บทเรียนเดิม อาจใช้ไม่ได้กับ น้ำท่วม “อุบลฯ” ปี 2565
“น้ำท่วมอุบลราชธานี” ปีนี้ ถือว่าหนักเเละรุนแรงที่สุดรอบ44 ปี ชาวบ้านในพื้นที่คาดเดาผิดคิดว่าไม่เท่าปี 2562 สุดท้ายน้ำสูงกว่าเกือบ2 เมตร ด้าน “ดร.เสรี” ชี้ บทเรียนเดิมๆ ที่อุบลฯ อาจใช้ไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป คาดอาจต้องอยู่กับน้ำถึงต้นปีหน้า
สถานการณ์น้ำท่วมนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ที่ "พายุโนรู" พัดถล่มอย่างหนัก ส่งผลให้ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ถูกน้ำท่วมขังและน้ำท่วมฉับพลัน จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
จากรายงาน ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 กลับพบว่า ช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 14 ต.ค. 2565 ก่อนและหลัง "พายุโนรู" พัดถล่มไทย ส่งผลให้ น้ำท่วมพื้นที่รวม 56 จังหวัด 297 อำเภอ 1,476 ตำบล9,165 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 394,338 ครัวเรือน
และปัจจุบัน พบว่า ยังคงมีน้ำท่วมขังกระจายอยู่ในพื้นที่ รวม 28 จังหวัดประกอบด้วย ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคามกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีหนองบัวลำภู อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีนนทบุรี ลพบุรี นครปฐม นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี
รวม 160 อำเภอ 969 ตำบล 6,242 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 324,256 ครัวเรือน
ล่าสุดวันนี้ (15 ต.ค.65) กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนฉบับที่7 เรื่องอิทธิพล "พายุเซินกา" ที่จะพัดถล่มภาคอีสานของไทยในวันนี้ ผลของมันจะมีฝนตกและตกหนัก มีลมแรง บริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหารมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
พร้อมบอกให้ประชาชนในพื้นที่เจรียมรับมือกับพายุและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะ น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
- "น้ำท่วมอุบลฯ" หนักสุดในรอบ 44 ปี
และในพื้นที่ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี คือจังหวัดที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ จากน้ำท่วมหนักที่สุดในขณะนี้ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเเอ่งกระทะและเป็นพื้นที่รับน้ำสายสำคัญและสายหลักของภูมิภาค ถึง 2 สาย ทั้งลำน้ำมูล ที่มาจากจ.นครราชสีมา และลำน้ำชี ที่ไหลมาจาก จ.ขอนแก่น ก่อนที่ลำน้ำชี จะไหลลงมารวมกลายเป็นลำน้ำมูล บริเวณรอยต่อบ้านขอนไม้ยูง ตำบลห้วยขะยูง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และบ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ แล้วไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอสว่างวีรวงศ์ อำเภอดอนมดแดง อำเภอตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหาร ก่อนจะะไหลลงสู่ แม่น้ำโขง ที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอโขงเจียมจังหวัดอุบลราชธานี รวมระยะทางที่สร้างชีวิตให้คนในภาคอีสานประมาณ 640 กิโลเมตร
สถานการณ์น้ำล่าสุดวันนี้ (15 ต.ค.65) ระดับ “แม่น้ำมูล” ที่สถานีวัดน้ำ M 7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี พบว่า ลดลงจากเมื่อวาน 2 ซม. ทำให้มีระดับน้ำสูง 11.49 เมตร น้ำเอ่อล้นตลิ่งวัดจากพื้นดินเหนือลำน้ำมูลฝั่ง อำเภอวารินชำราบ สูงถึง 4.49 เมตร และอัตราการไหลผ่านของน้ำ5,725.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
