คอลัมนิสต์

"น้ำท่วมใหญ่ปี 54"  ฝันร้ายที่ "นิคมอุตสาหกรรม" ไทยไม่เคยลืม

"น้ำท่วมใหญ่ปี 54" ฝันร้ายที่ "นิคมอุตสาหกรรม" ไทยไม่เคยลืม

05 ต.ค. 2565

"น้ำท่วมใหญ่ปี 2554" ฝันร้ายที่ "นิคมอุตสาหกรรม" ไทยไม่เคยลืม สร้างความเสียหายกว่า 3.5 แสนล้าน และเป็น ภัยธรรมชาติ ที่มี นักการเมือง เข้าไปวุ่นวาย จนผู้คนในสังคมต้องเรียกน้ำท่วมในปีนั้น ว่า "น้ำท่วมการเมือง"

สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ดูเหมือนว่าจะรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ กระจายไปเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ จุดเริ่มต้นของ อุทกภัย ก็คือ "พายุโนรู" มหันตภัยร้ายทางธรรมชาติ ที่เข้าถล่มไทยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565  ทางฝั่ง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เวลา 19.00 น. 

 

อิทธิพลของมัน ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก กระจายครอบคลุมไปเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะ "ภาคอีสาน" ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งจังหวัด อุบลราชธานี  ขอนแก่น และล่าสุดก็ จังหวัดชัยภูมิ ที่ถูกน้ำท่วมสูง 2 ปีติดต่อกันแล้ว  

 

นอกจากนี้ยังทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ก็ได้รับผลกระทบสาหัสไม่แพ้กัน โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบูรณ์ และล่าสุดก็ สุโขทัย 


\"น้ำท่วมใหญ่ปี 54\"  ฝันร้ายที่ \"นิคมอุตสาหกรรม\" ไทยไม่เคยลืม \"น้ำท่วมใหญ่ปี 54\"  ฝันร้ายที่ \"นิคมอุตสาหกรรม\" ไทยไม่เคยลืม

จากนั้นก็ลงมาสู่ "ลุ่มน้ำเจ้าพระยา" เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่ภาคกลาง พบว่าปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง  อีกทั้งเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ที่พบว่าพื้นที่ในอำเภอเสนา ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า ทนอยู่กับน้ำแบบนี้มานานกว่า 2 เดือนแล้ว  และระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้iระดับน้ำก็ใกล้เคียงกับ น้ำท่วมใหญ่ปี 54 แล้ว  

 

สิ่งนี้เอง หลายฝ่ายจึงมีความกังวัง โดยเฉพาะความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ของภาคอุตสาหกรรม เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี พื้นที่ติดต่อ เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง และเคยถูกน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ครั้งนั้นทำให้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ต้องจมไปกับสายน้ำ สร้างความเสียหายกว่า 3.5 แสนล้านบาท  

 

\"น้ำท่วมใหญ่ปี 54\"  ฝันร้ายที่ \"นิคมอุตสาหกรรม\" ไทยไม่เคยลืม \"น้ำท่วมใหญ่ปี 54\"  ฝันร้ายที่ \"นิคมอุตสาหกรรม\" ไทยไม่เคยลืม

และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา  นายไพรรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด  ได้เรียกประชุมด่วนที่สุด 5 นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 แห่ง คือ  1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (เดิมคือ นิคมสหรัตนนคร) 

 

และเอกชน 2 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ  2.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ 2,134 โรงงาน  เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัด

 

เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทยจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 

 

โดยช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนจะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม

 


วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปย้อนดูเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งในปี 2554  ที่สาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ ภัยธรรมชาติที่มีพายุเข้ามาในประเทศ  ทั้งหมด 5 ลูก ประกอบด้วย พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก  และปัจจัยที่สอง ก็มาจากน้ำมือมนุษย์ ที่เกิดหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ หลังผิดพลาด เรื่องบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้น  ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ มีนักการเมืองบางคน ที่เห็นแก่ตัว  เข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันมวลน้ำไม่ให้เข้าจังหวัดตัวเอง เป็นการรักษาฐานเสียง ที่สร้างความเสียหาย และความเดือดร้อนให้กับคนหมู่มาก  จนเลยเถิดทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเขตดอนเมือง เป็นพื้นที่รับน้ำด่านแรก และเป็นพื้นที่สุดท้ายที่น้ำลดเช่นกัน  

