คอลัมนิสต์

"เสาอโศก" จุดรำลึกที่ ปลงผม ของพระพุทธเจ้า ก่อนมี "วันอาสาฬหบูชา"

"เสาอโศก" จุดรำลึกที่ ปลงผม ของพระพุทธเจ้า ก่อนมี "วันอาสาฬหบูชา"

12 ก.ค. 2565

ย้อนรอย เส้นทางก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้า "เสาอโศก" จุดรำลึกที่ ปลงผม ที่ อโนมานที ก่อนจะมี "วันอาสาฬหบูชา" เช่นทุกวันนี้

ในฐานะชาวพุทธต้องตื่นตาใจ ที่พบ "เสาอโศก" ที่ฝั่ง อโนมานที ที่ พระโพธิสัตว์ ตัด พระเมาฬี ออกบวชในเวลานั้น วันที่ 13-14 กรกฎาคม 2565 เป็นวันสำคัญของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา คือ วันที่ 13 กรกฎาคม เป็น "วันอาสาฬหบูชา" หรือ วันพระสงฆ์  ซึ่งเป็นวันที่ พระโกณฑัญญะ 1 ใน ปัญจวัคคีย์ดวงตาเห็นธรรม ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาว่า อัญญาสิ วตะ โภ โกณฑัญโญ(โกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ) 

 

คำว่าอัญญา เป็นคำนำหน้าท่านโกณฑัญญะ ที่ทุกท่านเรียกด้วยความเคารพว่า อัญญาโกณฑัญญะ นับแต่นั้นและขออุปสมบท พระพุทธองค์ อนุญาต โดยเปล่งวาจา สั้น ๆ ว่า จงเป็นภิกษุ มาเถิด เรียกการอุปสมบทนี้ว่า เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา 

 

ต่อมานักบวชทึ่เหลือ ได้แก่ วัปปะ ภัททิยะ มหามานะ และนัองสุดคือ อัสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรม และขออุปสมบทเป็นพุทธสาวก ในเวลาต่อมา

"วันอาสาฬหบูชา" จึงเป็น วันพระสงฆ์ พุทธศาสนามีพระรัตนตรัยครบ ในวันดังกล่าว ชาวพุทธ โดยเฉพาะไทย ถวายทาน บูชา เวียนเทียน ฟังธรรม  และในวันรุ่งขึ้น เป็นวันเข้าพรรษา ที่ภิกษุต้องอธิษฐาน 3 เดือนจะไม่ไปค้างคืนที่อื่น ๆ แต่ก่อนจะมีวันนี้ เจ้าชายสิทธัตถะ พระโพธิสัตว์ ละทิ้ง ราชสมบัติทั้งมวล ในกรุงกบิลพัสดุ หนีออกบวช โดยนั่งม้ากัณฑกะ มีนายฉันนะ มหาดเล็กคู่ใจ ติดตามมาด้วยอย่างใกล้ชิด

 

จากกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงศากยวง์ มุ่งตรงมายังแม่น้ำ อโนมา หรือ อโนมานที ตอนกลางคืน รุ่งเช้าทรงเปลื้องเครื่องทรง มอบให้นายฉันนะ และตรัสสั่งให้กลับเมืองหลวงรวมทั้งม้า แต่ม้ากัณฑกะ ที่เป็นราชพาหนะไม่ยอมทิ้งเจ้านาย หัวใจวายตาย ณ ฝั่งอโนมานที นั่นเอง พระโพธิสัตว์ ตัด พระเมาฬี ทันที
 

อยากทราบไหมว่า แม่น้ำอโนมา นั่นอยู่ทึ่ไหน เวลาผ่าน มา 2600 ปี ร่องรอยยังเหลืออยู่หรือไม่