และน้ำท่วมเมืองดอกบัว ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 44 ปี เป็นรองแค่เหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2521 เท่านั้น ทำให้ปี 2562 ที่อยู่ในอันดับสองก่อนหน้านี้ ต้องร่วงไปอยู่ที่อันดับสาม ตามสถานการณ์ความรุนแรง
จนถึงตอนนี้ ลำน้ำมูล ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลงง่ายๆ ถึงแม้วันนี้น้ำจะลดลง2 ซม. แต่ถ้าเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในพื้นที่จาก "พายุเซินกา" และมวลน้ำอีกตำนวนมหาศาลของลำน้ำมูลและลำน้ำชีที่กำลังไหลมาสมทบอีกในไม่ช้าระดับน้ำมูล เมืองอุบลฯ ต้องเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อย่างแน่นอน
ทีมข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์คนในพื้นที่ คนแรกเป็นจิตอาสาฯ เพศหญิง วัย 44 ปี ที่เกิดและเติบโตในจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเธอเป็นจิตอาสา ออกช่วยเหลือชาวบ้านร่วมกับมูลนิธิร่วมกตัญญู ตั้งแต่น้ำเริ่มท่วมทำให้เธอเห็นปัญหาตั้งแต่ต้นได้เป็นอย่างดี
โดยเธอเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นำบทเรียนในอดีตมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันซักเท่าไหร่ และบางหน่วยงานก็พยายามปกปิดข้อมูลประชาชน เห็นได้จาก สถานการณ์ฝนที่เริ่มตกในพื้นที่และเริ่มมีน้ำท่วมขังตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้รับข้อมูลและไม่มีการแจ้งเตือนใดๆเลยจากหน่วนงานราชการ
จนล่วงเลยเข้าเดือนกันยายนยน จึงผิดสังเกตุ และอาศัยประสบการณ์ น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี2562 พบว่าปริมาณน้ำมูลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางจังหวัดมีการประเตือน จนนำไปสู่แผนการอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะทางจังหวัดประกาศบอกให้เตรียมตัวในวันที่สายไปแล้ว ข้าวของในบ้านเกือบทุกครอบครัว สองริมฝั่งลำน้ำมูล ทั้งฝั่ง อำเภอเมืองอุบลราชธานี และฝั่ง อำเภอวารินชำราบ ต้องจมอยู่กับน้ำ เพราะเคลื่อนย้ายไม่ทัน
"ถามว่าปกปิดไหม ตั้งแต่แรก ย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนสิงหาคม เข้ากันยายนหลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วมแล้ว เขาก็บูรณาการโดยการเอาเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออก นำกระสอบทรายมากั้น เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนก ไม่ให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจๆ เพราะเป็นช่วงรอยต่อจากโควิดมา คือเรารู้แค่นี้ แต่พอเราลงพื้นที่
โอ้โห !!!! พบว่า พื้นที่ตรงนั้นก็ท่วม พื้นที่ตรงนี้ก็ท่วม นึกว่าเราคิดไปเองคนเดียวว่าสถานการร์มันน่าจะร้ายเเรงกว่าที่เห็น จนได้ลงพื้นที่ และพบว่า หนักกว่า ปี2562 น้องๆปี 2521 ตอนนี้ (15 ต.ค.65) ระดับน้ำ 11.50 ม. เหลืออีกประมาณ90 เซนติเมตร โดยระดับน้ำปี 2521 ประมาณ 12.43 เมตร
นักข่าวในพื้นที่ที่รู้มา ก็ทำข่าวได้ประมาณนึง นำโดรนบินสำรวจไม่ได้ ทำอะไรมากไม่ได้ แต่ถ้ามองอีกมุมนึง ก็มองว่า ทุกฝ่ายพยายามช่วยกัน เพื่อที่จะไม่เศรษฐกิจหรืออะไรอีกหลายอย่างมันเสียหายมากกว่านี้
