ถอดบทเรียนคดี 'แอม ไซยาไนด์' ชันสูตรศพ ช่องโหว่ กฎหมาย?
ถอดบทเรียนคดี 'แอม ไซยาไนด์' ชันสูตรศพ ช่องโหว่ กฎหมาย? ถึงเวลาขับเคลื่อน การปฏิรูประบบนิติเวช อย่างจริงจัง แล้วหรือยัง
ตาย 14 รอด 1 กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญ เข้าข่าย “ฆาตกรต่อเนื่อง” ก่อเหตุโดยหญิงสาวที่ชื่อ “แอม” โดยพบเหยื่อหลายคน ตายด้วยสาร “ไซยาไนด์” ซึ่งเป็นสารพิษอันตราย แต่ตัวเลขของเหยื่อผู้เสียชีวิต คาดว่า จะยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เมื่อพบว่า ยังมีเหยื่อ ที่มีลักษณะการตายคล้ายกัน ผุดขึ้นอีกหลายราย
การตายของ “ก้อย เท้าแชร์” ไม่ใช่ศพแรก ที่เกิดจากการประทุษกรรมของ “ก้อย ไซยาไนด์” แต่เรียกได้ว่า เป็นเหยื่อรายแรก ที่ทำให้ญาติของเหยื่ออีกหลายคน เกิดความสงสัย ฉุกคิด จนเป็นที่มาให้เจอเหยื่อเพิ่มอีกหลายคน ซึ่งก็พบว่า เหยื่อหลายคน เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2563 นั่นหมายความว่า ถ้าไม่มีข่าวการตายของ ก้อย เท้าแชร์ ก็คงไม่มีใครเอะใจ สงสัยอะไร
หากไล่เรียงไทม์ไลน์ การตายของ ก้อย เท้าแชร์ ก็พบว่า เป็นเหยื่อรายที่ 14 ไม่ใช่รายแรก นอกจากการตั้งคำถามถึงช่องโหว่ ของการนำเข้าสารไซยาไนด์แล้ว ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การตายของเหยื่อรายก่อนหน้า ที่ไม่พบความผิดปกติ จึงไม่ได้มีการชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต อาจกลายเป็นอีกหนึ่งช่องโหว่ การชันสูตรศพในประเทศไทย
“ชันสูตรศพ” ช่องโหว่กฎหมาย?
พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า หมอส่วนใหญ่จะมองว่า ศพคดีต้องมีบาดแผลเท่านั้น แต่คงลืมเรื่องพิษ เมื่อญาติแจ้งการตาย หากหมอไม่ใช่หมอนิติเวช ก็จะดูแนวทางของตำรวจและญาติ หากไม่พบบาดแผล และไม่ติดใจ ก็จะไม่ส่งศพไปชันสูตร เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แต่หากยังมีข้อสงสัย ขณะเดียวกัน เมื่อส่งศพไปตรวจต่อที่โรงพยาบาลอื่น ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลนั้น จะเห็นว่าปัญหาใหญ่คือเจ้าภาพ ที่จะดูแลรับผิดชอบระบบ การกำหนดมาตรฐานกลาง
ดังนั้น หากญาติไม่ติดใจการตาย และพนักงานสอบสวนเห็นด้วยกับญาติ ก็จะไม่มีการส่งผ่าพิสูจน์ โดยแพทย์จะทำความเห็นเบื้องต้น เขียนใบรายงานชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ และออกหนังสือรับรองการตาย เพื่อให้ญาตินำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งจะระบุเหตุผลการเสียชีวิตกว้างๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือหัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีร่องรอยบาดแผล ถูกทำร้าย หรือฆ่าตัวตาย
“การแจ้งตาย” เรื่องใหญ่กว่า “การตาย”
ข้อมูลจาก รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า การแจ้งตายแบ่งเป็น ตายตามธรรมชาติ หรือตายผิดธรรมชาติ ดังนั้น ประเด็นเรื่อง “การแจ้งตาย” กลายเป็นเรื่องใหญ่กว่า “การตาย”
- การตายตามธรรมชาติ (Natural death) ส่วนใหญ่ก็คือ ตายแบบที่เรารู้จักกันดี คือเจ็บป่วยแล้วเสียชีวิต ซึ่งการตายประเภทนี้ แพทย์ที่ให้การรักษามักทราบดีแล้วว่า อะไรเป็นสาเหตุทางการแพทย์ที่ทำให้ถึงแก่ความตาย จึงมักจบลงด้วยการหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) เท่านั้น
- การตายผิดธรรมชาติ (Unnatural death) อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่
- การฆ่าตัวตาย
- ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
- สัตว์ทำร้าย
- ตายด้วยอุบัติเหตุ
- ตายโดยไม่ปรากฎเหตุ
ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมีการชันสูตรศพ เพื่อระบุสาเหตุของการตายที่แน่นอนลงไป ซึ่งหากเป็นได้ ควรให้ "แพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวชศาสตร์" ที่ได้รับอนุมัติ หรือวุฒิบัตรจากแพทยสภา เป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ยกเว้นหาแพทย์นิติเวชไม่ได้จริงๆ
รศ.ดร.เมธี กล่าวว่า ส่วนประเด็น “หนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1)” ที่มักมีการกล่าวหาว่า ทำไมหลายครั้ง สาเหตุการตาย ที่แพทย์ระบุ จึงไม่ตรงกับใบชันสูตรพลิกศพ ที่ออกมาภายหลัง และมีเวลาไม่จำกัดในการออกผล เป็นเพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจ้งตายภายใน 24 ชม. และต้องระบุด้วยว่า ตายเพราะอะไร จึงทำให้หลายครั้ง แพทย์ถูกบีบให้ต้องรีบออกเอกสาร ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แม้ผู้ป่วยจะอยู่ภายใต้การดูแลก็ตาม
“เช่นกรณีที่เสียชีวิตกะทันหันระหว่างการรักษา ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ซึ่งหากญาติไม่ติดใจก็แล้วไป แต่หากญาติติดใจ และเรียกร้องให้มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งความจริงที่ได้จากการชันสูตรพลิกศพนั้น มีเวลาไม่จำกัดในการหาความจริง อาจไม่ตรงกับหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) ซึ่งแพทย์เป็นผู้ออกให้ในเบื้องต้น นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับคนที่มีความรู้ความเข้าใจตามที่ได้กล่าวมา“
แต่สำหรับญาติที่มีความเคลือบแคลงระแวงสงสัยแต่ต้น ก็มักเข้าใจผิดว่า แพทย์เจตนาปกปิดความจริง เพราะตนเองให้การรักษาผิด ส่วนแพทย์เองก็ต้องระมัดระวังในการกรอกเอกสาร ท.ร. 4/1 โดยต้องยึดหลักการว่า ต้องกรอกข้อมูลเพื่อสื่อสารออกไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า อะไรคือ “สาเหตุทางพยาธิ หรือทางการแพทย์ (Underlying causes of deaths)” ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เช่น ตายเพราะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ตายเพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน แพทย์ก็จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวถึง “พฤติการณ์แห่งการตาย” เช่น ตายจากการถูกผู้อื่นทำร้าย ตายจากการทำร้ายตนเอง ตายจากการเกิดอุบัติเหตุ ตายจากการตกบันได เพราะแพทย์เองมักไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ จึงไม่อาจไปสรุปได้เองว่า “พฤติการณ์แห่งการตายที่แท้จริง คืออะไร”
ยิ่งหากแม้แต่แพทย์เองก็ยังสงสัยว่าผู้ป่วยตายจากอะไรกันแน่ หรือ มิได้รักษาผู้ป่วยเองมาแต่ต้น จนไม่แน่ใจหรือพอจะทราบตื้นลึกหนาบาง แพทย์ยิ่งต้องระมัดระวังในการออกเอกสาร ท.ร. 4/1 หรือจะดียิ่งขึ้น คือ แพทย์เป็นผู้ร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพเอง มิฉะนั้นแล้วแพทย์อาจตกเป็นผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยเองได้ ว่ามีเจตนาออกใบรับรองการตายอันเป็นเท็จ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้มีการเขียนแผนปฎิรูปนิติเวช โดยกรรมการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมไว้แล้ว แต่ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาขับเคลื่อนแต่อย่างใด ซึ่งจากกรณีล่าสุดกับเรื่องของ “แอม ไซยาไนด์” กระตุกให้กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการปรับแนวทางในการชันสูตรพลิกศพ โดยให้แพทย์ทำการผ่าชันสูตรทุกศพ ที่ไม่สามารถระบุถึงการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ และไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความชัดเจน และนำไปสู่การป้องกันเหตุ หรือสืบหาต้นตอของการเสียชีวิต