ผมมีโอกาสดี ที่ ดร.พระครูวินัยธร สมุทร ถาวรธฺโม  วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ชักชวนให้ร่วมเดินทางไปอินเดีย วันที่ 4-8 กค.65 เพื่อดูความคืบหน้าการสร้างโรงพยาบาล และสถานปฏิบัติธรรม ภูริปาโล ที่ลงรากปักฐานมาแต่ ปลายปี 2561 ท่ามกลางการระบาดไวรัส โควิด 19 ในปีต่อมา รวมทั้งการไหว้พระ และแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวพุทธ และสื่อสารมวลชน

 

โชคดีที่ ดร.พระครูสิทธิปริยัติวิเทศ (ฉลอง จนฺทสิริ) ที่ประจำประเทศอินเดีย ในฐานะพระธรรมทูต นานกว่า 40 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดไทยไวสาลี เป็นเจ้าของโรงเรียนบริการฟรีแก่ลูกหลานชาวอินเดีย ได้เมตตาพาพวกเราไปดู แม่น้ำ อโนมานที ที่ห่างจากชายแดนประเทศเนปาล ประมาณ 20 กิโลเมตร โดยมีทิวเขาเป็นเครื่องหมายกั้นเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ

 

ทำไมจึงเข้าใจว่าเป็น อโนมานที เพราะสภาพปัจจุบันตื้นเขิน ท่านพระครูบอกว่า เสาพระเจ้าอโศก 2 ต้น แต่ละต้นสูงกว่า 13 เมตร เป็นเครื่องยืนยัน

 

"เสาอโศก" ที่แม่น้ำอโนมา นั้นสร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อรำลึกว่าเป็นที่ปลงผม
ดร.พระครูสิทธิปรัยติวิเทศ บอกว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างเสาอโศก ณ จุดสำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่าน หรือเป็นที่ระลึกเหตุการณ์สำคัญเช่นการการ ตัด พระเมาฬี และอนุญาตให้บวชนางภิกษุณี ที่เมืองไวสาลี เป็นต้น

 

ปัจจุบัน "เสาอโศก" ที่ อโนมานที ล้มลงแต่ไม่หัก ที่หายไปคือหัวสิงห์ ที่ตั้งบนยอดเสาทั้ง 2 สำนักโบราณคดีของอินเดีย ชะลอมาตั้งไว้บนเนินดินที่มีหลังคากันแดดและฝน พร้อมทั้งมีประกาศห้ามทำลาย ขีดเขียน หรือห้ามสร้างสิ่งใด ๆ ในรัศมี 200 เมตร ใครละเมิดถูกปรับนับล้านรูปี

 

ท่านพระครูฉลองว่า แม่น้ำอโนมา รวมทั้ง "เสาอโศก" ขนาดใหญ่ ในเมืองไวสาลี จะเป็นจุดที่นักแสวงบุญ ไปกราบไหว้บูชา เช่นเดียวกับที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ค้นพบ ณ ปาวาลเจดีย์ ซึ่งรัฐบาลอินเดียทุ่มเงินมหาศาลเนรมิตรพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นมาพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจ้าลิจฉวี ได้รับส่วนแบ่งและบรรจุไว้ที่ปาวาลเจดีย์

 

ปัจจุบัน รัฐบาลเก็บรักษาพระบรมสารรีริกธาตุ  ไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองปัตตนะ และคาดว่าอีก 2-3 ปี จึงแล้วเสร็จ วันที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุที่มหาเดีย์ จะเป็นวันชุมนุมชาวพุทธทั่วโลกแน่นอน

 

เปรียญ 12 

"เสาอโศก" จุดรำลึกที่ ปลงผม ของพระพุทธเจ้า ก่อนมี "วันอาสาฬหบูชา"

"เสาอโศก" จุดรำลึกที่ ปลงผม ของพระพุทธเจ้า ก่อนมี "วันอาสาฬหบูชา"

"เสาอโศก" จุดรำลึกที่ ปลงผม ของพระพุทธเจ้า ก่อนมี "วันอาสาฬหบูชา" "เสาอโศก" จุดรำลึกที่ ปลงผม ของพระพุทธเจ้า ก่อนมี "วันอาสาฬหบูชา"

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057