และตอนนี้น้ำมันระบายลงโขงไม่ทัน กลายเป็นเอ่อล้นตลิ่งทั้งสองฝั่งน้ำมูล โดยฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี น้ำถึงที่การอำเภอเมืองอุบลฯ ที่บุ่งกะเเซว แล้วก็ด้านถนนพิชิตรังสรรค์ หน้าโรงแรมลายทอง ส่วนฝั่งอำเภอวารินชำราบ ที่เป็นพื้นที่ต่ำบ้านแถวหาดสวนยา น้ำท่วม2ชั้นแล้ว กลายเป็นว่า เราไปช่วยใครมาก็หนักสาหัสเลย
แม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2521 ปีพี่เกิดพอดี น้ำท่วมถึงศาลากลางจังหวัดอุบลฯส่วนปีนี้พบว่า น้ำอยู่หน้าโรงเรียนอาเวมารีอา ซึ่งเหลืออีกไม่ถึง 500 เมตร ก็จะถึงศาลากลางจังหวัดแล้ว" จิตอาสา ชาวอุบลฯ กล่าว
จิตอาสาฯ รายนี้ เล่าต่อว่า ทุกวันนี้นอกจากชาวบ้านเขาจะต้องคอยระวังคอยทุกข์ใจกับมวลน้ำที่สูง 4-5 ม. แล้ว
อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากทิ้งบ้านไปไหน แม้ว่าน้ำจะท่วมสูงเกือบมิดหลังคาก็ตาม นั่นก็คือ ขโมยออกอาละวาดเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนใหญ่มาตอนกลางคืน และน่าจะเป็นคนในพื้นที่ด้วยกันเอง เพราะคุ้นเคยกับเส้นทาง คือพวกเราจิตอาสา เข้าพื้นที่ช่วงกลางวันก็ลำบากมากแล้ว นี่คนร้ายมากันในตอนกลางคืน ก็น่าจะรู้เส้นทางเป็นอย่างดี ว่าจุดไหนมีสายไฟ จุดไหนมีสิ่งกีดขวางทางเรือ
"เคยมีผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังตอนเข้าพื้นที่ ว่า ตอนกลางคืนแกนั่งอยู่ในบ้าน ก็เห็นมีคนพายเรือกันมา3 คน ท่าทีแปลกๆ ก็เลยยิงปืนขู่เพื่อให้คนร้ายกลัว
บางบ้านอยู่ห่างคนอื่นและทางเข้าลำบากบวกกับกระเเสน้ำไหลเชียวและลึก จึงตกหล่นสำหรับการช่วยเหลือ " จิตอาสาในพื้นที่ กล่าว
จิตอาสารายนี้กล่าวต่อว่า ชาวบ้านที่นี่ต้องอพยพหนีน้ำกันถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกที่ท่วม การแจ้งเตือนไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะบางพื้นที่มีการประกาศเตือน แต่บางพื้นที่ไม่มี
จากนั้น ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์ ได้ติดต่อไปยัง นาง อนงค์ เมืองโคตร อายุ60 ปี ชาวบ้านหาดคูเดื่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี เจ้าของกิจการแพริมน้ำ ที่ปัจจุบันถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายจนหมด
นางอนงค์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้รับการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการให้ขนของหนีน้ำ เพราะน้ำกำลังจะมา แต่ชาวบ้านก็ชะล่าใจไม่คิดว่ามันจะท่วมหรือไม่ก็คงไม่เท่ากับน้ำท่วมใหญ่ ปี 2562 เพราะมันเว้นมา 2 ปี คือ ปี 2563และปี 2564 แต่ปรากฎว่าน้ำมาเร็วและไหลแรงมาก จึงขนย้ายสิ่งของภายในบ้านออกไปไม่ทัน ข้าวของภายในร้านอาหารของตัวเองก็จมหายไปกับสายน้ำมูล สูญเงินลงทุนไปอีกกว่า5หมื่นบาท
"ปีนี้น้ำมาเร็ว กว่าปกติ มามากกว่าปี 2562 ครั้งแรกประมาณต้นเดือนกันยายนทางจังหวัดได้ประกาศเตือนแล้ว แต่ชาวบ้านคิดว่าไม่ท่วมหรือไม่ก็ไม่น่าจะหนักเท่าปี62 แต่ที่ไหนได้ น้ำปีนี้มาเร็ว จะขนย้านสิ่งของต่างๆก็ไท่ทันแล้ว ต้องปล่อยให้จมน้ำไป น้ำลดค่อยกูหนี้ยืมสินมาตั้งต้นชีวิตใหม่(หัวเราะ)
ตอนนี้ชาวบ้านหาดคูเดื่อ ประมาณเกือบ300หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมทั้งหมด ระดับน้ำปีนี้สูงกว่าปี2562 เกือบ2 เมตร เพราะปีนั้นน้ำสูงประมาณ3 เมตร แต่ปีนี้น้ำสูงเกือบ 5 เมตรแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะตอนนี้มวลน้ำก้อนใหญ่จากลำน้ำชีในจังหวัดขอนแก่น ยังเดินทางมาไม่ถึง และคาดว่าเดือนธันวาน้ำน่าจะลดเข้าสู่ปกติ
ตอนนี้เวลาออกไปข้างนอกต้องไปทางเรือ ใครไม่มีก็จะมีเรือรับจ้างของชาวบ้านนี่แหละ เข้า-ออก เสียค่าโดยสารครั้งละ 50 บาท เวลาเขามาแจกอาหารก็ต้องนั่งเรือไปเอา เพราะพื้นที่มันเข้ามาลำบาก
