"พระวินัย" ไม่ห้าม พระออกกำลังกาย แต่อย่าโชว์
ดราม่าวงการพระพุทธศาสนา หลังโพสต์ภาพภิกษุสามเณร ในห้องฟิตเนส ขณะที่ "พระวินัย" ไม่ห้ามพระออกกำลังกาย แต่อย่าโชว์
เว็บเพจ วิพากษ์ วิจารณ์กันเยอะ หลังจากเพจข่าวสารพุทธศาสนา โพสต์ภาพ พระสงฆ์ออกกำลังกาย ในห้องฟิตเนส โดยมีนักวิทยาศาสตร์ สุขภาพ เป็นเทรนเนอร์ดูแลใกล้ชิด ทั้งนี้้เพื่อแก้โรคอ้วน น้ำหนักเกิน
บางคนว่าแบบนี้ไม่เหมาะสม สำหรับ พระ-เณร
บางคน(และพระบางรูป) ว่าควรทำแต่อย่าประเจิดประเจ้อ ชาวบ้านอาจเสียความศรัทธาได้ เพราะชาวพุทธ นอกจากเลื่อมใสพระธรรมคำสอน ของพระแล้ว ยังศรัทธาในสมณสารูปด้วย
อันที่จริงโรคอ้วนของพระเณร ที่เป็นนักเรียน โรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญ (ทั่วประเทศมี 403 ร.ร. นักเรียนประมาณ 30,000 รูป) ซึ่งส่วนมากตั้งในวัดที่อยู่ในจังหวัดภาคเหนือ อีสานนั้น อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ที่ให้การอุปถัมภ์ และท่านแสดงความเป็นห่วง นักเรียนพระเณร ที่ส่วนมากเป็นชนเผ่าว่าจะเป็นโรคขาดอาหาร(เพราะผอม) จึงส่งเสริมให้ฉันน้ำนม แต่ความอ้วนเข้ามาแทน ร่างกายไม่แข็งแรง จึงแนะนำให้มีห้องฟิตเนสใน รร. ทั้งหลาย
เรื่องนี้ผมทราบมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เป็นข่าว เพราะฝึกกันในห้องยิมของ รร .
ถ้าดูพระวินัยจะพบว่าการออกกำลังของพระเณร ไม่มีข้อห้ามกลับส่งเสริมให้ออกกำลังทางอ้อม คือ ต้องออกบิณฑบาตรเนืองนิตย์ทุกเช้า เหมือนเอาบุญไปส่งให้ถึงหน้าบ้านของประชาชน ขึ้นอยู่กับคนนั้นๆจะรับบุญหรือไม่ บิณฑบาตรเป็นการเดินออกกำลังกายแต่เช้า
การกวาดลานวัดของพระเณรนั้น เป็นหน้าที่ ที่พระเณรในวัดต้องปฏิบัติ นับเป็นการออกกำลังกายทางอ้อม
การกวาดวัด ส่วนมากใช้ไม้กวาดด้ามยาว ส่วนตัวไม้กวาดเป็นทางมะพร้าว ภาษาวัด(โบราณ) เรียกไม้กราด กวาดแล้วมีเสียงดังแกรกๆ (พื้นคอนกรีต)วัดไทยในสหรัฐอเมริกา ถูกคนท้องถิ่นร้องเรียน ว่า เสียงกวาดวัดทุกเช้าเย็นนั้นมีเสียงดัง รบกวน ก่อความรำคาญให้เพื่อนบ้าน ทางวัดจึงต้องลดเสียงลง กวาดเบาๆ
ส่วนการแกว่งแขน หรือยกตัวขึ้นลงบ่อยๆ ที่วงกบประตู(ไม้) ย่อมทำได้เป็นการเฉพาะตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคอ้วน นั้น เกิดจากกิน(ฉันอาหาร) มาก ไป หรือบางทีอาหารไม่ครบ 5 หมู่ กินแล้ว ทำให้เกิดง่วง เหงา หาว นอน จึงต้องเช้าเอน (หลัง) ฉันเพลนอน เย็นพักผ่อน ทำให้การเรียน การปฏิบัติธรรม ไม่เกิดมรรคผล เท่าที่ควร
พระพุทธองค์ จึงทรงแนะการฉันอาหาร และการสำรวมไว้ 3 หลัก(ไม่ให้อ้วน ง่วงนอน และเป็นโรค)
1) โภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการ บริโภค อาหาร เรื่องนี้อาจารย์ วศิน อินทสระ อ้างอรรกถาจารย์ โดยขยายความว่า ภิกษุพิจารณาแล้วว่าฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่นสนุกสนาน ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่ เพื่อตกแต่งงดงาม แต่เพื่อดำรงรูปขันธ์ เพื่อกำจัดการเบียดเบียน(ของโรค) และเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อกำจัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิด ช่วยให้กายดำเนินไปแบบไม่มีโทษ ความผาสุกก็เกิดขึ้น
นี้เรียกว่า โภชเน มัตตัญญุตา
2) อินทรีย์สังวร จะให้ข้อที่ 1 ส่งผลในทางบวก ภิกษุต้องมีอินทรีย์สังวร คือ สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เรื่องอาหารต้องสำรวมลิ้นอย่าให้ติดใน รสชาติ อาหารก็แล้วกัน ถ้าสำรวมลิ้นได้ โภชเน มัตตัญุตา ก็บรรลุผล
3) ชาคริยานุโยค คือ ประกอบความเพียรเสมอ ไม่เห็นแก่หลับ แก่นอน
คนมีความเพียรย่อมมีงานทำเสมอ จึงไม่ค่อยมีเวลากิน เวลานนอน
ท่านว่า 3 หลักนี้เป็นหมวดธรรมชื่ออปัณณกปฏิปทา แปลว่า ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ไม่มีโทษ ถ้าทำสมบูรณ์ก็ช่วยเปิดช่องทางให้เห็นมรรค ทางไปเพื่อกำจัดกิเลสาสวะ ชีวิตมีความสุข อาพาธน้อย
เป็นตัวอย่างอันดีของนักบวชผู้ประพฤติธรรม และเพื่ออนุเคราะห์คนรุ่นหลังอีกด้วย
สรุปว่า ออกกำลังกายไม่ผิด แต่อย่าให้โลดโผนเหมือนสำนักเส้าหลิน ก็แล้วกัน
อามิตตะพุทธ