คอลัมนิสต์

รัฐพิหาร ทุ่มงบฯ สร้าง "มหาสถูป" และ Buddhist complex ใกล้ วัดไทยไวสาลี อินเดีย

รัฐพิหาร ทุ่มงบฯ สร้าง "มหาสถูป" และ Buddhist complex ใกล้ วัดไทยไวสาลี อินเดีย

12 ก.ย. 2565

เป็นที่ชื่นชมในอีก 2 ปีข้างหน้า "มหาสถูป" บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ Buddhist complex จะแล้วเสร็จ ภายใต้การผลักดันของ เจ้าอาวาส วัดไทยไวสาลี อินเดีย ห่างจากวัดไม่มากนักบนพื้นที่ 1.2 พันไร่ รองรับชาวพุทธทั่วโลกมาแสวงบุญ ภายใต้การสนับสนุนของ รัฐพิหาร

พระครูสิทธิปริยัติวิเทศ(ดร.พระมหาฉลอง จนฺทสิริ)  เจ้าอาวาสวัดไทยไวสาลี อินเดีย นำ พระครูวินัยธรสมุทร ถาวรธมฺโม ดร.รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต มจร. และผมชมวัดไทยไวสาลี ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อประกอบสังฆกรรมเช่น "อุโบสถ" ที่รอการตกแต่งบางส่วน ก็จะเรียบร้อยสมบูรณ์ ที่พักสงฆ์ สามเณร และเรือนรับรองอุบาสกอุบาสิกา ที่เดินทางมาแสวงบุญ  และโรงเรียนปริยัติธรรม ที่ภาวนา รวมทั้ง โรงเรียนประถมที่เปิดสอนฟรีแก่เด็กชาวอินเดีย 
โรงเรียนนี้เป็นตึก 4 ชั้น  ตกแต่งยังไม่แล้วเสร็จ แต่เปิดเรียนเปิดสอน แล้ว
ท่านพาขึ้นบนดาดฟ้า ก็พบวัดชาวศรีลังกา ที่สร้างติดกันกับวัดของท่านเลย ท่านมหาฉลอง บอกว่าท่านยกที่ดินให้ศรีลังกาฟรีๆ เพื่อสร้างวัดขึ้นมา มองไปอีกฟากหนึ่งของถนน เป็นวัดชาวเวียตนาม มีเจดีย์ใหญ่พอสมควร


จากนั้นท่านชี้ชวนให้ชมการเร่งก่อสร้าง "มหาสถูป" และบุดดิสต์ คอมเพล็กซ์  (Buddhist complex)บนเนื้อที่ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวัดไทยไวสาลี ไม่มากมากนัก(แค่เดินสัก 10-15 นาที)
ท่านเล่าว่าที่นี่คือสถานที่ที่ท่านภาคภูมิใจในชีวิตที่สามารถต่อสู้จนได้ที่สร้าง "มหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ" แห่งใหม่ ขนาดใหญ่ และคอมเพล็กซ์ จัดสร้างโดยงบประมาณรัฐพิหาร บนเนื้อที่ประมาณ 75 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,200 ไร่ เพื่อชาวพุทธทั่วโลก และชาวไวสาลีโดยตรง

เรื่องมีอยู่ว่า ที่ "ไวสาลี" มีพุทธเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ "เจ้าลิจฉวี" แห่ง "แคว้นวัชชี" ได้รับส่วนแบ่ง 1ใน 8 ส่วน จากโทณพราห์มณ์ มาบรรจุ  ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองไวสาลี  หลังจากถวายเพลิงพระบรมศพ ซึ่งผ่านมา 2000 ปีเศษแล้ว
 เมื่อ ปี 2501 (ค ศ. 1958 ) รัฐบาลรัฐพิหาร เชิญพระบรมสารีริกธาตุจากปาวาลเจดีย์ไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ ปัตตนะ และมีทีท่าว่าจะไม่ส่งคืนไวสาลี 