ตอนนี้อาหารการกินก็ได้รับแจกบ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะที่บ้านอยู่รวมกันบนแพนับ 10 คน ไม่กล้าไปไหน เพราะกลัวของหาย และต้องคอยดูคนในบ้าน ซึ่งมีทั้งเด็กเล็กสุดอายุ4ปี และแม่วัย 90 ปีด้วย
การใช้ชีวิตลำบากมาก เพราะไม่มีทั้งไฟ และ น้ำ ต้องใช้เทียนจุดเพิ่มแสงสว่างในช่วงค่ำ ส่วนห้องน้ำก็ไม่มี ต้องทำธุระส่วนตัวบนเรือ เพราะไม่มีพื้นดินให้เห็นเลยบริเวณรอบชุมชน
และหากน้ำลดก็ยังไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาลงทุนต่อ เพราะข้าวของที่เคยมีในร้านก็จมหายไปกับลำน้ำมูลหมด คิดเป็นเงินก็มากกว่า 5 หมื่นบาท " นางอนงค์กล่าว
- นักวิชาการพื้นที่ชี้ "ระบบจัดการน้ำอุบลฯ" ไร้ประสิทธิภาพ
เพราะเหตุใด อะไรคือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ จังหวัดอุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมหนักเข้าสู่วิกฤติรุนแรงที่สุดอีกหนึ่งครั้ง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ผศ.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้วิเคราะห์ให้ฟังถึงสาเหตุของ น้ำ ท่วมในปีนี้ (2565) กับทาง สถานีโทรทัศน์ Thaipbs ว่า ปัจจัยสำคัญที่น้ำท่วมหนักปี 2565 มาจาก ฝนที่ตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงกลางปี ประมาณเดือนพฤษภาคม มาถึงปัจจุบัน ทำให้มีปริมาณฝนสะสมในปีนี้มีค่ามากกว่าปกติ และตกกระจายทั่วภาคอีสาน ทำให้พื้นที่ต้นน้ำที่จะไหลลงมารวมกัน ที่ เมืองอุบล ฯ ทั้ง ลำน้ำมูล ลำน้ำชี และลำน้ำยัง มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคอีสานคล้ายกับแอ่งกระทะ
โดยเฉพาะพื้นที่ตรงกลางอีสานเป็นที่ลุ่มต่ำเมื่อฝนตกลงมาในพื้นที่น้ำแทบจะทุกหยดจะไหลรวมกันมาที่จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งจะเป็นจังหวัดปลายน้ำที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกๆ ปี นอกจากปริมาณน้ำจากลำน้ำสายหลักแล้ว ยังพบว่าพื้นที่บริเวณท้ายแม่น้ำมูลก็มีแก่งสะพือ เป็นแก่งหินธรรมชาติขนาดใหญ่ ยกตัวขวางเป็นเขื่อนธรรมชาติ ส่งผลให้การระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก สู่แม่น้ำโขงไม่สมดุลกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่
นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีกหลายปัจจัย ที่ทำให้น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของพายุ ที่มักจะพัดถล่มใรภาคอีสาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนล่าสุด ก็ในช่วงวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา “พายุโนรู” พัดเข้าพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำในเมืองอุบลฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนน้ำมูลเอ่อล้นตลิ่ง ไหลท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง และส่งสัญญานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อีกหนึ่งปัญหาที่ทุกจังหวัดกำลังพบเจอ นั่นก็คือการขยายเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วในทุกจังหวัดของภาคอีสาน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่รับน้ำ และชะลอน้ำหรือแก้มลิงหายไป อีกทั้งการเติบโตของเมืองกลายเป็นการกีดขวางทางน้ำ ที่เมื่อไหร่เกิดฝนตกหนักก็จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน คู่กันทันที
และสิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจในการแก้ปัญหา นั่นก็คือ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสาน ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยสังเกตเได้จากช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีค่อนข้างมากจนทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก แต่พอเข้าสู่ฤดูแล้งภาคอีสานกลับแห้งแล้งไม่มีน้ำมาใช้
หลัวจากนี้ภาครัฐ ควรมีการศึกษาแนวทางโดยควรส่งเสริมให้มีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางเพิ่มมากขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและยังเป็นการลดปริมาณมวลน้ำที่จะไหลลงสู่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงฤดูน้ำหลาก
นอกจากนี้ควรมีระบบการพยากรณ์น้ำที่มีความถูกต้องและแม่นยำ มีประสิทธิภาพให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานและประชาชนได้ทราบ จนนำไปสู่การวางแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยลดความเสียหายที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้อีดกด้วย
- "ดร.เสรี " ผอ.ศูนย์ภัยพิบัติ ม.รังสิต ชี้ "น้ำท่วม อุบลราชธานี" ยาวถึงต้นปีหน้า
ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ที่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์ กับทางคมชัดลึกออนไลน์ โดยบอกว่า น้ำท่วมอุบลราชธานี ปีนี้ จะหนักและรุนแรงมากกว่า2562 เพราะมีฝนชุก และต้องรับน้ำทั่วทิศทางก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง ผ่านมาไม่ถึง20 วัน ก็เป็นดังที่คาดการณ์ไว้
วันนี้ทีมข่าวจึงสอบถาม รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ถึงแนวโน้มของสถานการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี ว่ามีโอกาศจะวิกฤติเท่าปี 2521
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เปิดเผยว่า ปีนี้ไม่เท่าปี 2521 แน่นอน เป็นไปได้ยาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาครัฐ ต้องเปลี่ยนระบบจัดการน้ำใหม่ เพราะสภาพภูมิประเทศ และทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนไป
"ผมไม่เข้าใจว่าเวลามีน้ำท่วมทีไรต้องน้ำดินนำกระสอบทรายไปกั้นถนน เพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่าน แต่นั่นมันเป็นการอั้นน้ำ การจำกัดพื้นที่ และทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่า น้ำในแม่น้ำต่างๆปริมาณการไหลหรือเก็บกักน้ำมันไม่สามารถทำได้มากเหมือนเมื่อก่อน ด้วยหลายปัจจัยแวดล้อม ต้องเข้าใจในส่วนนี้ก่อน
น้ำทุกวันนี้มาน้อยกว่าเมื่อก่อนแต่ท่วมเยอะ เพราะทิศทางการไหลของน้ำถูกปิด หลังจากนี้อยากให้หน่วยงานต่างๆ อย่านำดินหรือกระสอบทรายไปกั้นขวางทางน้ำ โดยเฉพาะถนน เพื่อบล็อกน้ำไว้ไม่ให้ไหลผ่าน และรัฐบาลควรหาพื้นที่แก้มลิงเป็นของตัวเอง ไม่ใช่พื้นที่ของเอกชน จากการเวรคืนพื้นที่ จะได้ไม่มีปัญหาและต้องทำให้เป็นระบบ เช่นแก้มลิง 1 แก้มลิง2 3 4 ตามลำดับ โดยมีคลองหรือท่อเป็นตัวเชื่อมแต่ละเเก้มลิง แต่คลองน่าจะถูกกว่า จากนั้นก็บริหารจัดการ ช่วงไหนไม่มีน้ำก็ทำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีการขายอาหารสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว หารายได้
ที่ผ่านมาภาครัฐบอกว่ามีที่ แต่นั่นมันของเอกชนไม่ใช่ของรัฐ เพราะเอาจริงๆแล้วยังไม่ได้หาพื้นที่ หลังจากนี้อยากให้หาพื้นที่ทั้งฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา และฝั่ง อีสานทั้งลำน้ำมูลและลำน้ำชี