 


สำหรับพื้นที่ "นิคมอุตสาหกรรม" ทั้ง 7 แห่ง ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี เป็นมวลน้ำเหนือ ที่ไหลสู่ "ลุ่มน้ำเจ้าพระยา"  ก่อนเอ่อล้นตลิ่งไหลบ่า เข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ  


 
วันเริ่มต้น คือ วันที่ 4 ตุลาคม 2554 น้ำเหนือไหลเข้า "นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร"  ที่แรก พื้นที่กว่า  1,441 ไร่ และโรงงาน 43 แห่ง เต็มไปด้วยน้ำ  มูลค่าความเสียหายเกือบ 9500 ล้านบาท  และส่งผลให้ แรงงานเกือบ 15000 คน ต้องหยุดงานทันที 

 

8 ตุลาคม 2554 น้ำเหนือไหลต่อมายัง "สวนอุตสาหกรรมโรจนะ" อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่กว่า  3,675 ไร่  โรงงาน 236 แห่ง เสียหายหนัก  แรงงาน 100,000 ชีวิต ขาดร่ายได้ เพราะน้ำท่วมสูงไม่ต่ำกว่า2เมตร


13 ตุลาคม 2554  ถึงคราว "นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า  (ไฮเทค)"  อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มวลน้ำเข้าท่วมเต็มพื้นที่ 2,446 ไร่  โรงงาน 143 แห่ง จมไปกับสายน้ำ  แรงงาน 51,186 คน ต้องหยุดงานกระทันหัน      ส่วนมูลค่าความเสียหายสุงกว่า  65000 ล้านบาท 

 

15 ตุลาคม 2554  น้ำที่ท่วมรอบพื้นที่อำเภอบางปะอิน  ทะลักคันดินความสูง6 เมตร เข้าท่วม "นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน"  เต็มพื้นที่1,962 ไร่ สร้างความเสียหายกับโรงงาน 90 แห่ง ความสูงน้ำเฉลี่ย 2.50 – 4 เมตร เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ  เงินกว่า 60,000 ล้านสูญหาย  ส่วน แรงงานกอีกประมาณ 60,000 คน ต้องหยุดงานนานกว่า 2เดือน


16ตุลาคม 2554  ถึงทีของ "เขตประกอบการอุตสาหกรรม แฟตตอรี่แลนด์"  น้ำเหนือไหลเข้าท่วมพื้นที่ 130 ไร่ ส่งผลให้โรงงาน 93 แห่งปิดทำการชั่วคราว  กระทบแรงงานเกือบ 9000 คน  มูลค่าลงทุน 8000 ล้านบาท สูญหายไปกับน้ำ


เพียงแค่ครึ่งเดือนตุลาคม ปี 2554  น้ำเหนือไหลเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมแล้ว 5แห่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนล้านบาท แรงงานกว่า 2 แสน ชีวิต ต้องหยุดชั่วคราว ขาดรายได้ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะบางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว และบางคนก็มีพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่รอเงิน จากเขาเหล่านี้ไปจุนเจือครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด  


จากนั้น วันที่ 17 ตุลาคม 2554 มวลน้ำยังเดินทางต่อไปตามหลักภูมิศาสตร์ คือจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ จากเมืองหลวงเก่าแก่ สู่ เมืองที่อยู่ปริมณฑล อย่าง จังหวัดปทุมธานี ในวันนั้น มวลน้ำทะลักพนังกั้นน้ำความสูง 5เมตร ของ "เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร"  จุดแรกที่ด้านหลังวัดพืชนิมิตร  จุดที่2บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียด้านโรงงานคูโบต้า 
 

แม้จะมีความพยายามที่จะเอาชนะภัยธรรมชาติ อย่างเต็มที่ และคิดว่าป้องกันได้ แต่ใครจะล่วงรู้ ว่าธรรมชาติโหดร้ายกว่าที่คิด มวลน้ำมหาศาล ได้ทำลายล้างสิ่งกีดขวางด้านหน้า จนพังเสียหาย ทำให้น้ำท่วมเต็มพื้นที่อย่างรวดเร็ว นวนครเกือบ 6500 ไร่ จมไปกับสายน้ำ พร้อมโรงงาน 227 แห่ง  ระดับน้ำที่นี่ท่วมสูงสุดถึง4เมตร  แรงงานกว่า  170,000 คน ต้องหยุดงานทันที  บางคนถูกเลิกจ้าง  เพราะเจ้าของโรงงานก็ล้มละลายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนั้น 


