เอาผิด "พระภิกษุสามเณร" ต้องพำนักอาศัยแค่วัด ยกระดับวงการศาสนา โทษานุโทษ
นับว่าเป็นคำสั่งครั้งที่ 3 มติมหาเถรสมาคม ให้เจ้าคณะปกครองกวดขัน ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปพำนักอาศัย หรือดำเนินการใด ๆสถานที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด
เรื่องนี้ ดูแล้วไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร เพราะพระภิกษุนั้น เมื่อได้รับการอุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์ จะต้องบอกนิสัย หรือปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตมี 4 อย่าง คือเที่ยวบิณฑบาตร 1 ห่มผ้าบังสุกุล(รวมผ้าที่เป็นอติเรกลาภ) 1 อยู่โคนต้นไม้ (รุกขมูล และที่อยู่ที่เป็นอติเรกลาภ) 1 และฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (รวมทั้งเภสัชที่เป็นอติเรกลาภ) 1
เรียกสั้นๆ ว่า จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช
เมื่อนิสสัย 4 บอกให้อยู่ตามโคนต้นไม้ได้ แต่ มส.กลับมีคำสั่งไม่ให้ภิกษุ สามเณรพักในที่ที่ไม่ใช่วัด
เรื่องอย่างนี้ ต้องมีเฉลย ผมจึงกราบเรียนถามกรรมการมหาเถรสมาคมท่านหนึ่ง ท่านให้ความเห็น แต่ไม่อนุญาตให้ออกชื่อ
ท่านบอกว่า เท่าที่ทราบเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ คำสั่งมีมาก่อนอย่างน้อย 2 ฉบับ แต่พฤติกรรมของ ภิกษุสามเณร บางรูป บางกลุ่มไม่เปลี่ยน เช่นไปพักอาศัยในที่ไม่เหมาะสม ด้วยหวังจะได้อติเรกลาภเกินวินัย หรือกฏข้อบังคับกำหนด ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และเอือมระอาแก่ผู้พบเห็น ทำให้เกิดเสื่อมศรัทธา หรือทำลายพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว จึงต้องนำประกาศและคำสั่งอันเป็นของเก่ามาปัดฝุ่น
คำสั่งห้ามฉบับแรก เป็นประกาศของสังฆนายก พ.ศ. 2505 เมื่อคณะสงฆ์ยังปกครองตาม พ.ร.บ.สงฆ์ 2484
คำสั่งมีเนื้อหาว่า ห้ามภิกษุสงฆ์ สามเณร เข้าไปเกี่ยวข้องกับวัด หรือสำนักสงฆ์ ที่สร้างไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะมีพระภิกษุไปสร้างวัดในที่ของตนบ้าง ในที่สาธารณะบ้าง โดยไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการละเมิด กฎหมายบ้านเมือง และ พ.ร.บ.สงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่พระราชอาณาจักรและคณะสงฆ์ จึงประกาศห้ามไม่ให้ไปเกี่ยวข้องทั้งจัดการ หรือเป็นที่ปรึกษา หรือเข้าไปพำนักพักแรมที่นั่น
ให้พระคณาธิการ หรือผู้ปกครองท้องถิ่นนั้น เข้าไปจัดการ แล้วรายงานถึงกรรมการสงฆ์อำเภอ
หากยังฝ่าฝืนให้ลงโทษตามควรแก่กรณี
หากเอาไม่อยู่ต้องขออารักจากส่วนราชการแล้วให้รายงานถึงสังมนตรีว่าการองค์การปกครอง
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2521 มหาเถรสมาคม มีคำสั่งห้ามภิกษุ สามเณร เที่ยวเตร็ดเตร่และพักแรมตามบ้านเรือน
คำสั่งนี้ออกตาม พรบ.สงฆ์ 2505 มีใจความว่า ห้ามภิกษุสามเณร เตร็ดเตร่ไปในที่ต่างๆ โดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และห้ามค้างแรมตามบ้านเรือนติดต่อกันเกินสมควร โดยไม่จำเป็น
ถ้าฝ่าฝืน ให้ตรวจดู ถ้าผู้ที่ถือหนังสือสุทธิถูกต้อง ให้เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะท้องถิ่นแนะนำให้ภิกษุ สามเณรนั้นกลับสู่สำนักเดิม
ส่วนผู้ที่ถือสุทธิปลอมให้จับสึก ส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย จากนั้นรายงานให้ มส. ทราบ
ส่วนพระสังฆาธิการละเลย ในกรณีดังกล่าวให้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ คือต้องถูกลงโทษ ตามโทษานุโทษ
ผู้เขียนก็หวังว่า เมื่อคำสั่ง หรือประกาศ ถูกปัดฝุ่นแล้ว การพระพุทธศาสนาคงสะอาดขึ้น
เรื่อง : เปรียญ12