ส่วนสถานการณ์ที่อุบลราชธานี หลังจากนี้ ชาวบ้านก็ต้องทนอยู่กับน้ำไปก่อนเพราะมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงอีก โดยน้ำจะมาจากลำน้ำชีที่พบว่า จังหวัดขอนแก่นหลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง และลำน้ำมูล ที่พบว่า อ.พิมายที่โคราชยังมีน้ำท่วมสูงอยู่
แต่ปริมาณน้ำไม่เท่ากับปี 2521 อย่างแน่นอน ครั้งนั้นน้ำไหลผ่าน เป็น หมื่นลูกบาศก์ต่อวินาที โอกาสที่จะเท่าระดับนั้นถือว่ายากมาก " รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กล่าว
จากข้อมูลล่าสุดวานนี้ (14 ตค.65) จาก กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 19 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ เหล่าเสือโก้ก สำโรง นาเยีย สิรินธร และบุณฑริก จำนวน 139 ตำบล กว่า 1,200 หมู่บ้าน
- แยกเป็นความเสียหาย
ด้านการดำรงชีพ 10 อำเภอ 38 ตำบล 246 หมู่บ้าน 17,816 ครัวเรือน ประชาชนเดือดร้อนกว่า 59,000 คน ถนน สะพาน วัดที่พักสงฆ์ สถานพยาบาล และสถานศึกษาหลายแห่ง การอพยพ 246 หมู่บ้าน กว่า 1 หมื่นครัวเรือน ผู้อพยพกว่า 3 หมื่นคน โดยเป็นการอพยพเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 13 ต.ค.65 11 ครัวเรือน 52 คน บางรายอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว บางรายอาศัยกับญาติ
ด้านการเกษตร ได้รับผลกระทบ 17 อำเภอ 130 ตำบล 1 พันหมู่บ้าน 4 หมื่นกว่าครัวเรือนคาดว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเบื้องต้น ประมาณ 3 แสนไร่เศษ
ด้านการประมง ได้รับผลกระทบ 14 อำเภอ 56 ตำบล 151 หมู่บ้าน 1,000 ครัวเรือน เบื้องต้น คาดว่าจะได้รับความเสียหาย ประมาณ 800 ไร่
ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 12 อำเภอ 47 ตำบล 258 หมู่บ้าน กว่า 1หมื่นครัวเรือน สัตว์ได้รับผลกระทบกว่า 5 แสนตัว (อพยพสัตว์ ประมาณ 2 หมื่นตัว)
ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) เพิ่มเป็น 18 อำเภอ
น้ำท่วมอุบลราชธานี ปี 2565 ได้ทำสถิติใหม่ มาแรงแซงปี 2562 และยังพบว่าระดับน้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการวิเคราะห์ ของนักวิชาการ เอกชน พร้อมเตือนภาครัฐว่า ความจุของลำน้ำสายหลัก ทิศทาง ระยะเวลาการไหลของน้ำเปลี่ยนไป ด้วยหลายบริบทแวดล้อม
เพราะฉนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งปัจจุบันและในอนาคต บทเรียนเดิมที่เคยเกิดขึ้นอาจล้าหลังไม่ทันสมัย เพราะฉนั้นการบริหารจัดการจึงต้องศึกษาและหาชุดข้อมูลใหม่ให้มากขึ้น เพื่อการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดและมีประสิทธิภาพ ชาวบ้านในพื้นที่น้ำท่วมเดิม จะได้ไม่หวาดวิตก ในฤดูน้ำหลาก
และปัจจุบัน สิ่งที่นักวิชาการเอกชนเตือน มีเค้าลางความเป็นจริง เห็นได้จากชาวบ้านที่ใช้ประสบการชีวิต เป็นบทเรียนในการคาดเดา ว่ายังไงน้ำก็ไม่เท่าปี2562 จนชะล่าใจไม่ขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ สุดท้ายต้องยอมทำใจ เพราะสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาดอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน หลังจากนี้ คงเดินหน้าหาทุนจาการกูหนี้ยืมสิน เพื่อสร้างอาชีพใหม่ เมื่อน้ำลด ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน อย่างที่หน่วยงานรัฐคาดเดา หรือต้นปีหน้าตามที่นักวิชาการเอกชน บอก น้ำท่วมอุบลราชธานี จึงจะกลับสู่สภาวะปกติ
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook https://www.facebook.com/komchadluek/