เมื่อท่านได้ข้อมูลชัดเจนจึงนำมวลชนไปเรียกร้องให้อัญเชิญ "พระบรมสารีริกธาตุ" กลับไวสาลี โดยให้เหตุผลต่าง ๆ ทางรัฐพิหารรับปาก แต่เฉย ท่านจึงขอให้ศาลสั่ง แต่ทางราชการเพิกเฉยอีก ท่านจึงดำเนินการทางจิตวิทยา เช่นจะระดมคนจากไวสาลีไปกดดัน ในที่สุดรัฐพิหารยินยอมว่าจะอัญเชิญกลับไวสาลี โดยจะสร้างสถูปใหม่ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บนเนื้อที่ 2 เอเคอร์ครึ่ง 

 


ท่านว่าพื้นที่แค่นี้จะรองรับชาวพุทธทั่วโลกได้อย่างไร ในที่สุด "รัฐพิหาร" ได้เพิ่มพื้นที่ให้ 75 เอเคอร์ ได้มามากเกินคาดหมาย
ท่านพระครูสิทธิปริยัติวิเทศ ชึ่งปฏิบัติหน้าที่พระธรรมทูต อินเดีย-เนปาล ตั้งแต่ปี 1982 สมัยที่ "พระสุเมธาธิบดี" เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต จึงกล่าวว่าเป็นผลงานที่ท่าน "ภาคภูมิใจมาก" 
มหาสถูปแห่งนี้น่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อนั้นไวสาลีจะเต็มไปด้วยชาวพุทธ ที่มาไหว้พระบรมสารีริกธาตุ (จริงๆ) และชมความมห้ศจรรย์ "เสาอโศก" ที่มีอายุนับพันปี ที่ "พระเจ้าอโศกมหาราช" สร้าง เพื่อเป็นที่รำลึกเหตุการณ์สำคัญฯที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเช่นที่ทรงอนุญาตให้ "บวชภิกษุณี" กูฏาคารที่พระพุทธองค์ประทับทุกครั้งที่เสด็จไวสาลี ที่ทรงแสดง อปริหานิยธรรม7 แก่เจ้าลิฉวี

โครงการสร้าง  "มหาสถูป" บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ Buddhist complex

 อัมพปาลิกะวิหาร ที่นางอัมพปาลี หญิงงามแห่งราชสำนัก ถวายให้เป็น "สังฆเสนาสนะ"  ที่พระพุทธองค์ปลงอายุสังขาร  ณ ปาวาลเจดีย์ และเป็นสถานที่ที่ทำสังคายนา ครั้งที่ 2 จึงสามารถเรียกไวสาลี ได้ว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา สำคัญแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว
ท่านพระครู ดร.มหาฉลอง มาสร้างวัดไทยไวสาลี เมื่อปี 2006 เพื่อรับรองชาวพุทธที่มาแสวงบุญ ที่ไวสาลี  ต่อมาปี 2010 ได้สร้าง วัดไทยเกสริยา หลังเจดีย์เกสริยาโบราณ 

 


นอกจากนั้นได้สร้าง "จันทสิริพุทธวิหาร" ให้ชาวพุทธอินเดีย บริหารกันเอง นอกเหนือจากโรงเรียนระดับประถมอีก 2 แห่งเพื่อให้เด็กท้องถิ่นเรียนฟรี เป็นการสงเคราะห์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้โดยคำนึงว่า เมื่อเรามาอยู่บนแผ่นดินของเขา เราต้องมีอะไรตอบแทนเขาบ้าง ท่านจึงเป็นที่รู้จักของชาวอินเดีย ตั้งแต่มุขมนตรี จนถึงชาวบ้านทั่วไป ที่เรียกด้วยความเคารพ ว่า "บาบาฉลอง" สุดท้ายท่านปรารถนาให้มีภิกษุใจกล้า คิดและทำเพื่อพุทธศาสนามารับช่วงต่อ
 โดยท่าน ว่า "แม่ทัพ(คือท่าน) ยึดพื้นที่ให้แล้ว แต่ไม่มีผู้ดูแลรักษาต่อ"

 ซึ่งเป็นข้อความส่งท้ายให้ชาวพุทธ และพระธรรมทูต ช่วยคิดและสานต่อว่าจะช่วยรักษาพื้นที่นั้นๆ ต่อไปอย่างไร

รัฐพิหารสนับสนุนงบประมาณสร้าง "มหาสถูป" บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ Buddhist complex

สร้าง "มหาสถูป"  และ Buddhist complex บนพื้นที่ 1.2 พันไร่