คอลัมนิสต์

ผ่า งบกองทัพ กับคำถาม ทำไม "เรือหลวงสุโขทัย" จม เสื้อชูชีพ ไม่พอ?

ผ่า งบกองทัพ กับคำถาม ทำไม "เรือหลวงสุโขทัย" จม เสื้อชูชีพ ไม่พอ?

22 ธ.ค. 2565

ถอดบทเรียน "เรือหลวงสุโขทัย" เสื้อชูชีพ ไม่พอ? นำมาสู่การตั้งคำถาม งบกองทัพ ปีละกว่า 40,000 ล้าน ทำไมจึงจัดซื้อ เรือดำน้ำ จากจีนได้

"อาหารไม่พอ มันก็ยังอดได้เนอะท่านเนอะ แต่ความปลอดภัยกลางทะเล ชูชีพไม่พอ จะให้ผู้ปกครองมีความหวังสักเท่าไร" เสียงสะท้อนจากแม่ ที่รอคอยความหวังว่า ลูกชายที่สูญหายอยู่กลางทะเล จากโศกนาฎกรรม "เรือหลวงสุโขทัย" อับปาง กลางทะเลอ่าวไทย จะกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย ภายหลังฟังการแถลงจาก ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ที่ยอมรับว่า เสื้อชูชีพมีไม่พอ แต่อย่ามองว่า คนไม่มีชูชีพจะสูญเสียชีวิตทั้งหมด

 

ประเด็นคำถามเรื่องเสื้อชูชีพ กับคำแถลงของ ผู้บัญชาการทหารเรือ ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลทันที จน #กองทัพเรือ และ #ที่เกี่ยวข้องกับ เรือหลวงสุโขทัย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ติดต่อกัน

 

ทหารเรือรายหนึ่ง สะท้อนว่า อันที่จริงแล้ว แพชูชีพภายในเรือหลวงสุโขทัย “ไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทั้งหมด” และมีข้อมูลว่า สภาพเสื้อชูชีพบนเรืออื่น ๆ ของกองทัพเรือจำนวนไม่น้อย อยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน รวมทั้งทหารเกณฑ์บางส่วน ว่ายน้ำไม่เป็น

 

เสื้อชูชีพแม้จะไม่ทำให้รอดชีวิตแต่มีแล้วปลอดภัยสูงกว่า

 

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า ถ้ามีชูชีพ จะลอยตัว และมีโอกาสรอดชีวิตได้สูงเกิน 54 ชั่วโมง แต่ถ้าไม่มีชูชีพ จะลอยตัวได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และ 17 ชั่วโมง ในกรณีร่างกายฟิตมาก ๆ หากเสียพลังงานในการพยุงตัว อาจอยู่ได้แค่ 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น การมีเสื้อชูชีพ ความปลอดภัยสูงกว่า ไม่มีเสื้อชูชีพมาก

 

เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

ทำไมเสื้อชูชีพไม่พอ

 

ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ชี้แจงว่า เรือรบปกติจะมีเสื้อชูชีพอยู่เป็นของประจำกำลังพล กับเสื้อชูชีพสำรอง เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย และโยนเสื้อชูชีพให้กับผู้ประสบภัย นอกจากนี้ เรือรบยังมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่น ๆ อาทิ แพชูชีพ ห่วงยาง หรือลูกยางกันกระแทกที่ติดอยู่กับเรือเล็กของเรือ

 

เรือหลวงสุโขทัยทราบปัญหานี้ดี เพราะว่ามีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับกำลังพลที่มาเพิ่มเติมจำนวน 30 คน ก็ได้พยายามที่จะนำอุปกรณ์ และสิ่งที่สามารถช่วยชีวิตได้ มาให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพ

 

ผ่างบประมาณกองทัพเรือ 

 

งบประมาณปี 2565 ของกองทัพเรือ ตามเอกสารรายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของรัฐสภา ชี้ว่า กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 41,307 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.32% ของกระทรวงกลาโหม 

 

เอกสารบันทึกข้อความรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 (31 มี.ค. 2565) ลงนามโดย พล.ร.ท.ณพ พรรณเชษฐ์ ปลัดบัญชีทหารเรือ (ปช.ทร.) ทำการแทน ผบ.ทร. พบว่า งบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลงแล้ว รวมทั้งสิ้น 32,443 ล้านบาท โดยรวมการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้ว 20,904 ล้านบาท หรือ 64.43% ของงบประมาณ โดยแบ่งรายจ่ายเป็นแผนงานต่าง ๆ คือ บุคลากรภาครัฐ แผนงานพื้นฐาน แผนงานยุทธศาสตร์ และแผนงานบูรณาการ

 

ส่วนในปีงบประมาณปี 2566 กองทัพเรือ ได้รับงบประมาณจำนวน 40,322 ล้านบาท แต่ที่น่าจับตา และเป็นที่เรียกร้องของสาธารณชนอยู่เสมอคืองบซื้ออาวุธ ซึ่งในปี 2566 แต่ละเหล่าทัพจะมีงบเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ ดังนี้

 

  • กองทัพบก 5.1 พันล้านบาท
  • กองทัพเรือ 3.5 พันล้านบาท
  • กองทัพอากาศ 3.3 พันล้านบาท

 

เรือหลวงสุโขทัย

 

เรือดำน้ำจำเป็นหรือไม่

 

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ติดตามการใช้งบประมาณของกองทัพ ในฐานะกรรมาธิการทหาร เคยระบุว่า หลายปีที่ผ่านมา ในการจัดทำงบประมาณ กองทัพเรือจัดสรรงบจำนวนมาก เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ , โครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนเรือดำน้ำ และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ จนต้องลดงบประมาณในส่วนอื่น ๆ ลง
 

นอกจากนี้ ในส่วนของงบประมาณซ่อมบำรุง และส่งกำลังบำรุง พบว่า การเบิกจ่ายล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ทั้งปีงบประมาณ 2563-2564 แต่กลับมีการโอนเปลี่ยนแปลงงบ ไปซื้อยุทโธปกรณ์อื่นที่ไม่ได้ของบผ่านสภาฯ เช่น ยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก, ยานเกราะ 4 ล้อ เป็นต้น


เรือหลวงสุโขทัยอับปาง

 

นอกจากประเด็นเรื่องเสื้อชูชีพแล้ว สังคมยังตั้งคำถามถึงพฤติการณ์การอับปางของเรือหลวงสุโขทัย ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบของกองทัพหรือไม่ ขนาดเพียงเสื้อชูชีพ ยังมีไม่พอ หรือคุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน แต่งบถูกนำไปซืัอเรือดำน้ำถึง 4 ลำ แล้วยิ่งหากเรือดำน้ำเข้าประจำการสมดังหมาย งบประมาณในการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ จะเพียงพออย่างไร 

 

สุดท้าย บทเรียนครั้งนี้ เป็นเพราะกองทัพเรือ บกพร่อง ที่ดูแลรักษาเรือ และกำลังพลไม่ดีพอ หรือ งบไม่ถึงกันแน่