัชชาติ มาจากความสำเร็จ 3 ประการคือ ประการแรก บุคลิกภาพแบบผู้บริหารมืออาชีพ,ไม่ทะเลาะกับใคร พร้อมแสวงหาความร่วมมือ

 

ประการที่สอง การวางโพสิชั่นนิ่งเป็นผู้สมัครอิสระ ที่ไม่ได้อิงแอบฝ่ายใดจริง ทำให้ดึงคะแนนข้ามขั้วได้ ไม่เฉพาะฐานเสียง ส.ก.เพื่อไทย หากยังมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ก.ค่ายอื่นด้วย

 

ประการที่สาม การผลิต 200 นโยบายที่หลอมรวมจากแนวคิดของหลายภาคส่วน และประกาศเป็นนโยบายกรุงเทพฯ 9 ดี โดนใจคนหลากหลายสาขาอาชีพ

 

  • ‘จุดแข็งชัชชาติ’

ชัชชาติ ประกาศความพร้อมชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นคนแรกๆ ตั้งแต่ 30 พ.ย.2562 โดยเลือกใช้ลานกิจกรรมของชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย เป็นสถานที่เปิดตัว ภายใต้คำขวัญ Better Bangkok รวมพลังสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม และต่อมา ได้ปรับคำขวัญใหม่เป็น กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ปี 2563 เริ่มปรากฏคู่แข่งอย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และรสนา โตสิตระกูล ทีมงานเพื่อนชัชชาติ จึงปรับคำขวัญเฉพาะตัวให้สอดคล้องกับบุคลิกชัชชาติที่เป็นคนทำงานเยอะ แต่ไม่ชอบพูด จึงกลายเป็นแคมเปญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

 

อย่างไรก็ตาม คนกรุงเทพฯ ก็มีภาพจำเกี่ยวกับชัชชาติ ในฐานะบุรุษที่แข็งแกร่งสุดในปฐพี สมัยเป็นรัฐมนตรีคมนาคม เป็นมีมในโลกออนไลน์ แต่การมีเวลาเดินหาเสียงนานถึง 3 ปี ก็ทำให้มีภาพจำใหม่ๆในแบบคนทำงานมาแทนที่

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่ากทม.

 

จุดแข็งของชัชชาติอีกด้านหนึ่ง ก็คือ การผลิต 200 นโยบายที่หลอมรวมจากแนวคิดของหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม และอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ก่อนนำมาจัดกลุ่มและประกาศเป็นนโยบายกรุงเทพฯ 9 ดี และพยายามชี้ให้เห็นว่า หนึ่งโยบายจะใช้กับพื้นที่ทั้ง 50 เขต หรือใช้กับคนทุกกลุ่มไม่ได้

 

ทีมงานเพื่อนชัชชาติ พยายามทำให้คนได้ตระหนักว่า มี 9 ดี 9 ด้านคือ ปลอดภัยดี ,สิ่งแวดล้อมดี ,เรียนดี ,บริหารจัดการดี, เดินทางดี ,โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดี และสร้างสรรค์ดี ซึ่งถ้าทำครบ หรือด้านใดด้านหนึ่งแตะชีวิตของทุกคน จะทำให้เมืองเราน่าอยู่ขึ้น

 

  • “จุฬาคอนเนกชั่น”

ชัชชาติ ตัดสินใจไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในสังกัดพรรคเพื่อไทย เพราะต้องการขยายฐานมวลชนไปสู่กลุ่มที่มีความคิดกลางๆ ไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง หากได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ก็จะทำงานร่วมกับ ส.ก.ทุกพรรคทุกกลุ่มได้

 

อีกด้านหนึ่งคงมาจากครอบครัว จิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ มารดาของชัชชาติมีแนวคิดอนุรักษนิยม ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย และเคยร่ำไห้อย่างน้อยสองครั้ง เมื่อชีวิตของชัชชาติต้องพลิกผันจากเคยเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ไปทำงานการเมืองภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย

 

ดังนั้น ภายในวอร์รูมเพื่อนชัชชาติ จึงประกอบด้วยผู้คนหลากหลายแนวคิด อย่างแกนหลักคือ ต่อศักดิ์โชติมงคล ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โดยต่อศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เป็นศิษย์เก่าคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาฯรุ่น 18 (วศ. 18) เป็นรุ่นพี่ของชัชชาติ

 

ปลายปีที่แล้ว ชัชชาติ เปิดตัวดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มาร่วมทีมกำหนดนโยบายในการพัฒนาเมือง

 

ดร.ยุ้ย จบปริญญาตรีบัญชี จุฬาฯ และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก่อนจะช่วยงานของครอบครัวด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

 

นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังมีกองหนุนในการลุยสมรภูมิกราวนด์วอร์ ประกอบด้วย ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป และสมพงษ์ พัดปุย ผู้แทนเครือข่ายพลเมืองเพื่อธรรมาภิบาล

 

ดร.โจหรือ พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. พร้อมทีมงานมดงานได้เข้ามาเสริมทัพครูประทีป โดยเน้นพื้นที่ด้านฝั่งธนบุรี และกลุ่มมดงาน มีกองบัญชาการอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งแถวสี่แยกเหม่งจ๋าย

 

รวมถึง ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้ามาช่วยชัชชาติในโซนกรุงเทพฯเหนือ เขตสายไหม คลองสามวา และมีนบุรี

 

คาดว่า บุคคลที่มีชื่อข้างต้นนี้ คงได้เข้าไปเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. และที่ปรึกษา ร่วมเสริมทัพชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า