คอลัมนิสต์

แตกตื่น "เขื่อนลาว" น้ำรั่วซึม ไม่กระทบตัว เขื่อนน้ำเทิน 1

แตกตื่น "เขื่อนลาว" น้ำรั่วซึม ไม่กระทบตัว เขื่อนน้ำเทิน 1

17 ก.ค. 2565

แตกตื่น "เขื่อนลาว" มีน้ำรั่วซึม ทางการลาวเงียบ แต่ไทยชิงแถลงข่าวอย่าตกใจ ไม่กระทบตัวเขื่อนน้ำเทิน 1 คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

สองฝั่งโขงสะเทือน “เขื่อนลาว” เกิดน้ำรั่วซึม ภาพอดีตเขื่อนแตกที่ลาวใต้ตามหลอน ฝั่งลาวเงียบกริบ แต่ฝั่งไทยชิงแถลงข่าวเอง

 

ชาวแตกตื่นข่าวลือ “เขื่อนลาว” มีภาพน้ำไหลออกมาจากด้านข้าง เหมือนน้ำตกขนาดเล็ก จึงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา

 

กรณีเขื่อนลาว ตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อบ่ายวันที่ 16 ก.ค.2565 ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค Joseph Akaravong ที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ได้โพสต์ภาพเขื่อนน้ำเทิน 1 ที่มีการเร่งระบายน้ำอยู่ และอีกภาพหนึ่งมีน้ำไหลออกตามหลืบหิน

 

Joseph Akaravong อ้างว่า มีคนลาวที่อาศัยอยู่ใกล้จุดก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 1 ถ่ายภาพน้ำไหลรั่วซึมออกมาจากหลืบหินส่งมาให้เขา ด้วยความเป็นห่วงว่า เขื่อนอาจจะแตก เหมือนกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เมื่อหลายปีก่อน

 

หลังจากนั้น คนลาวได้แชร์เรื่องเขื่อนมีน้ำรั่วไหลราวน้ำตก และตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น ก็ไม่มีคำชี้แจงจากผู้ก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 1 และกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว

ก่อนที่จะมีข่าวลือเรื่องเขื่อนลาวรั่ว ในโซเชียลลาว ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค Senggnam Khammavong ที่มีการเผยแพร่คลิปเขื่อนน้ำเทิน 1 เร่งระบายน้ำ และมีภาพน้ำไหลออกมาจากด้านข้าง

 

อนึ่ง เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ท่านสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีลาว เดินทางมาเป็นประธานในพิธีการกักเก็บน้ำโครงการเขื่อนน้ำเทิน 1

 

  • ‘แค่น้ำรั่วซึม’

หลัง “เขื่อนลาว” ประสบปัญหาสันเขื่อนดินอ่างเก็บของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก กลายเป็นภาพหลอนชาวลาว พอมีข่าวลือมีน้ำรั่วซึมที่เขื่อนน้ำเทิน 1 จึงตื่นตกใจทั้งประเทศ

 

วันที่ 17 ก.ค.2565 สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ของ สปป.ลาว ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำเขื่อนน้ำเทิน 1 สปป.ลาว เมืองปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ จากกรณีพบการรั่วซึมจากขั้นตอนการก่อสร้าง

 

เบื้องต้น สทนช.ได้มีการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า การรั่วซึมของเขื่อนตามที่มีการนำเสนอข่าว เกิดจากกระบวนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบดอัด อาจมีน้ำไหลผ่านช่องเล็กๆ ของชั้นดินและชั้นหินด้านข้างตัวเขื่อน และไม่อยู่

ในบริเวณที่เป็นโครงสร้างของเขื่อน จึงไม่มีผลต่อความมั่นคงของเขื่อนแต่อย่างใด

เขื่อนน้ำเทิน 1 เมืองปากกะดิง แขวงบอลิคำไซ

 

เพื่อความไม่ประมาท สทนช.ได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำโขงบริเวณที่ใกล้กับการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำเทิน 1 ซึ่งคือบริเวณสถานีนครพนม จ.นครพนม ยังมีระดับน้ำปกติและมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.7 เมตร การไหลของน้ำก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.40 ม.

 

  • ‘ใกล้บึงกาฬ’

เขื่อนลาว” มีมากกว่า 90 แห่ง แต่เขื่อนน้ำเทิน 1 เป็นเขื่อนใหญ่อันดับ 3 ของ สปป.ลาว รองจากเขื่อนน้ำเทิน 2 และเขื่อนไซยะบุลี

 

เขื่อนน้ำเทิน 1 กั้นแม่น้ำกะดิง ตอนล่าง บริเวณบ้านโพนจะเลิน(โพนสี) เมืองปากกะดิง แขวงบอลิคำไซ

 

จุดที่ตั้งเขื่อนน้ำเทิน 1 ไม่ไกลจากจุดที่แม่น้ำกะดิง ไหลตกแม่น้ำโขง เรียกว่า ปากกะดิง ตรงข้าม อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ระยะทางประมาณ 33 ก.ม.

 

โครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ดำเนินการโดยบริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 1 จำกัด ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทพอนสัก กรุ๊ป(PSG) ถือหุ้น 60% บริษัทเอกโก กรุ๊ป(EGCO) บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(EGAT) ถือหุ้น 25% และบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน(EDL-Gen) ถือหุ้น 15%

 

โครงการน้ำเทิน 1 เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ รูปแบบการก่อสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดสันเขื่อนยาว 771 เมตร สูง 177 เมตร เนื้อที่อ่างเก็บน้ำ 58,500 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าการลงทุนทั้งหมด 1,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 650 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,562 กิกกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี กฟผ.(EGAT) ได้เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำเทิน 1 จำนวน 514.3 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 130 เมกะวัตต์ ขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EDL) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 2 ฉบับ มีอายุ 27 ปี

 

ด้วยเหตุนี้เอง กฟผ.จึงต้องออกมายอมรับว่า มีน้ำไหลออกจากหลืบหินเพราะเป็นการรั่วซึม โดยที่ทางการฝั่งลาวเองกลับปิดปากเงียบ

 

ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่

Website - www.komchadluek.net

Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek

LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057