หวานอมขมกลืน
เชื่อว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์เรื่องราวในชีวิตประจำวันที่กล่าวไว้ว่า หวานอมขมกลืน เช่นนี้ ไม่มากก็น้อย และคงจะทราบดีว่าเป็นเช่นไร มันพะอืดพะอมสิ้นดี ถ้าความหวานหมายถึงความดีงามและเป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถทำให้ความหวานไปผ่อนคลายหรือบรรเทาความหิวกระหายได้คง
ในขณะเดียวกันถ้าความขมคือสัญลักษณ์ที่แทนความเลวร้ายที่เจ็บปวด แต่เราต้องกินต้องเสพจนเข้าไปกระจายไปทุกเส้นเลือดน้อยใหญ่ของร่างกาย คงจะคิดว่า สักวันหนึ่งมันคงจะไปในร่างกายและจิตวิญญาณทั้งระบบและจะต้องมีชีวิตอยู่เช่นนั้นได้ตลอดกาล
อารมณ์ความรู้สึกของคนในประเทศเราเช่นนี้คงจะมีไม่น้อย เช่นเดียวกับการมีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันหรืออาจจะคล้ายๆ เหมือนๆ กัน ในสถานการณ์ความขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราหลายๆ คน หลายครั้งเรื่องเล็กๆ ประเภทที่เรียกว่า ขี้หมูราขี้หมาแห้ง จำเป็นต้องค่อยๆ สั่งสมและพัฒนาตัวเองกลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลาย นำไปสู่ความไม่สงบระดับชาติ หรือระดับโลก จนในที่สุดต้องใช้อาวุธร้ายแรงประหัตประหารกันและกัน เพื่อหาคำตอบสุดท้ายที่แต่ละฝ่ายมีอยู่แล้ว ดังกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลายคนพูดมานานนับศตวรรษแล้วว่า ปัญหาความขัดแย้งที่นั่นส่วนสำคัญที่สุดคือ ความไม่ยุติธรรม ความไม่เสมอภาคกัน การดูถูกดูแคลน การเหยียดหยามคนต่างชาติพันธุ์ การจ้องทำลายล้างเผ่าพันธุ์คนที่มีวิถีที่ต่างกัน การไม่ยอมรับความแตกต่างกันและกัน ที่สำคัญคือ ความไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นตัวตนของคนอื่นที่ไม่เหมือนตน
ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เป็นเรื่องเล็กที่สามารถปัดเป่าได้อย่างง่ายดาย หากเราต่างเปิดหูเปิดตาและเปิดใจให้กว้างอีกสักคนละนิด (ละและลดทิฐิของความเป็นอัตตาบ้าง) เดินดูเพื่อนบ้านเรือนเคียงเขาทำกันอย่างไร ยอมรับความจริงว่า แต่ละคนแต่ละเผ่าพันธุ์ต่างมีที่มา มีรากเหง้าและมีความภูมิอกภูมิใจในความเป็นมาที่เป็นอยู่ไม่เหมือนกัน ช่วยกันสร้างองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของรัฐและประเทศที่ถูกต้อง (ไม่รักชาติจนตกขอบไปสุดกู่) ประเด็นเหล่านี้ไม่ต้องลงทุนในการแก้ปัญหามากมายเลย แต่ที่ต้องปฏิบัติกันมากๆ คือ การสร้างทุนที่มีอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งหลายให้เข้าใจในองค์ความรู้เหล่านี้ให้จริงจังคือ ทางออกในการแก้ปัญหากันได้ ปัญหาขี้หมูราขี้หมาแห้งทั้งหลายคงจะผ่านเขตแดนที่ไกลโพ้นมานานนับทศวรรษไปแล้ว จนยุคนี้แล้วแต่ละฝ่ายยังดักดานย่ำอยู่กับที่ ยังไม่สามารถทำนายอนาคตของตนเองว่า อีกห้าปีสิบปีหรืออีกกี่ร้อยปีความสงบสันติสุขอย่างถาวรจะสัมผัสลิ้มรสชาติได้บ้าง
ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังคงอยู่และดูจะยิ่งแผ่ซ่านกว้างออกไปมากขึ้นเช่นทุกวันนี้ เรื่องราวที่พูดกันมากคือ การคงอยู่และทัศนคติที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากมายของกลไกรัฐและพลเมืองไทยในพื้นที่ส่วนหนึ่ง (คงไม่มากมายหรอก) ที่ยังมีมุมมองการแยกพวก แยกสี แยกพันธุ์ โดยไม่พยายามรับรู้และทำความเข้าใจว่า การพัฒนาการทางการเมืองโลกในปัจจุบันมันมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างเอกภาพบนความแตกต่างที่หลากหลาย มากกว่าการสร้างเอกภาพและสั่งสมความเข้มแข็งบนความเป็นหนึ่งเดียว นี่คือรสชาติของความหวานส่วนหนึ่ง
กล่าวกันว่าเป็นความดีงามที่มีประโยชน์และเป็นทุนสำคัญทางสังคมคือการเคารพศักดิ์ศรีบนความหลากหลายของวิถีที่ต่างกันในความเป็นพลเมืองในรัฐชาติเดียวกัน ที่เราต้องหาแนวทางให้มีการเสพสัมผัสได้เป็นรูปธรรมที่แท้จริง มิใช่ต้องพะอืดพะอมไม่สามารถกลืนกินได้ แต่ต่างกันกับแผนงานนโยบายในรสชาติความขมที่พยายามยัดเยียดอัดลงไป เพื่อให้รับ ให้กิน ให้ดื่มด่ำเข้าไปในอณูชีวิตของคนที่นั่น กลับกระทำอย่างจริงจัง สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อจะได้ไม่ต้องนึกคิดหรือให้ลืมเลือนความดีงามที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนานของสังคมที่มีอยู่มากมาย สังคมที่ชายแดนใต้จึงยังอยู่ในสภาวะหวาน(ต้อง)อมขม(ขื่น)ต้องเสพและกลืนกินต่อไปอีกนานกระมัง ?
อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
Thailand Centre for Muslim and Democratic Development (TCMD)
[email protected]