รัชกาลที่1 โปรดเกล้าฯ ให้ปลด สมเด็จสังฆราช ที่ พระเจ้าตาก ทรงตั้ง
เหตุในต้นแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ปลด สมเด็จสังราช ที่พระเจ้าตาก ทรงเคยแต่งตั้ง เหตุกราบไหว้ฆราวาส
พระมหากษัตริย์ ทรงพระราชอำนาจในการสถาปนาหรือถอดถอนสมเด็จพระสังฆราชมาแต่โบราณกาล เช่น สมเด็จพระเจ้าตากสิน และ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่างก็ทรงปลด สมเด็จพระสังฆราช ในรัชกาลของพระองค์มาแล้ว
ส่วนเรื่องที่เล่าวันนี้ จะเล่าเรื่อง สมเด็จพระวันรัต องค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไปเกี่ยวข้องกับตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ด้วย เพราะสมเด็จพระวันรัต หรือพระพนรัตน์องค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ถูกพระมหากษัตริย์ปลดจากสมเด็จพระสังฆราช นั่นเอง
สมเด็จพระวันรัต วันนี้ คือพระพนรัตน์ สมัยก่อน
และพระพนรัตน์ องค์แรกที่จะเล่านี้ เคยเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่รัชกาลที่ 1ทรงปลดออก แล้วตั้งให้เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) ว่าที่ พระพนรัตน์ รองสมเด็จพระสังฆราช ที่ไม่ให้ลาสิกขา แต่ลดมาหนึ่งตำแหน่งเพราะเป็นผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎก ควรรักษาไว้
อดีตสมเด็จพระสังฆราช(ชื่น) จึงเป็นพระพนรัตน์ องค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์
ตามประวัตินั้น ท่านเกิดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อพ.ศ. 2272 มีชื่อเดิมว่าชื่น เมื่อรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ท่านยังหนุ่มมีอายุเพียง 52 ปี
ก่อนมาอยู่กรุงธน เคยดำรงตำแหน่งพระธรรมธีรราชมหามุนี ตำแหน่งสังฆราชเมืองแกลง มาก่อน ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินนิมนต์ให้มาครองวัดหงษ์ ทรงตั้งให้เป็นพระโพธิวงศ์
การที่มาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพราะถวายพรถูกพระราชหฤาทัยสมเด็จพระเจ้าตาก เรื่องนี้เกิดในช่วงสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมีพระสัญญาณวิปลาสทรงเข้าใจว่าพระองค์บรรลุโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล จึงถามพระผู้ใหญ่ ที่มีสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆัง)เป็นประธานว่า พระสงฆ์ จะไหว้อริยบุคคลที่เป็นฆราวาสได้ หรือไม่
ในเรื่องนี้พระสงฆ์มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งที่มี สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นผู้นำ ว่าไม่ได้ เพราะอย่างไรเสีย ฆราวาส ถึงจะบรรลุธรรม เป็นโสดาบัน เป็นอริยบุคคล แต่อยู่ในเพศที่ต่ำ มีศีลน้อยเทียบกับพระภิกษุสงฆ์ ที่มีเพศสูง เพราะมีศีลมากกว่า
พระเถระที่เห็นด้วยกับสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้แก่พระพุทธาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทร์)และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม(วัดโพธิ์)
ความเห็นทั้ง 3 รูปนั้น ไม่ถูกพระราชหฤาทัย สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงถูกลงโทษ คือถูกถอดจากสมณศักดิ์ และถูกทำโทษ โดยถูกเฆี่ยนตี และให้ขนของโสโครกในวัดหงษ์ เป็นต้น
ในขณะที่พระเถระอีกส่วนหนึ่ง นำโดยพระโพธิวงศ์ (ชื่น) วัดหงษ์ พระรัตนมุนี(แก้ว) วัดหงษ์ พระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆัง) ได้ถวายพระพรว่า พระสงฆ์ไหว้พระอริยบุคลลที่เป็นฆราวาสได้
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงโปรดคำถวายพระพร นี้ จึงโปรดอวยศ อวยตำแหน่งให้ โดยสถาปนาพระโพธิวงศ์ (ชื่น )วัดหงษ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช แทนสมเด็จสังฆราช (ศรี) ที่ถูกถอด และใหัตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระพนรัตน์ (สมัยพระเจ้าตาก)