21 ตุลาคม 2554 น้ำเหนือจากพื้นที่อำเภอเมืองปทุมธานี ก็เข้ามาประชิดแนวกั้นของ "สวนอุตสาหกรรมบางกะดี" มันค่อยๆกัดเซาะคันดินความสูงเกือบ 5 เมตร ที่เจ้าของทำกั้นไว้ แต่สิ่งกีดขวางเพียงเท่านี้ไม่สามารถป้องกันมวลน้ำได้ เพราะขนาดหินที่แข็งแกร่งถูกน้ำหยดลงทุกวัน หินยังกร่อนได้ นับประสาอะไรกับแค่คันดิน ที่ไม่นานมันฝ่าด่านวงล้อมเข้ามาได้เเบบสบายๆ  ไม่ถึงชั่วโมงพื้นที่ 250ไร่ เต็มไปด้วยน้ำ  แรงงานมากกว่า 25,000 คน จากโรงงาน 47แห่ง ต้องหยุดงานกะทันหัน รวมไปถึง เงินลงทุน 22,000ล้านบาทสูญสิ้นทันทีเช่นกัน   

 

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถึงแม้มนุษย์ จะพยายามใช้วิธีหลากหลายในการป้องกัน และสร้างปราการกั้นน้ำหลายจุด แต่ธรรมชาติมักมีอาวุธที่พร้อมนำออกมาทำลายล้างสิ่งต่างๆอยู่เสมอ สุดท้าย 2 จังหวัด ไม่มี "นิคมอุตสาหกรรม" ไหนรอด  

 

คราวนี้รัฐบาลและเอกชนจึงร่วมมือกันเพื่อรักษา และป้องกัน นิคมอุตสาหกรรมที่เหลืออยู่ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วม นั่นก็คือ "นิคมอุตสาหกรรมบางชัน" ย่านเสรีไทย  กรุงเทพมหานคร 

 

แต่ความพยายามครั้งนี้ไม่สูญเปล่า ผลของการสูบน้ำในคลองหลอแหล  และคลองแสนแสบ รวมถึงการคิดค้น "แผนมะรุมมะตุ้ม" ของเหล่าทหาร จึงเกิดขึ้นด้วยการปิดกั้นน้ำและสูบน้ำที่ท่วมขังบนถนนเสรีไทยลงท่อ  แม้จะไม่เป็นผลในช่วงแรก  แต่สุดท้ายก็สามารถระบายน้ำที่ประชิด "นิคมอุตสาหกรรมบางชัน" ได้  ทำให้โรงงานจำนวน 231 แห่ง รอดพ้นจากน้ำท่วม  แรงงานจำนวน 48,097 คนไม่ตกงาน  เป็นโรงงานแรกที่ "เสี่ยง" และ "รอด" จากน้ำท่วม ถือเป็นความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรม 

 


นอกจากนี้ยังมี นิคมอุตสาหกรรมอีกแห่งที่รอดจากน้ำท่วมปี 2554 มาได้ คือ "นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง"  จังหวัดสมุทรปราการ  ด้วยการนำถังน้ำมันบรรจุน้ำไว้จนเต็ม ทำเป็นพนังกั้นน้ำ และปิดกั้นด้วยแผ่นวีว่าบอร์ด ที่สร้างขึ้นตลอดแนวคลองลำแตงโม คลองที่ไหลผ่ากลางนิคม  รวมทั้งทำพนังกั้นน้ำรอบพื้นที่17กิโลเมตร ตลอด นิคมลาดกระบัง มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว สอดส่องดูแลจุดเสี่ยง 24ชั่วโมง  

 

ผลลัพธ์ของการวางแผนที่เป็นระบบในครั้งนี้ ทำให้  โรงงาน137 แห่ง แรงงาน 22,884 คน ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง รอดพ้นวิกฤติน้ำท่วมไปได้อย่างน่าชื่นชมถึงความทุ่มเทของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกัน  

 

กระทั้ง วันที่ 8 ธันวาคม  2554 กรมโรงงานอุตสาหกรรม สรุปภาพรวมความเสียหายจากน้ำท่วม ข้อมูลพบว่า มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนขอรับความช่วยเหลือประมาณ 2,676 ราย แบ่ง เป็นภาคการผลิตเสียหาย 1,218 ราย มูลค่าเงินลงทุน 268,157 ล้านบาท ผลกระทบต่อการจ้างงานเกือบ 142000 คน ความเสียหายมากกว่า 88000 ล้านบาท  รวมแล้วในปีนั้่นเราต้องจ่ายภาษีคืนธรรมชาติไปเกือบ 3.5 แสนล้านบาท 

 

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ในปี 2565 ที่พบว่า กำลังขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ วันนี้ ทีมข่าว คมชัดลึกออนไลน์ ได้พูดคุยกับ  นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มาร่วมงานสัมนา "Thailand Ecodomic 2023" ที่จัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ บริษัทในเครือ เนชั่น กรุ๊ป ในโอกาสฉลองครอบรอบ 36 ปี และร่วมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ  "ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2023 รอดหรือร่วง" ได้กล่าวถึงมาตรการรับมือ - ป้องกัน น้ำท่วม ภายของนิคมอุตสาหกรรม ในปีนี้ 

นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า ปีนี้ยอมรับว่ามีความกังวล จึงต้องกำชับให้นิคมอุตสาหกรรม เฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่อยากให้เป็นฝันร้ายเหมือนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 


โดยช่วงแรก นิคมอุตสาหกรรม โรงงาน ที่อยู่ในพื้นที่ น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ในภาคกลาง ก็เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด ทุกโรงงานมีการเตรียมกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ เเละอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วมไว้เเล้วอย่างเต็มที่  

 

พร้อมมีการวางแผนรับมือ ถึงแม้การประเมิณเบื้องต้น ยังไงก็ไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปี 2554 แต่เพื่อความไม่ประมาท และภัยธรรมชาติ คือมหันตภัยร้าย ที่ไม่บอกให้รับรู้ล่วงหน้าถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจริงเหมือนปี 2554  ประเทศไทยก็หมดเชื่อความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศในระยะยาว สร้างเสียหายเป็นเม็ดเงินมหาศาล ที่ไทยจะเสียโอกาศจากการลงทุน 

 

แต่หากมองในมุมกลับ ถ้าไทยผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ก็จะกลายเป็นผลดี ที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ รวมถึงช่วยสร้างความเชื่อมั่น กับนักลุงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้ในระยาวเช่นกัน

 


"น้ำท่วมใหญ่ปี 54" ได้สร้างความเสียหายในทุกมิติ  โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าความเสียหายโดยรวมสูงกว่า 14.4 ล้านล้านบาท ประชาชนได้รับผลกระทบ กว่า 12.8 ล้านคน  แต่ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวม ผลกระทบทางจิตใจ ความสูญเสียของบ้านเรือน ที่พักอาศัย โรงเรียน อาคาร โรงงานต่างๆ ที่คงไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้


"น้ำท่วมใหญ่ปี 54"  คืออุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี เหตุการณ์ในครั้งนั้น กลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เสียหายไป 7 แห่ง 

 

ส่งผลยังรายได้ของประเทศที่มาจากเม็ดเงินลงทุนใน  นิคมอุตสาหกรรม ก็สูญหายไปกว่า 3.5 แสนล้านบาท  และเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนั้น ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รับรู้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นเรื่องใกล้ตัวและควรรับมือให้ดีที่สุด 

 

รวมทั้งยังได้รับรู้ ว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าภัยธรรมชาติ นั่นก็คือมนุษย์  เห็นได้จากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้น แถมยังมี  "นักการเมือง" พ่วงท้ายมาด้วย  โดยสิ่งที่เขาทำก็คือพยายามแทรกแทรงเอาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่คำนึงถึงความเสียหาย และเดือดร้อนในภาพรวม  มิหนำซ้ำทำให้สถานการณ์น้ำท่วม กลับเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม  "น้ำท่วมใหญ่ปี 54"  จึงถูกคนในสังคมเรียกอีกอย่างว่า  "น้ำท่วมการเมือง" 
 

 

\"น้ำท่วมใหญ่ปี 54\"  ฝันร้ายที่ \"นิคมอุตสาหกรรม\" ไทยไม่เคยลืม \"น้ำท่วมใหญ่ปี 54\"  ฝันร้ายที่ \"นิคมอุตสาหกรรม\" ไทยไม่เคยลืม \"น้ำท่วมใหญ่ปี 54\"  ฝันร้ายที่ \"นิคมอุตสาหกรรม\" ไทยไม่เคยลืม

 


ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/