ส่วนพระรัตนมุนี(แก้ว)ลาสิกขา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ตำแหน่งพระอาลักษณ์ ผู้แต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา
ครั้นรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์ นอกจากทรงปรับปรุงการปกครองราชอาณาจักรแล้ว มิได้ละเลยพุทธจักร
ทรงยกกรณีพระสงฆ์ที่ถวายบังคม และไม่ถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าตากสินมาเป็นเรื่องด่วน ทรงวินิจฉัยแล้วโปรดให้ถอดยศ ลดตำแหน่งพระสงฆ์ที่ถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าตากทั้งหมด
คือปลดสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี ว่าที่ พระพนรัตน์ (ตำแหน่งพระพนรัตน์ว่างพอดี)
ทรงให้เหตุผลว่า พระทั้งนั้นลุแก่อำนาจภยาคติ เป็นประประมาณ
ส่วนพระที่ไม่ยอมถวายบังคมพระเจ้าตาก รัชกาลที่ 1โปรดให้กลับมารับสมณศักดิ์ และตำแหน่งเดิม ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่(วัดระฆัง) พระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดโพธิ์ ในปัจจุบัน) และพระพุทธาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทร์)
นี่คือที่มาของสมเด็จพระวันรัต หรือพระพนรัตน์องค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อนึ่งบทบาทพระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) ว่าที่พระพนรัตน์ ในสมียรัชดาลที่ 1 ยังมีต่อ เมื่อถวายพระพรรัชกาลที่ 1 ว่า ไม่ควรถวายนิตยภัตแก่ภิกษุสงฆ์ เพราะพระจับเงินทองเป็นอาบัตินิสสัคคีย์ รัชกาลที่ 1 ทรงเห็นชอบ จึงให้ถวาย กัปปิยะจังหัน (สิ่งของ) แก่พระสงฆ์แทน
ต่อมาพระธรรมธีรราชมหามุนีองค์เดิมนั้น นำผ้าส่าน ของพระราชทานเป็นเครื่องยศ ไปขายให้ศุภรัต เป็นเงิน 8 ตำลึง
ความทราบถึงสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) จึงให้ราชบุรุษกราบบังคมทูลในหลวง เมื่อทรงทราบ โปรดให้พระยาพระเสด็จเป็นตระลาการ ชำระคดี สืบสวนได้ความตามฟ้อง ทรงพระพิโรธ จึงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชพิจารณาโทษ สมเด็จพระสังฆราช ให้พระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) ขนทราย 500 ตะกล้า และถอดจากสมณศักดิ์ มาเป็นพระธรรมไตรโลก (ถูกถอดครั้งที่ 2) พร้อมทั้งหลุดตำแหน่งว่าที่พระพนรัตน์ อีกด้วย
ตรงนี้จึงประมาณการว่า พระธรรมธีรราชมหามุนี(ชื่น) ดำรงตำแหน่งว่าที่ พระพนรัตน์ 5 ปี ตั้งแต่ 2325 ถึง 2330
(ความที่พระธรรมธีราชมหามุนี (ชื่น) เป็นพระหนุ่ม ความรู้สูง แม้จะถูกปลดจากตำแหน่งสังฆราช ก็ยังแสดงบทบาทในวงการสงฆ์ไว้มาก แต่เป็นเรื่องไม่ค่อยดี เช่นไม่ให้เกียรติสมเด็จพระสังฆราช ที่สูงวัย บางเรื่องก่อให้เกิดการแตกแยกความคิดทางวินัยเช่นเรื่องกฐินวัดนากและ วัดกลางเป็นต้น จึงมีชื่ออ้างถึงพฤติกรรมบ่อยๆในกฎหมายตรา 3 ดวง หรือกฏพระสงฆ์ฉบับที่ 7 ที่บัญญัติสมัยรัชกาลที่ 1เกือบทั้งฉบับ)
เมื่อรัชกาลที่ 1 โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พระธรรมไตรโลก (ชื่น) ที่ถูกลงโทษ จึงไปขอสมเด็จพระสังฆราช ว่าขอเข้าร่วมด้วย จึงได้เป็นผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราช ในการชำระพระไตรปิฎก โดยเป็นหัวหน้ากองชำระพระปรมัตถปิฎก (สันนิษฐานว่าพระอภิธรรมปิฎก)
พระพนรัตน์ องค์แรก ในกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงจะมีวีรกรรมมาก ถูกปลดถึง 2 ครั้ง แต่เสียดายที่พงศาวดารมิได้บันทึกว่า ท่านถึง มรณภาพเมื่อไร อายุเท่าไร ทั้งๆที่เมื่อรับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช(สมัยสมเด็จพระเจ้าตาก) มีอายุเพียง 52 ปีเท่านั้น
ถึงจะไม่รู้เรื่องส่วนตัวมาก แต่เป็นการเริ่มต้น พระพนรัตน์ หรือสมเด็จพระวันรัตแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีรวมกัน 24 องค์
และองค์ที่ 24 คือสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหารจะออกเมรุวันที่ 1 ธันวาคม 2565